xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (84)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*

(80) “จงเจริญสมาธิภาวนาถึงโลกที่เกิดจากความเชื่อของเธอว่า กำลังเผาไหม้เป็นเถ้าถ่าน และจงกลายเป็นผู้ที่เป็นยอดคน”

ขยายความ ถ้าเราสามารถจินตนาการว่า ร่างของตัวเองกำลังมอดไหม้ตามวิธีก่อนหน้านี้ได้ การจะจินตนาการว่า โลกทั้งหมดกำลังมอดไหม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย และยามใดก็ตามที่เราสามารถทำเช่นนี้ได้ เราจะกลายเป็น เลิศมนุษย์ (Superhuman) และเข้าถึงสภาวะจิตของเลิศมนุษย์

(81) “ในทางอัตวิสัย ให้อักษรไหลสู่ถ้อยคำ ถ้อยคำไหลสู่ประโยค ในทางภาววิสัยให้วงกลมไหลสู่โลก และโลกไหลสู่หลักการ ในที่สุด หลอมรวมสิ่งเหล่านี้ในตัวเรา”

ขยายความ จงทำให้ทุกสิ่งหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในตัวเราผ่านความคิด ความรู้สึกทั้งมวลด้วยหัวใจที่เปิดกว้างสุดๆ เปลือยเปล่าสุดๆ โดยไม่ต้านขืนใดๆ ทั้งสิ้น

(82) “จงรู้สึกถึงความคิดของฉัน ความเป็นตัวฉัน อวัยวะภายในของฉัน และตัวฉัน”

ขยายความ จงอยู่รู้สึก แต่จงอย่าคิดเป็นอันขาด เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงของตัวเราอย่างซื่อตรง และตรงไปตรงมา โดยมิให้มีความคิดใดๆ เข้ามาแทรกกลางระหว่างนั้น จงแค่รู้สึกเฉยๆ เท่านั้น รู้สึกถึงความคิดของตัวเอง รู้สึกถึงความเป็นตัวตนของเราเอง รู้สึกถึงอวัยวะภายในต่างๆ ในตัวของเรา จนกระทั่งตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของเราเองในที่สุด

(83) “ก่อนความปรารถนา และก่อนรับรู้ ฉันจะพูดได้อย่างไรว่า ฉันเป็นอยู่ จงไตร่ตรอง และสลายตัวเองในความงามเถิด”

ขยายความ จงย้ายความใส่ใจของเราไปที่ช่องว่างระหว่างเวทนา และช่องว่างระหว่างความคิด เมื่อความปรารถนาเกิดขึ้น ความเป็นตัวตน จึงรู้สึกขึ้นตามมา หากไม่มีความปรารถนา และหากไม่มีความคิด เราจะพูดได้อย่างไรว่าเราเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ความปรารถนาจะเกิด จงระลึกรู้ถึงช่องว่างระหว่างความรู้สึกหรือความคิดนั้น และจงดำรงอยู่ในช่องว่างนั้นอย่างไม่ถูกความปรารถนาใดๆ รบกวน โดยการทำและเป็นเช่นนี้ เราย่อมสามารถสลายตัวเองในความงามอันที่สุดได้

(84) “เสือกไสความยึดติดในร่างกายออกไป ตระหนักว่าฉันดำรงอยู่ในทุกที่ ผู้ที่ดำรงอยู่ในทุกที่ ย่อมเบิกบาน”

ขยายความ จงคลายความยึดติดในร่างกายของตัวเองออกไปให้ได้ จิตสำนึกที่ยึดติดอยู่กับความเป็นร่างกายคือ ที่มาแห่งทุกข์ ก่อนอื่น เราต้องสลัดทิ้งอวิชชาที่คิดว่า ตัวเราคือร่างกายนี้ให้ได้เสียก่อน หรือตระหนักให้ถ่องแท้ว่า เราอยู่ในร่างกายนี้ แต่เรามิใช่ร่างกายนี้ ร่างกายนี้แค่เป็นพาหนะของเราเท่านั้น เหมือนกับรถยนต์ กล่าวคือ เราเป็นผู้ขับรถยนต์ก็จริง แต่ตัวเรามิใช่รถยนต์ ฉันใดก็ฉันนั้น เราดำรงอยู่ในร่างกายนี้ แต่ตัวเรามิใช่ร่างกายนี้ หากตระหนักในเรื่องนี้ และคลายความยึดติดในร่างกายลงได้ ความทุกข์ของเราจะหายไปมากทีเดียว และเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถเสือกไสความยึดติดในร่างกายออกไปได้ เส้นแบ่งระหว่างร่างกายของเรากับความเป็นจริงจะเลือนหายไป

(85) “คิดในความไม่มีอะไร จะทำให้ตัวตนที่มีขีดจำกัดไร้ขีดจำกัด”

ขยายความ การคิดทำให้เราถูกจำกัด มีแต่ไม่คิดคือ แค่รู้เราถึงจะไร้ขีดจำกัด ดังนั้น จงแค่รู้ จงไม่คิดอะไร โดยให้รู้ว่าหลงไปคิดแล้วกลับมาสู่ความรู้ตัว ตระหนักรู้อยู่เช่นนี้บ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่คือหนทางที่นำพาเราไปสู่ความเป็นอิสระที่ไร้ขีดจำกัด

(86) “ยามที่เธอไตร่ตรองบางสิ่ง จงไปเหนือการรับรู้ทางผัสสะ จงไปเหนือการเข้าใจทางตรรกะ จงไปเหนือการไม่ดำรงอยู่...นั่นคือ ตัวเธอที่แท้จริง”

ขยายความ จงจินตนาการในสิ่งที่ไม่อาจจะจินตนาการได้ จงไตร่ตรองในเรื่องที่เป็นอาจิณไตยให้ถึงที่สุด จงรับรู้ในสิ่งที่ไม่อาจรับรู้ได้โดยใจหรือความคิด แล้วในที่สุด เราก็จะเจอ “ผู้รู้” ในตัวเรา

(87) “ฉันดำรงอยู่ สิ่งนี้เป็นฉัน สิ่งนี้เป็นสิ่งนี้

โอ...กานดา ในภาวะเช่นนี้ จงรู้อย่างไร้ขอบเขต”

ขยายความ จงรู้สึกในความเป็นฉัน จงไตร่ตรองในปริศนาธรรมที่ว่า “ฉันคือใคร?” ให้ถึงที่สุด ถามไถ่ในเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกใฝ่รู้อย่างเต็มเปี่ยมไม่เลิกรา...ถามไถ่จนกระทั่ง “ผู้รู้” บังเกิด และปรากฏในตัวเรา ในความเป็นเช่นนี้เอง จงปลดเปลื้องตัวเองจากตัวตนของตัวเอง ในความเป็นเช่นนี้

(88) “แต่ละสิ่งถูกรับรู้ผ่านการรู้ ตัวตนที่แท้เปล่งประกายในที่ว่างผ่านการรู้ จงรับรู้การดำรงอยู่ของตนในฐานะที่เป็นผู้รู้ และสิ่งที่ถูกรู้”

ขยายความ จงรับรู้ทุกสิ่งในฐานะที่เป็นรูปกับนาม จงรับรู้การดำรงอยู่ของตัวเองในฐานะที่เป็นผู้รู้ และสิ่งที่ถูกรู้ บางครั้งเราก็ตระหนักถึงความเป็น “ผู้รู้” ในตัวเรา เมื่อเกิดสติบ่อยๆ ครั้งที่เราเห็นความคิด และอารมณ์ต่างๆ ของเราในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกรู้โดยจิต ด้วยการดูจิต เห็นจิต

(89) “สุดที่รัก ณ ห้วงยามนี้ จงให้ ใจ การรับรู้ ลมหายใจ รูป หลอมรวมอยู่ในตัวเธอ”

ขยายความ โดยผ่านการเจริญสติภาวนา จงให้ใจเรา ร่างกายเรา การรับรู้ของเรา การคิดของเรา และลมหายใจของเราอยู่ในการตระหนักรู้ของเราด้วย มหาสติอันยิ่ง ราวกับว่า โลกที่เรารับรู้ทั้งหมดได้เข้ามาอยู่ในตัวเรา

(90) “สัมผัสลูกตาเบาๆ ราวกับสัมผัสขนนก ความแผ่วเบาที่นำไปสู่การเปิดหัวใจ และแผ่ซ่านไปทั่วจักรวาล”

ขยายความ จงแตะดวงตาของตัวเองอย่างเบาๆ และอ่อนโยนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดึงพลังชีวิตของเราที่รั่วไหลผ่านดวงตามากที่สุด กลับคืนสู่ภายใน ถ่ายเทพลังชีวิตหรือพลังปราณจากฝ่ามือของเราที่แตะดวงตาที่กำลังปิดตาอยู่อย่างแผ่วเบา ให้พลังชีวิตนั้นแผ่ซ่านไปทั่วจักรวาลภายในของเรา ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง พร้อมกับฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาให้แก่ตัวเรา

(91) “ยอดเสน่หา จงเข้าสู่ภาวะที่เป็นทิพย์ ที่แผ่ซ่านไปทั่ว ทั้งที่อยู่เหนือและอยู่ใต้รูปของเธอ”

ขยายความ จงจินตนาการ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับ “กายทิพย์” ของเราโดยผ่านการเจริญสมาธิภาวนา ด้วยการถอดกายทิพย์ สำหรับผู้ที่สามารถทำสมาธิแบบนี้ได้ หรือด้วยการสัมผัสถึงรังสีออร่าของตัวเราก็ได้

(92) “จัดวางความคิดของตนในแบบที่สำแดงไม่ได้ ไม่ว่าเหนือกว่าหรือต่ำกว่า หรือในหัวใจตนเอง”

ขยายความ นี่คือ การตระหนักถึงห้วงยามที่ไร้ความคิด โดยการทำให้จิตกระจ่าง แจ่มใส และชัดแจ้ง ความคิดย่อมหาที่ยืนของมันได้ยาก และไม่สามารถสำแดงออกมาได้ ไม่ว่าในเชิงบวก หรือเชิงลบ หรือแม้แต่กลบฝังมันไว้ในหัวใจของตนเอง

(93) “จงพิจารณาพื้นที่แห่งรูปปัจจุบันของเธอในฐานะที่เป็นที่ว่างอันไร้ขอบเขต”

ขยายความ จงพิจารณาร่างกายตนเองว่า ไร้ขอบเขตจำกัดในขณะเจริญสมาธิภาวนา เราย่อมสามารถเข้าถึงความว่าง โดยผ่านการฝึกสมาธิวิธีนี้ได้ การสลายตัวตน บดย่อยร่างกายจนไม่มีเหลือในสมาธิ ก็ทำให้เราถึงความว่างได้เช่นกัน แต่วิธีนี้แนะให้เราขยายร่างกายนี้ ในขณะเจริญสมาธิภาวนาให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนใหญ่ที่สุดอย่างประมาณไม่ได้ ซึ่งก็จะทำให้ถึงความว่างได้เหมือนกัน (ยังมีต่อ)

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น