xs
xsm
sm
md
lg

เทือกกั๊กสู้ไม่สุดซอย แม้วถีบหัวแดงสั่งโหวตปิดเกม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชุมนุมต้านกฎหมายฟอกผิด"แม้ว"คึก เสียงนกหวีดลั่นสามเสน "เทือก" ปลุกประชาชนต่างจังหวัดชุมนุมที่ศาลากลางไม่ต้องเข้ากรุง ปากบอกเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ยังกั๊กไม่ลาออกจากส.ส. พร้อมสลายชุมนุมหากรัฐบาลยอมถอยกม.นิรโทษฯ ขณะที่เกมในสภา "ขี้ข้า" งัดมุกเก่า ปิดปากฝ่ายค้าน เสนอปิดอภิปราย แล้วใช้พวกมากลากไป "แม้ว" ไม่สนแดง ส่งสัญญาณปิดเกม โหวตวาระ 2-3 วันนี้

เมื่อวานนี้ (31 ต.ค.) เป็นวันที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชุมนุมใหญ่ คัดค้าน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสน เวลา 6 โมงเย็น โดยบรรยากาศก่อนถึงเวลานัดชุมนุม ก็เริ่มมีมวลชนจากพื้นที่ต่างๆ เดินทางมารวมตัวกันมากขึ้น มีการคาดกันว่าจะมีประชาชนมาร่วมชุมนุม ประมาณ 3-5 หมื่นคน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการสั่งปิดการจราจรตลอดสาย หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่แยกเศรษฐศิริ แต่ทางด้านสถานีรถไฟสามเสน ยังคงเปิดให้บริการตามปรกติ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. กล่าวว่า ด้านการข่าวจะมีจำนวนผู้ร่วมชุมนุม 2-3 หมื่นคน โดยเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมจากกทม. เป็นส่วนใหญ่ และพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มในขณะนี้ มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งบริเวณแยกอุรุพงษ์ สวนลุมพินี และสามเสน ซึ่งต้องมีการติดตามสถานการณ์วันต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสามเสน ที่เป็นการเปิดตัวในช่วงแรก และจะขอดูสถานการณ์หลังจากนี้ไปอีก 3 วัน ก่อนจะประเมินอีกครั้ง

ทั้งนี้เราได้มีมาตรการรองรับไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งในส่วนมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยใช้กำลังจากตำรวจนครบาลจำนวน 40 กองร้อย ดูแลบริเวณพื้นที่ชุมนุม โดยมาตรการยังคงเหมือนเดิม จะยังไม่ขยายพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง แต่จะเน้นการรักษาความปลอดภัยในส่วนของทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเดินต่อไปได้

** "เทือก"เดิมพันชีวิตแต่ไม่ลาออกส.ส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับให้สัมภษณ์ก่อนเดินทางไปพบปะผู้ชุมนุมที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสน ว่า การออกกฎหมายล้างผิดในลักษณะที่รัฐบาลนี้กำลังทำ ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน โดยฝ่ายรัฐบาลดื้อด้าน ใช้พวกมาข่มเหง เพราะฉะนั้น วันนี้เป็นหน้าที่ของประชาชนเจ้าของประเทศที่จะลุกขึ้น

อย่างไรก็ตาม เวทีที่พรรคประชาธิปัตย์จัดขึ้นนี้ จะจบตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดได้เลย หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศว่า ยอม และถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากสภา เท่านั้น ตนก็จะกลับบ้าน แต่ถ้าไม่มีการถอน ก็สู้จนกว่าจะถอน ส่วนจะยืดเยื้อหรือไม่ต้องไปถามประชาชน เพราะต่อไปนี้ตนทำงานร่วมกับประชาชนเต็มตัวแล้ว

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า การต่อสู้เพื่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ใครอยู่ที่ไหนในประเทศไทย ก็ทำได้ ไม่ว่าจะ กทม.หรือต่างจังหวัด โดยคนที่อยู่ต่างจังหวัด ก็ไปรวมกับหน้าศาลากลางจังหวัดได้ทุกจังหวัด

" ตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป การต่อสู้จะไม่ใช่แค่เรื่องของประชาธิปัตย์ แต่นับแต่นี้เป็นการต่อสู้ของกระบวนการประชาชน ผมเอง และเพื่อนๆ จากประชาธิปัตย์ จะหลอมหัวใจเข้ากับประชาชนสู้เพื่อประเทศไทย ส่วนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่นั้น ต่อไปนี้ต้องรอดู เพราะผมจะตัดสินใจตามสถานการณ์ อย่างที่บอกสถานการณ์จะจบอย่างไร ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีจิตสำนึกที่ดี รู้ว่าเป็นนายกฯ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไว้ใจ ฉะนั้น ต้องไม่ทำร้ายประชาชน ประกาศถอนกฎหมายออกไปไม่ทำอีกแล้ว การต่อสู้ของพวกผมก็จบ แต่ถ้ายังถือผลประโยชน์ของพี่ชายสำคัญกว่า ทำตัวทรยศต่อประชาชน พวกผมก็ต้องลุกขึ้นจัดการกับนายกฯ” นายสุเทพ กล่าว

เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายเกรงว่า การออกมาครั้งนี้จะเกิดการนองเลือด นายสุเทพ กล่าวว่า คนที่มาเหล่านี้เป็นคนดี ไม่มีใครพกอาวุธ ไม่มีชายชุดดำชุดแดง มีมือเปล่าและหัวใจเท่านั้น ส่วนที่ตำรวจออกมาบอกว่า จะมีมือที่สามมาก่อกวนนั้น อย่าสนใจเพราะพวกเขาก็มีปัญญาอยู่แค่นั้น เอะอะก็อ้างมือที่สามที่สี่ และขอบอกไว้เลย มือของตำรวจนั่นแหละอย่าทำร้ายประชาชน และถ้าเที่ยวนี้ทำร้ายประชาชนเตรียมตัวไปอยู่ดูไบกับนายใหญ่ได้เลย เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชน ก็ต้องดูแลกันเองโดยอาสาสมัครของประชาธิปัตย์ เพราะตำรวจทำตัวเป็นลูกน้องรัฐบาลขึ้นทุกวัน

"ครั้งนี้ ผมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อตัดสินใจว่า จะลงสู่ท้องถนนก็ไม่กังวลอะไร และได้กลายสภาพมาเป็นแกนนำม็อบเต็มตัวแล้ว จึงอยากบอกประชาชนว่า ไม่มีใครใหญ่กว่าประชาชน ถ้าทั้งประเทศร่วมใจเป็นหนึ่งเราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ และรักษาบ้านเมืองได้ ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่า จะไม่ปรองดองก็ไม่เป็นไร เพราะตัวเขาอยู่ต่างประเทศนั้น ผมอยากบอกว่า เอาลูกเอาหลานของเขาไปอยู่ต่างประเทศด้วยแล้วกัน เพราะถ้ายังทำอย่างนี้ ระวังพวกท่านจะไม่มีแผ่นดินอยู่" นายสุเทพ กล่าว

** ตั้งเป้า2พ.ย.รวมพลังให้ได้ 1 ล้าน

ต่อมาเวลา 18.45 น. นายสุเทพ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย พร้อมอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคลื่อนไหวคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนที่จะเชิญชวนมวลชนที่ร่วมชุมนุมเป่านกหวีดพร้อมกัน ในเวลา 19.00 น. และปราศรัยช่วงหนึ่งว่า ขณะนี้แกนนำหารือกันแล้ว และมีมติเอกฉันท์ว่า จะต่อสู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถึงที่สุดจนกว่าจะชนะ หากไม่ชนะก็ไม่เลิก และขอให้ประชาชนทั่วประเทศลุกขึ้นมาร่วมกันต่อสู้ ทั้งที่สถานีรถไฟสามเสนแห่งนี้ หรือบริเวณแยกอุรุพงษ์ กับกลุ่ม คปท.และที่สวนลุมพินีของกลุ่ม กปท. ส่วนพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดให้นั่งรถไฟฟรีมาลงที่สถานีรถไฟสามเสน หรือให้ไปชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัด โดยต้องไม่เผาบ้านเผาเมืองเหมือนกลุ่มอื่นในอดีต โดยในวันนี้ (31 ต.ค) ตนประเมินมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 5 หมื่นคน ในวันที่ 1 พ.ย. ขอให้ได้ 1 แสนคน และในวันที่ 2 พ.ย. ให้ได้ 1 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่เวลา 18.00 น.ตามเวลานัดหมายมีประชาชนเดินทางเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ตลอดแนวถนนกำแพงเพชร 5 จนต้องมีการติดตั้งจอโปรเจกเตอร์ ให้ประชาชนติดตามกิจกรรมบนเวที ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็พากันเป่านกหวีดเป็นระยะ ส่วนบนเวทีปราศรัยมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ สลับกันปราศรัยต่อเนื่อง อาทิ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายอิสระ สมชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ นายกรณ์ จาติกวณิชย์ อดีตรองนายกฯ ภาคกทม. เป็นต้น

** "ปู"ไม่เข้าประชุมสภา-ไม่ถ่ายทอดสด

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (31ต.ค.) ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 2 หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยช่วงก่อนเข้าสู่ สาระของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ทวงถามถึงเหตุผลว่า ทำไมไม่ถ่ายทอดสดการประชุม ทั้งที่เป็นกฎหมายสำคัญ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ทำไมไม่เข้าร่วมประชุม และเมื่อคืนที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 150 นาย เข้ามาในสภา จริงหรือไม่ เพื่ออะไร ต้องการเตรียมคุกคามสมาชิกหรือไม่

นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.นี้ในวาระ 1 ไม่ได้มีการถ่ายทอด ช่อง 11 แต่ให้ถ่ายทอดทางสถานีรัฐสภา และอนุญาตให้ช่องอื่นๆที่สนใจ เกี่ยวสัญญาณไปได้ ฉะนั้นในวาระ 2 ก็ดำเนินการตามวาระ 1 คือ อนุญาตให้เกี่ยวสัญญาณได้ ส่วนประเด็นนายกฯ ตนมีหนังสือที่พึ่งยื่นมา ลงนามโดยนายกฯในฐานะส.ส. หมายเลข 273 ขอลาการประชุม โดยระบุว่า มีภารกิจตรวจเยี่ยม จ.สิงห์บุรี และลพบุรี ส่วนเรื่องตำรวจตนไม่ทราบ เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ จะประสานขอทราบข้อเท็จจริง

ด้านนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายกฯ ไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ มีการระดมคนทั่วประเทศ ได้ข่าวจะมีการยึดสยามบิน ล้อมสภา จึงขอให้ช่วยดูแลสถานทีราชการ อย่าให้มีเรื่องนี้เกิดขึ้นอีก เพราะจะกระทบต่อชื่อเสียงประเทศ แต่นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ยังเป็นแค่ข่าว ฝ่ายความมั่นคง ดูแลอยู่

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายนี้กระทบกระเทือนต่อหลักนิติรัฐอย่างกว้างขวาง แต่ประธานบอกไม่ถ่ายทอด เพราะเป็นกฎหมายธรรมดา แต่วันนี้วาระที่ 2 ไม่ถ่ายทอด เพราะเป็นกฎหมายธรรมดา แต่วาระที่ 2 วันนี้ ต่างกันโดยสิ้นเชิงไม่ใช่การประชุมสภาตามธรรมดา เพราะใช้อำนาจประธานนัดประชุมเป็นกรณีพิเศษ เหตุผลคืออะไร เพราะมีข้อครหามีใบสั่งทางการเมือง กฎหมายธรรมดา กระโดดมาเป็นกฎหมายพิเศษ ทำไมจะจัดให้มีการถ่ายทอด เปิดโอกาสให้ประชาชนรู้ไม่ได้ ต้องมุบมิบเป็นความลับ

**"สมศักดิ์"รวบรัดเข้าวาระ

ต่อมานายสมศักดิ์ ได้ตัดบทให้ นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ อ่านรายงานผลการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... จากนั้นจึงยอมให้ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติ เลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกไปก่อน พร้อมมีผู้รับรอง แต่ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส. ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เสนอให้ไม่เลื่อนการพิจารณา โดยนายสมศักดิ์ ให้แสดงเหตุผลฝ่ายละหนึ่งท่าน

ทั้งนี้ นพ.สุกิจ กล่าวว่า ตนสลดใจบรรยากาศการกระทำของประธาน และรัฐบาล ต้องทราบดีว่าเวลานี้ประชาชนทั้งประเทศกำลังอยู่ภายใต้บรรยากาศเศร้าสลด การสิ้นประชนม์ของพระสังฆราช และยังมีหนังสือให้สมาชิกไปร่วมพระราชพิธีพระราชกุศล 7 วัน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราไม่บังควรให้เกิดความแตกแยก ทะเลาะเบาะแว้ง เข้าสู่สภาตอนนี้

“ผมผิดหวังกับท่านประธานมาก ดูก็รู้ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่สมกับประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเลย ประธานคงไม่อยากให้คนในประเทศทะเลาะกัน ทำร้ายกันทั้งที่อยู่ในชุดไว้ทุกข์”

ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวตัดบทว่า อย่าพูดไปใส่ร้ายไป และอย่าเอาความรู้สึกของตนเองใส่ร้ายคนอื่นให้เสียหาย

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช อภิปรายสนับสนุน นพ.สุกิจ ว่า สมควรเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการไว้ทุกข์ สภาไม่มีจิตสำนึกเรื่องนี้บ้างหรือไม่ และยังมีข้อสงสัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นกฎหมายการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 หรือไม่ ดังนั้นประธานสภาฯควรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเรียกประชุมประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ 35 คณะ ก่อน

ด้านร.ท.ปรีชาพล กล่าวว่า ขอเสนอญัตติเพื่อให้การประชุมสภาฯ เป็นไปตามระเบียบวาระที่ได้วางเอาไว้ เพราะสภาฯได้ดำเนินการพิจารณากฎหมายมาตามกระบวนการแล้ว และการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า อยากให้สภาฯ เสร็จสิ้นการพิจารณาในวาระที่ 2 ให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นถ้ามีใครสงสัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ก็ยินดีที่จะเรียกประชุมประธานคณะกมธ. 35 คณะ ต่อไป

จากนั้นได้มีการลงมติในญัตติ เห็นด้วย ให้เลื่อนการพิจารณาออกไป 112 เสียง ไม่เห็นด้วย 308 เสียง ส่งผลให้มีการพิจารณาต่อไป จากนั้นที่ประชุมก็เริ่มทยอยอภิปรายในรายมาตรา โดยเริ่มจาก มาตรา 1 ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติ

**“สุนัย”ทำเปรี้ยวแย่งไมค์“นิพิฎฐ์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในชื่อร่างกฎหมาย ก่อนเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 1 โดยมีการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ที่มีการล้มล้างทรราช ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพูดทำนองเปรียบเทียบถึงรัฐบาลนี้ ทำให้ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า ให้นายนิพิฏฐ์ ถอนคำพูด เพราะไม่ใช่สมัย รัฐบาลอภิสิทธิ์ สั่งฆ่าประชาชน จึงจะเป็นทรราช ทำให้นายนิพิฎฐ์ บอกว่าตนไม่ได้พูดคำว่าทรราช แต่หากไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์อเมริกาให้มานั่งใกล้ๆ ทำให้ สุนัย เดินมาหานายนิพิฎฐ์ พร้อมกับนั่งข้างๆ จากนั้นได้ลุกขึ้นประท้วงโดยแย่งไมค์ของนายพิฎฐ์ ที่กำลังอภิปรายอยู่ ทำให้เกิดการชุลมุนขึ้น โดยนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รีบเดินมาขนาบ นายสุนัย พร้อมยกมือประท้วง ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ด้านหลังนายสุนัย ได้เดินมาชี้ และต่อว่าการประทำของนายสุนัย ว่าไม่เหมาะสม จนนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้นายสุนัย กลับไปนั่งที่ของตัวเองในฝั่งพรรคเพื่อไทย พร้อมกับบอกว่าจะตรวจสอบชวเลขว่า นายพิพิฏฐ์ พูดคำว่า ทราช หรือไม่หากพูด ก็ขอให้ถอนออกไป

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ใช้สิทธิ์พาดพิงว่า ยืนยันคำพูดของนายสุนัย ไม่เป็นความจริง ใครสั่งฆ่าหรือทำให้คนตาย อยากให้ดูการลงมติกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วจะรู้ว่า ใครสั่งฆ่าประชาชน

** พท.งัดมุกเก่า เสนอปิดอภิปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กำลังอภิปราย ชื่อ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน นายพหล วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เสนอปิดอภิปราย โดยอ้างว่า ผ่านมา 5 ชั่วโมงแล้วยังไม่ไปถึงไหน แต่ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทักท้วง โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ระหว่างที่มาสมาชิกกำลังอภิปรายไม่สามารถเสนอปิดกลางคัน แม้นายวัชระ จะมีปัญหาในการอภิปราย แต่ไม่มีสิทธิ์อ้างการอภิปรายคนใดคนหนึ่งแล้วมาตัดสิทธิ์คนอื่น หลายคนยังไม่ได้อภิปราย ไม่มีสิทธิ์เสนอปิดอภิปราย ในวาระ2

ที่ประชุมได้ถกเถียงกันไปมา ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พยายามไกล่เกลี่ย แต่ถูกส.ส.พรรคเพื่อไทย ตำหนิว่า อย่าทำงานเกินหน้าที่ การแปรญัตติต้องเรียงตามมาตรา ถ้า มาตรา1 ไม่ผ่าน เสนอให้ลบชื่อออก ก็ยุติ หรือตกไป เพราะไม่มีชื่อ แต่ถ้าเห็นควรอยู่ ก็เขียนชื่อให้อยู่ต่อไป ปล่อยให้อภิปรายอย่างนี้เสียเวลา ถ้าจะให้อภิปรายต่อ ก็ต้องกำหนดเวลาให้พูดคนละกี่นาที ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชื่อ

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมมี มติ 305 ต่อ 103 เสียง เห็นชอบตามญัตติเสนอให้ปิดอภิปราย จากนั้นได้ลงมติ 306 ต่อ 109 เสียง รับชื่อร่าง พระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน พ.ศ...

แต่ที่ประชุมก็ยังถกเถียงกันในเรื่องการเสนอญัตติปิดอภิปรายต่อไป จนนายวิสุทธิ์ ต้องตัดบทให้เข้าสาระคำปรารภ ซึ่งไม่มีการแก้ไข แต่มีสมาชิกขอสงวนคำแปรญัตติ

**ไม่ขอใช้ผงซักฟอก 5.7 หมื่นล.ล้างเลือด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร อภิปรายว่า การบรรยายเหตุผลในท่อนแรก ที่บอกว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุม การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนยังพอรับได้ แต่เมื่อไปดูสิ่งที่ตามมา ที่เพิ่มใน มาตรา 3 ที่ว่าบรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้น ของบุคคล หรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค. 56 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ที่บอกว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายสร้างความเสียหายต่อประเทศ จึงต้องนิรโทษเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ถามว่า เดินหน้า แปลว่าอะไร ก่อนเสนอเข้ามาประเทศเดินหน้าไม่ได้จริงหรือ เดินไม่ได้เพราะอะไร ถ้าบอกว่าเพราะมีคนติดคุก หรือมีคนหนีคุก เราจะบอกว่า ดังนั้นจะเดินหน้าได้ ใครที่ติดคุก หนีคุก ก็ต้องปล่อยคนเหล่านั้นไป ถามว่าแล้วคนที่เขาคิดคุก หนีคุก แต่ความผิดทั้งหลายทั้งปวงในประเทศไทย ก็ต้องได้รับความเห็นใจเหมือนกันหรือไม่ ประเทศจึงจะเดินหน้าได้ คนที่ฆ่าคน เผาทรัพย์สิน ฐานความผิดเดียวกัน ต้องเห็นใจเอามาหมด ใช่หรือไม่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ที่เรากำลังบอกจำเป็นต้องนิรโทษ เพราะคนจำนวนหนึ่งทำผิดกฎหมายเขาทำความผิดขอบเขตทางการเมือง ตนแสดงจุดยื่นมาตลอดว่านิรโทษกรรมจะออกได้ แต่ต้องมีเส้นแบ่งว่า ความผิดที่สมควรได้รับนิรโทษทางการเมือง โดยมีหลักวินิจฉัยว่า เกิดจากความคิดเห็นทางการเมือง การต่อต้านรัฐ แสดงออกแข็งขืนต่อรัฐโดยตรง เมื่อเหตุการณ์สงบลงความขัดแย้งยุติต้องการไม่ให้เป็นแผลต่อไป ก็มาบอกว่าที่แสดงออกไม่เป็นความผิด หลายประเทศต้องมีกระบวนการปรองดอง โดยสำนึกผิดว่าละเมิดกฎหมายและแสดงเจตจำนงว่าต่อไปนี้ไม่มีแล้ว แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาต้องไม่นิรโทษกรรมให้ เพราะไม่ใช่การแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่การชุมนุมตามสิทธิทางการเมืองและรัฐไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์ที่จะบอกว่าชีวิตที่สูญเสียไปนั้นถือว่าไม่ผิดอีก การเอาอาวุธออกจากบ้านมายิงไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง

“ผมดูอย่างไรก็ไม่ถึงคนโกง การโกงเป็นการชุมนุม แสดงออกทางการเมืองหรือไม่ ถ้าแสดงออกการกินเมืองล่ะใช่ จะมารวมได้อย่างไร ที่บอกนิรโทษ หวังผลให้ไปสู่การปรองดองเดินไปได้ ก็ต้องให้เฉพาะคนที่ผิดเพราะแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ไม่ให้คนฆ่า ปล้น เผา หมิ่นสถาบันฯ ถ้าทำอย่างนี้ บ้านเมืองก็เดินไปได้ ไม่ต้องถอยไป เซ็ทซีโร่ หรอก ใครมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ผมต้องการต่อสู้ตามกฎหมาย ไม่ต้องการผงซักฟอกยี่ห้อพิเศษ ขจัดคราบเลือดด้วยเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท บ้านเมืองไม่ต้องการผงซักฟอกยี่ห้อนี้ ”

** ไล่"นิพิฏฐ์"ออกจากห้องประชุม

ต่อมานายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ได้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ทวงถามถึงบันทึกการประชุมที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้อภิปรายในช่วงเช้า กล่าวว่ารัฐบาลทรราช เพื่อขอให้ถอนคำพูดดังกล่าว โดยนายเจริญได้อ่านชวเลขบันทึกการประชุม พบว่า มีคำดังกล่าวจริง และสั่งให้นายนิพิฏฐ์ ถอนคำพูดดังกล่าว แต่นายนิพิฏฐ์ ยืนยันว่า ไม่ขอถอน ทำให้นายเจริญ ต้องสั่งให้ออกจากห้องประชุมไป ซึ่งนายนิพิฏฐ์ ก็ยินยอมเดินออกไปตามคำสั่ง

ต่อมาในช่วงค่ำส.ส.เพื่อไทย ยังคงเล่นเกมเสนอปิดอภิปรายอีก ในระหว่างการอภิปรายในส่วนคำปรารภ โดยนายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา เป็นผู้เสนอ ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายคนไม่พอใจ ลุกขึ้นประท้วง แต่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม อ้างระเบียบ ข้อบังคับการประชุม และได้ขอมติที่ประชุม ปิดอภิปรายคำปรารภ ด้วยเสียง 307 ต่อ 88 ขณะที่เสียง 307 ต่อ 91 เห็นด้วยกับร่างเดิม ในคำปรารภ

**"ชายจืด" สั่งปิดเกมโหวตวาระ 2-3 วันนี้

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่า ท่าทีของพรรคเพื่อไทยขณะนี้ยังชัดเจนว่าสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขถ้อยคำ และมีการแถลงชัดเจนว่า ส.ส.เพื่อไทย จะโหวตในทิศทางนี้ทุกคน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติ เป็นอย่างอื่น ส่วนความเห็นของคนเสื้อแดงนั้นทางพรรคเคารพ และเห็นใจ แต่เมื่อพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นองค์กรที่คนกลุ่มหนึ่งมาอยู่ร่วมกัน ว่าอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม

"ชุมชนมีกฎเกณฑ์ ประเทศมีกฎหมาย พรรคการเมืองก็เช่นเดียวกัน คนที่อยู่ในพรรคต้องมีวินัย ผมชื่นชมนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ที่ยอมรับว่าอึดอัดต่อมติพรรค แต่จะทำตาม ความหนักใจ อึดอัดใจเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายต้องทำตามกติกา รักษาวินัยของกลุ่มที่ตนเองอยู่ " นายสมชาย ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าแกนนำคนเสื้อแดงที่เป็น ส.ส.งดออกเสียง จะมีมาตรการลงโทษถึงขั้นไม่ส่งลงสมัครส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อบังคับอยู่ หากใครฝ่าฝืน ก็คงต้องมีมาตรการตามข้อบังคับ จะไปเลือกปฏิบัติ ละเว้นไม่ได้

รายงานข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เผยถึงกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมถอย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ส่งสัญญาณให้ถอย หรือล้มเลิก ส่วนกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์เฟซบุ๊ก ส่งสัญญาณพร้อมถอย และรับฟังเสื้อแดงมากขึ้น เป็นเพียงการหลบกระแสต่อต้าน เอาใจมวลชนเสื้อแดงเท่านั้น ซึ่งวันนี้กรรมการยุทธศาสตร์ ยังส่งสัญญาณมาเหมือนเดิม ให้เดินหน้า เร่งรัดให้โหวต วาระ 2-3 ให้แล้วเสร็จ อย่างช้าไม่เกินวันที่ 1 พ.ย. เพราะป้องกันเกมการเมืองนอกสภาฯ เข้ามากดดันเกมในสภาฯ จึงต้องพยายามปิดเกมโหวตให้เร็วที่สุด

**กมธ.สอบทุจริตวุฒิสภายันต้านนิรโทษถึงที่สุด

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นำโดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎรว่า โดยนายคำนูณ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะมีการนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย รวมถึงผลพ่วงจากรัฐประหารปี 49 และครอบคลุมไปถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน และการทุจริตการเลือกตั้ง เกรงว่าจะกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ

ขณะที่ พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า ต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชันเป็นพิเศษ การที่ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ ทุจริตคอร์รัปชัน นั้น อาจทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในสายชาวโลกได้ จึงไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

นอกจากนี้ น.ส.รสนา ยังได้กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ยังทำลายหลักนิติธรรม ขยายขอบเขตการนิรโทษไปถึงคดีทุจริต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า เมื่ออำนาจบริหาร ร่วมกับอำนาจนิติบัญญัติ จะกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจเบ็ดเสร็จ และทำสิ่งผิดให้ถูกได้ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ ถอนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ออก เพื่อลดความขัดแย้ง แต่หากขั้นตอนการพิจารณามาถึงวุฒิสภา ก็จะเรียกร้องเพื่อนสมาชิก ไม่ให้ยอมรับร่างดังกล่าวที่ส่อว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

** อธ.มธ.ชี้นิรโทษฯยิ่งแตกแยก

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณี ที่คณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการเปลี่ยนแปลงในมาตรา 3 เข้าสู่การพิจารณาในวาระ2และ3 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า โดยทั่วไปการนิรโทษกรรมไม่มีกฎหมายกำกับไว้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่เป็นคล้าย ๆ กับเป็นจารีต ธรรมเนียม และแนวปฏิบัติ ซึ่งในทางกฎหมายนั้นถือว่าจารีตประเพณี มีความสำคัญ โดยหากศึกษาย้อนไปในอดีตจะพบว่าเราทำกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างความผิดเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เป็นข้อยกเว้น จากกฎหมายปกติที่กำหนดว่าคนผิดต้องรับโทษ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว อาทิ เหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา และเหตุการณ์รัฐประหาร แต่การทำนิรโทษกรรมที่ผ่านมาไม่เคยเพราะได้รับการยอมรับ และเป็นการทำให้สังคมไทยสงบสุข แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้แทนที่จะทำให้เกิดความสงบสุขกลับทำให้เกิดความขัดแย้งมากมาย ซึ่งในทางกฎหมาย ถือว่าเป็นการตรากฎหมายไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ควรจะเป็น

"เราไม่เคยทำนิรโทษกรรมสำหรับคนที่ทุจริตคอรัปชัน หรือคนที่มีเจตนาสั่งการในการสังหาร ทำร้ายคน หลายคนอ้างว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้เทียบเคียงกับเหตุการณ์ 14 ตุลา และ6 ตุลาได้ แต่ไม่ใช่ เพราะทั้งสองเหตุการณ์เป็นเรื่องที่เราต้องการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ไม่ใช่ผู้สั่งการ ดังนั้นโดยรวมผมสรุปว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ไม่ได้นำไปสู่สิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น "ศ.ดร.สมคิด กล่าว

** "นิด้า"ออกแถลงการณ์ต้านนิรโทษ

วานนี้ (31ต.ค.) คณาจารย์และบุคลากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบยกเว้นความรับผิดในทุกกรณี โดยเห็นว่า การออกกฎหมายดังกล่าว จะทำให้บุคคลพ้นจากความรับผิดในทุกกรณี ทั้งนี้ พวกเราเห็นว่าผู้มีความผิดกรณีทุจริต และคอร์รัปชัน ซึ่งคือความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรม และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ไม่ควรได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ มิฉะนั้นแล้วจะทำให้การทุจริต คอร์รัปชัน กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องของสังคม แม้ว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในการใช้อำนาจดังกล่าวควรพิจารณาผลที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่จะกระทบต่อความยั่งยืนของฐานรากสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น