ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ปรากฏการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลานี้ ต้องบอกว่าประชาชนตื่นตัวออกมาเดินขบวนคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยอย่างล้นหลาม โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ไม่ยอมให้เสียงข้างมากที่เป็น “สภาทาส” ผ่าน “กฎหมายล้างผิดคนโกง”
พลังมวลชนเหล่านี้ต่างยึดหลักทำในสิ่งที่ถูกต้อง คนผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะทุจริตแล้วเดินหน้าร่างกฎหมายขึ้นมาล้างผิด ราวกับว่า เรื่องเลวร้ายที่ตัวเองได้ก่อไว้ ไม่เคยเกิดขึ้นเลย เป็นเรื่องหน้าด้านเกินจะรับไหว
ความหลงระเริงอำนาจ ที่คิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งถูกสั่นคลอนด้วยเสียงกึกก้องของประชาชน แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ รวบรัดตัดตอน แต่ประชาชนชาวไทยก็ยังคงเดินหน้าต่อสู้เต็มที่
แรงกดดันที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีความกล้าหาญ กล้าที่จะต่อสู้กับ “ความอยุติธรรม” เป็นห่วงประเทศชาติในภายภาคหน้าที่จะมีคนชั่วออกมาเดินลอยหน้าลอยตา ไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด
มาวันนี้ ธาตุแท้ของคนที่บอกว่าทำเพื่อประชาชน แท้จริงแล้วก็เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ สั่งการให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรีบเดินหน้าผลักดันกฎหมายล้างผิดสุดลิ่มทิ่มประตู ใช้ระบบพวกมากลากไป ไม่สนใจว่าใครจะว่าเป็นขี้ข้า หรือทำเพื่อคนคนเดียว ทำการรุกฆาตโหวต 2 วาระรวดเดียวเสร็จกิจตอน 4.25 น.
นี่หรือ คือประชาธิปไตยที่คนเสื้อแดงเชิดชู ?
นี่หรือ คือความปรองดองที่นช.ทักษิณ บอกว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ?
การลุกฮืออย่างไม่ยอมจำนนในครั้งนี้ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่จักต้องบันทึกเอาไว้ เพราะยิ่งใหญ่ไม่แพ้เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งไหน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หรือแม้แต่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549
พร้อมเพรียงในทุกองคาพยพของสังคม
สำหรับกลุ่มสถาบันการศึกษาที่แสดงตัวร่วมคัดค้านนิรโทษกรรมสุดซอยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น มีดังต่อไปนี้คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา ฯลฯ
ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนได้แบ่งเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน ภายใต้ชื่อดังต่อไปนี้
เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฎิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งมีนายอุทัย ยอดมณี เป็นผู้ประสานงาน ปักหลักชุมนุมอยู่ที่แยกอุรุพงษ์ จากนั้นก็เคลื่อนขบวน ไปที่สะพานมัฆวานรังสรรค์
กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) มีพล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เป็นเสนาธิการร่วมกองทัพ และกองทัพธรรม มูลนิธิสันติอโศก โดยมีร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นผู้ประสานงานกองทัพธรรม เคลื่อนขบวนจากสวนลุมพินีมาสมทบที่แยกอุรุพงษ์และปักหลักเปิดพื้นที่ชุมนุมใหม่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน
กลุ่มชุมนุมเวทีสามเสน นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป่านกหวีด นำมวลชนเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่ถ.ราชดำเนิน
เครือข่ายสมาชิกรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ซึ่งมีนายคมสัน ทองศิริ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ออกแถลงการณ์เห็นชอบคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และแต่ละรัฐวิสาหกิจได้เชิญชวนพนักงานพร้อมใจกันนัดหยุดงาน เพื่อร่วมชุมนุมในครั้งนี้ ที่แยกอุรุพงษ์
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครือข่ายนักธุรกิจสีลมเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน (สสร.) กลุ่มแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และชมรมแพทย์ชนบท ได้รวมตัวกันต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีการแสดงออกทางการเมืองโดยขึ้นป้ายคัดค้านหน้าโรงพยาบาล และร่วมลงชื่อต่อต้าน ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจน
จะว่าไปแล้ว หลายกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมก็นับว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว การสนใจความเป็นไปทางด้านการเมืองมีมากขึ้น จากที่เคยเป็นไทยเฉยก็กลายเป็นเกาะกระแสร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์ค มีการลงชื่อร่วมคัดค้านกฎหมายดังกล่าว โดยเป็นการรณรงค์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในเว็บไซต์ Change.org หัวข้อ “ขอล้านชื่อหยุดกฎหมายล้างผิดคนโกง” ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงรายชื่อแล้ว 573,762 คน
อีกทั้งความน่าสนใจที่ฮอตฮิตอีกอย่างก็คือ การเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสัญลักษณ์ป้ายจราจรสีดำ โดยมีข้อความว่า “คัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม” อันเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน
สำหรับดารา นักร้อง นักแสดงที่แสดงจุดยืนทางการเมืองไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมสุดซอย ก็ทำการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ และโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมกันมากมาย อาทิเช่น แตงโม-ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์, โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์, โมเม-นภัสสร บุรณศิริ ,ไผ่-พาทิศ พิสิฐกุล, ตุ๊กกี้-สุดารัตน์ บุตรพรม, ซันนี่-สุวรรณเมธานนท์, บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ, เดือน-ไปรมา รัชตะ, พิม-พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร, ดี้-ชนานา นุตาคม ฯลฯ
ช่องทางสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คนี้ ล้วนมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความของดารา นักร้อง นักแสดง หรือบุคคลสาธารณะล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
ความน่าสนใจกับการออกมาแสดงบทบาทร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า มันชักอดรนทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว งานจะมีเข้าหรือไม่เข้า โฆษณาจะน้อยลง เพื่อนร่วมงานจะมองภาพลักษณ์ว่าจะอยู่เสื้อสีไหน ก็ไม่สำคัญเท่ากับการออกมาร่วมชุมนุมกอบกู้ชาติบ้านเมืองบนท้องถนน
การเดินขบวนต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในห้วงเวลานี้ มีบรรยากาศคล้ายๆ กับประวัติศาสตร์การออกมาขับไล่ “นช.ทักษิณ” นักโทษหนีคดีที่เป็นคนไทย แต่ไม่มีแผ่นดินไทยให้อยู่ มิผิดเพี้ยน หรือว่า ชะตากรรมของน้องสาวจะเดินตามรอยผู้เป็นพี่ชาย ?