xs
xsm
sm
md
lg

จำนวนคุกเพิ่มขึ้น : จำนวนคนที่มีศีลธรรมลดลง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวที่ฟังแล้วรู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง ข่าวที่ว่านี้ก็คือ ข่าวการสร้างคุก 3 แห่ง โดยใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และ 1 ใน 3 แห่งนี้จะเป็นคุกทันสมัย มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเพื่อป้องกันมิให้นักโทษคดียาเสพติดติดต่อกับเครือข่ายค้ายาเสพติดนอกคุก ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

จากข่าวนี้ใครได้ยินแล้ว และนำไปคิดรับรองได้ว่ารู้สึกหดหู่ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. คุกหรือเรือนจำ ซึ่งมีไว้เพื่อคุมขังผู้กระทำผิดคดีอาญาก็คือ ผู้กระทำผิดศีลธรรม เพราะก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

ดังนั้น การสร้างคุกเพิ่มเพื่อรองรับจำนวนนักโทษเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับยอมรับว่าคนทำผิดศีลธรรมเพิ่มขึ้น และเท่ากับศีลธรรมเสื่อมลงนั่นเอง

2. งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่นำไปใช้ในการสร้างคุก แต่ไม่ใช้มาตรการลดจำนวนผู้กระทำผิดลง ก็จะนำไปใช้ในการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลหรืองานส่วนอื่นที่จำเป็น ซึ่งมีประโยชน์มากกว่า และกิจการที่ว่านี้ยังขาดแคลนอยู่เป็นอันมาก

3. การแก้ปัญหาคุกหรือเรือนจำไม่เพียงพอที่จะคุมขัง เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ในทางที่ถูกและควรทำคือการลดจำนวนผู้เสพยาลง และถ้าผู้เสพลดลง ผู้ขาย ผู้ผลิตก็จะค่อยๆ ลดจำนวนการผลิต การขายลง และในที่สุดเมื่อผู้เสพหมดไป การขายและการผลิตก็จะหมดไปโดยปริยาย

จริงอยู่การทำให้ผู้เสพหมดไปเป็นเรื่องยาก แต่จะต้องทำจนสุดความสามารถโดยไม่เพิกเฉย และมีประโยชน์ทับซ้อน เชื่อได้ว่าจำนวนผู้เสพลดลงแน่นอน และเมื่อผู้เสพลดการขาย การผลิตก็จะลดลงตามส่วน ถ้าทำได้เช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีการสร้างคุกเพิ่มแต่ประการใด อย่างมากก็แค่ปรับปรุงเครื่องมือในการป้องกันการค้าขายโดยการผ่านเครือข่ายก็เพียงพอแล้ว

ส่วนประเด็นว่าจะลดจำนวนผู้เสพลงได้อย่างไรนั้น จะต้องเข้าไปดูมูลเหตุจูงใจให้คนติดยาซึ่งพอจะอนุมานได้ดังนี้

1. หนีปัญหาชีวิต หลายต่อหลายคนติดสิ่งเสพติด เนื่องจากประสบปัญหา เช่น ผิดหวังจากคนรักหรือคนในครอบครัว และหันเข้าหาสิ่งเสพติดเพื่อกลบปัญหาหรือหนีปัญหา ครั้นเสพนานเข้าก็กลายเป็นทาสสิ่งเสพติด

2. อยากลอง มีผู้ติดสิ่งเสพติดให้โทษจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัยรุ่นครั้นลองหลายครั้งก็กลายเป็นทาสสิ่งเสพติด

3. รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถูกเพื่อนชักชวนและขัดเพื่อนไม่ได้ ครั้นเสพบ่อยครั้งก็ตกเป็นทาสสิ่งเสพติด

จากเหตุปัจจัย 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่มีส่วนในการแก้ไข และป้องกันเบื้องต้นโดยไม่ต้องพึ่งกฎหมาย และการแพทย์

ในการแก้ปัญหายาเสพติด ควรจะได้รับความร่วมมือจากบุคคลและองค์กรต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ครอบครัวโดยมีบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เสพยา เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย มีส่วนสำคัญอันดับแรกในการแก้ไข และป้องกันมิให้คนในครอบครัวกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสพสิ่งเสพติดให้โทษ

2. โรงเรียน โดยมีครูผู้สอนซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็ก รองลงมาจากคนในครอบครัวมีส่วนช่วยในการแก้ไข และป้องกันมิให้เด็กกระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยประสานงานกับคนในครอบครัวของเด็ก

3. วัดโดยพระภิกษุซึ่งมีหน้าที่ในการสั่งสอน และอบรมบ่มนิสัยชาวบ้านให้เป็นคนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่อยู่รอบๆ วัด ซึ่งปกติคนเหล่านี้ในยามมีทุกข์ก็เข้าวัดหาที่พึ่งทางใจอยู่แล้ว จึงมิใช่เรื่องยากที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหานี้

4. ผู้รักษากฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจซึ่งเป็นขั้นต้นของกระบวนการยุติธรรม มีหน้าที่ในการปราบปรามการจับกุมผู้กระทำผิด ทำการสอบสวนและดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิดเพื่อให้สำนึกผิด และเลิกละการกระทำผิดเป็นคนดีของสังคม

ถ้าบุคคลทั้ง 4 กลุ่มนี้ ทำหน้าที่ตามที่ควรจะทำ และประสานงานกัน เชื่อได้ว่าจะช่วยให้การกระทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสพ การค้ายา และผลิตยาเสพติดจะลดลงได้ และถ้าทำได้เช่นนี้ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างคุกเพิ่มแต่ประการใด เว้นไว้แต่ว่าการก่อสร้างที่มีวงเงินงบประมาณสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท จะมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นแอบแฝง เช่น ผลประโยชน์ที่จะพึงมีพึงได้จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ว่าในรูปของเงินใต้โต๊ะ กำไรจากการขายวัสดุก่อสร้าง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้าง รวมไปถึงกำไรจากการรับเหมาก่อสร้างหรืออื่นใด นอกจากนี้ เช่นย้ายคุกจากในเมืองออกไป และนำที่ดินมาพัฒนาให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทำกำไรได้จากการทำเช่นนี้ เป็นต้น

อีกนัยหนึ่ง การจัดให้มีคุกเพิ่มโดยที่ไม่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ การลดปัญหาผู้กระทำผิดลงด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจซึ่งสามารถทำได้ โดยเริ่มจากการปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการจ้างงาน เพื่อให้ผู้ที่จบการศึกษาสามารถหางานทำได้ง่าย และมีรายได้พอเลี้ยงชีพไม่เดือดร้อน และในขณะเดียวกัน ก็ปลูกฝังศีลธรรม และจริยธรรม ทั้งในโรงเรียนและสถานประกอบการ ทั้งในภาครัฐและเอกชนโดยให้จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา และเปิดโอกาสให้ข้าราชการ และพนักงานมีส่วนร่วม รวมไปถึงการจัดอบรมในเนื้องานที่ทำตามปกติ แต่ให้สอดแทรกคุณธรรม และจริยธรรมเข้าไปในสัดส่วนที่พอดีไม่ถึงกับฟังเทศน์

ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันให้คนในองค์กรอยู่ดีกินดี และมีคุณธรรม จริยธรรมควบคู่กันไปแล้ว เชื่อว่า การทำผิดกฎหมายและทำผิดศีลธรรม อันเป็นเหตุให้ผู้คนในสังคมเดือดร้อนจะลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้การสร้างคุกเพิ่มก็ไม่จำเป็น

แต่การทำให้คนอยู่ดีกินดี และมีศีลธรรมได้นั้น จะต้องเริ่มจากผู้นำคือรัฐบาลจะต้องทำตนเป็นผู้มีศีลธรรมเป็นแบบอย่างก่อน ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีการทำก็ยากที่จะแก้ปัญหานี้ ยิ่งถ้ารัฐบาลทำผิดศีลธรรมเสียเองก็ป่วยการที่จะไปแก้ไขคนอื่น และการแก้ปัญหาคนล้นคุกด้วยการสร้างคุกเพิ่ม ก็จะต้องทำและสักวันหนึ่งคนที่ผิดแก้ปัญหาด้วยการสร้างคุกเพิ่ม อาจเป็นส่วนหนึ่งของคนในคุกได้ด้วย เพราะจะต้องไม่ลืมว่ากรรมไม่มีอายุความ ทำชั่วไว้ กรรมชั่วก็ให้ผล ในทางกลับกัน ทำดีไว้ กรรมดีก็ให้ผล ถ้าทำทั้งดีและชั่วปะปนกัน กรรมที่เป็นครุกรรมก็จะให้ผลก่อน

ดังนั้น คนที่ได้ดีด้วยผลกรรมดีในอดีต และไม่ทำดีต่อ วันหนึ่งกรรมชั่วก็จะให้ผล
กำลังโหลดความคิดเห็น