xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายจากหนี้และเพดานหนี้

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


หนี้ของระบบที่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจตามธรรมดา จะไม่มาก ไม่อันตราย ต่อเมื่อเกิดความผิดปกติในระบบเศรษฐกิจ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา จะทำให้เกิดหนี้สูงมาก ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย ที่เคยเกิดวิกฤตจนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้วถึง 2 ครั้ง ในครั้งแรกประเทศไทยต้องลดค่าเงินบาท ในครั้งที่สองเราต้องลอยค่าเงินบาท

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ของประเทศไทย เกิดจากการนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในเดือนตุลาคม 2536 ทำให้ Hedge funds ลาก SET index จากระดับ 1,000 จุด ขึ้นไปสูงสุดที่ 1,750 จุด ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือน โดยที่ SET index ขึ้นไปสูงสุดในต้นเดือนมกราคม 2537 แล้วจึงทลายลงอย่างรุนแรง และลงไปต่ำสุดที่ในอีก 5 ปีต่อมา SET index ตกลงไปถึง 88%

ผู้เขียนนำเสนอเรื่องนี้มาบ่อยครั้ง ที่นำเสนอบ่อยครั้งเพื่อที่จะให้ทราบว่าต้นเหตุของปัญหาเป็นมาอย่างไร ไม่ใช่มีแต่ปัญหา แต่ไม่รู้ต้นเหตุว่าเป็นมาอย่างไร จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ว่าของประเทศไทย อเมริกา และยุโรป เมื่อแก้ปัญหาก็แก้แต่ปลายเหตุของปัญหา ปัญหานอกจากไม่สามารถยุติลงได้ ยังทำให้ปัญหาบานปลาย ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก

ค่าเงินบาทช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้งที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นตก คำให้ค่าเงินตกลงด้วย

ช่วงการเกิดวิกฤตครั้งที่ 2 ได้ทำการปกป้องไม่ให้ค่าเงินบาทเสียหาย ยิ่งทำให้ Hedge funds มีกำไรจากขายทิ้งเงินบาท ขายที่ราคา 26 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สุดท้ายทางการไทยต้องยอมยกธงขาว ยุติการปกป้องค่าเงินบาท ลอยค่าเงินบาท และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2 ค่าเงินบาทตกไปที่ 36-56 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะราคาบาทสูงมาก มีการขายหุ้นอย่างหนัก เพื่อให้ได้เงินบาทเพื่อเอาเงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศ ยิ่งทำตลาดหุ้นตกหนักลงไปอีก Hedge Funds ได้กำไร 2 ด้าน ได้กำไรทั้งจากการขายหุ้น ได้กำไรจากการขายบาท

การขายบาท ไม่ถือเงินบาท ก็คือเอาบาทไปซื้อดอลลาร์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่อยหรอลง กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2540 เดือนที่ลอยค่าเงินบาท ที่เข้ารับความช่วยเหลือจาก IMF ทุนสำรองลดลงเหลือเพียง 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น โดยที่ก่อนหน้านั้นเคยมีถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

การทิ้งบาทมาซื้อดอลลาร์คือปรากฏการณ์ของเงินทุนไหลออกจากระบบ การดูสภาพคล่องของระบบ จึงให้ดูที่ทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศ ถ้าทุนสำรองมาก แสดงว่าสภาพคล่องของระบบสูง ถ้าทุนสำรองน้อยแสดงว่าสภาพคล่องของระบบน้อยหรือสภาพคล่องของระบบเสียหาย

สภาพคล่องของระบบเสียหาย หรือระบบไม่มีสภาพคล่อง ทำให้ระบบเศรษฐกิจล้มลง ทั้งภาคการผลิตจริงและภาคการเงินล้มลง คนตกงานมาก เป็นที่มาของหนี้สาธารณะก้อนโตหรือเป็นหนี้ที่ไม่คาดฝันนั่นเอง

หนี้สาธารณะคือหนี้ที่เกิดขึ้นจากรัฐออกพันธบัตร (กู้เงิน) ไปใช้ในความเสียหายของภาคเศรษฐกิจที่ล้มลง ประเทศทั่วๆ ไปเรียกหนี้สาธารณะ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกเพดานหนี้

ในส่วนภาคการผลิตจริง ได้มีการตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มาบริหารจัดการหนี้เสีย โดยซื้อหนี้เสียที่มีส่วนลด 75-80 เปอร์เซ็นต์มาบริหารจัดการ จากราคารวมประมาณ 8 แสนล้านบาท ซื้อมาในราคา 1.8-2.0 แสนล้านบาท

ในส่วนภาคการเงินได้ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) มาจัดการเกิดโครงการ 14 สิงหาคม 2541 โดยปิดถาวร 56 สถาบันการเงินทำให้เกิดหนี้ไว้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.4 ล้านล้านบาท การบริหารจัดการหนี้กองนี้ที่ผ่านมาเป็นดังนี้

12 ปีผ่านไป (2541-2553) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบชำระหนี้เงินต้น 249,898 ล้านบาท แสดงว่ามีหนี้คงเหลือ 1.1 ล้านล้านบาท

12 ปีผ่านไป (2541-2553) กระทรวงการคลังรับผิดชอบชำระดอกเบี้ย 604,473 ล้านบาท

จะเห็นว่า 12 ปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 6 แสนล้านบาท ประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ของยอดหนี้แต่แรก และยังมีหนี้คงค้าง 1.1 ล้านล้านบาท

คำนวณจากประวัติการใช้หนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 60 ปีจึงจะชดใช้หนี้หมด

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยกระทรวงการคลัง ได้โอนหนี้ที่เหลือรวมทั้งการบริหารจัดการทั้งหมดไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยที่กระทรวงการคลังไม่ต้องรับผิดชอบในการชำระดอกเบี้ยอีกต่อไป ได้มีการยุติบทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีการฟื้นฟูกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยุติบทบาทไปแล้ว เพื่อให้กลับมาบริหารจัดการหนี้ก้อนนี้อีกครั้ง ได้มีการเพิ่มการเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากที่เคยเรียกเก็บจากธนาคารเอกชน 0.4 เปอร์เซ็นต์เป็น 1 เปอร์เซ็นต์ และขยายฐานการเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากมายังสถาบันการเงินของรัฐและหุ้นกู้ด้วย

หนี้ 1.4 ล้านล้านบาท คือหนี้ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน หรือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งมันก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง ดูเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้แต่อย่างใด จึงได้โอนหนี้และการบริหารจัดการไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อกระทรวงการคลังไม่ต้องควักงบประมาณ

ทำให้หนี้ก้อนนี้ไม่เป็นหนี้สาธารณะต่อไป ทำให้อัตราส่วนของหนี้สาธารณะที่เหลือต่อจีดีพีลดลง เพื่อที่จะทำให้การกู้เงินได้มากขึ้น

เป็นที่มาของการคิดกู้เงินก้อนโต 0.35+2.2 ล้านล้านบาท เป็นการกระทำที่เกินความพอเพียง อธิบายว่า จะใช้เวลาชำระหนี้ก้อนนี้หมดภายใน 50 ปีดูแล้วไม่เป็นจริง น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต

(1) จากการย้ายหนี้ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันประมาณ1.1 ล้านล้านบาทและการบริหารจัดการทั้งหมดไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงถึงความไม่ตั้งใจที่จะชดใช้หนี้ดังกล่าว แล้วหนี้ 0.35+2.2 ล้านล้านบาท จะมีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ได้อย่างไร

(2) ที่บอกว่าจะชำระหนี้ได้หมดภายใน 50 ปี ก็จะไม่เป็นความจริง พิจารณาดูจากหนี้ 1.4 ล้านล้านบาทที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ดูแลอยู่ ยังต้องใช้เวลา 60 ปีจึงจะชำระหนี้ได้หมด แล้วหนี้ 0.35+2.2 ล้านล้านบาทจะชำระหนี้หมดภายใน 50 ปีได้อย่างไร

(3) การกู้เงินก้อนโต ทำให้เกิดหนี้กองโต อาจจะนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ชื่อมั่นต่อค่าเงินบาท จะทำให้เงินทุนไหลออก จะทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย จะทำให้ระบบเศรษฐกิจล้มลง จะทำให้เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 จะก่อให้เกิดหนี้เสียท่วมระบบอีก ก็จะทำให้หนี้ที่ไม่คาดฝันหรือหนี้สาธารณะกองโตเกิดขึ้นมาอีก

(4) หนี้ที่ไม่คาดฝันอย่างน้อยประมาณ 3 เท่าของ 1.4 ก็ประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท รวมกับหนี้เงินกู้อีก 0.35+2.2 ล้านล้านบาท ก็จะเป็นหนี้อย่างน้อย 6.75 ล้านล้านบาท แล้วจะใช้เวลากี่ปีจึงจะชำระหนี้ได้หมด หรือจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้หมดหรือไม่ที่บอกว่าหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์จีดีพีก็ไม่เป็นจริง อาจจะสูงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ได้ หนี้เก่าที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยังไม่สามารถชำระหมด จะมีหนี้กองใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

ผู้เขียนฉงนใจ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทำไมจึงไม่รักไม่ห่วงใยประเทศไทยและคนไทยบ้าง ดูเหมือนจงใจจะให้เกิดความย่อยยับกับประเทศไทยจิตใจจึงอำมหิตกับประเทศไทยมาก

ประเทศไทยตั้งตนอยู่บนความประมาท จะก่อให้เกิดอันตรายในอนาคต

ดูตัวอย่างหนี้ของประเทศสหรัฐอเมริกา

การพังทลายของตลาดหุ้นแนสแด็กในปี 2000 ทำให้ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เสียหาย ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐตกลงถึง 48 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินยูโร ทำให้เงินไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้ภาคการผลิตจริงและภาคการเงินล้มลง คนตกงานมาก

และทำให้มี “หนี้” ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จนต้องเพิ่มเพดานหนี้ทุกปี

เงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรืออาจจะเรียกว่าสกุลเงินของโลกได้ เมื่อเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการของโลกสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากระหว่างปี 2001-2007 ราคาทองคำสูงขึ้น 291 เปอร์เซ็นต์ ราคาน้ำมันสูงขึ้น 758 เปอร์เซ็นต์ แสดงถึงเงินเฟ้อของโลกสูงขึ้นนั่นเอง ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วทั้งโลก

ค่าเงินเหรียญสหรัฐเทียบกับเงินยูโร ระหว่างปี 2001-2007 ค่าเงินเหรียญสหรัฐเคยตกลง 48 เปอร์เซ็นต์ เป็นการตกที่รุนแรง ทำความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างแรงมาแล้ว ตอนนี้สงสัยว่าเพดานหนี้ที่สูงขึ้นตลอดเวลาจะกระทบความเชื่อมั่นต่อค่าเงินเหรียญสหรัฐหรือไม่(?)

แต่เพราะมีการแก้แต่ปลายเหตุของปัญหา เช่น การเพิ่มเพดานหนี้ และการพิมพ์เงินออกมาใช้ ปัญหานอกจากจะไม่ยุติแล้ว ยังเรื้อรังมากขึ้น

สังเกตว่าก่อนปี 2000 และหลังปี 2000 ช่วงเวลาประมาณ 5 ปีเป็นช่วงของสภาพคล่องของระบบดี ทำให้ไม่มีการเพิ่มเพดานหนี้แต่หลังการพังทลายของตลาดแนสแด็กในปี 2000 ทำให้เกิดกลไกความเสียหายทางเศรษฐกิจตามกลไกที่นำเสนอไว้ช่วงต้นนั่นเอง ระบบเศรษฐกิจของอเมริกาเสียหายรุนแรงมาก

หลังปี 2000 เพดานหนี้เพิ่มแรงกว่าในอดีตมาก ถึงเดือนพฤษภาคม 2013 เพดานหนี้สูงถึง 16.7 ล้านเหรียญสหรัฐยิ่งเพดานหนี้สูงขึ้นมากเท่าใด ก็จะต้องตั้งงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ยสูงขึ้นเท่านั้น

เดือนตุลาคม 2013 ได้มีการนำกฎหมายประกันสุขภาพ Obama care มาใช้ ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น จำเป็นจะต้องเพิ่มเพดานหนี้ขึ้นไปอีก

หลายปีที่ผ่านมา การเพิ่มเพดานหนี้แล้วสามารถมีสภาพคล่องอยู่ได้ประมาณ 1 ปีแต่ครั้งนี้สภาคองเกรสสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ให้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2014 หรือมีระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น

วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ 17-18 ตุลาคม 2013 หลังสภาคองเกรสอนุมัติผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ เพื่อไม่ให้ผิดนัดการชำระหนี้ ตลาดหุ้นประเทศสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้น สวนทางการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ตลาดเงินใหญ่กว่าตลาดทุน การที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐตกลง แสดงว่ามีความวิตกกังวลในฐานะทางการเงินของสหรัฐฯ

USD index ตกลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2013 คงต้องตามดัชนีค่าเงินเหรียญสหรัฐต่อไป ว่าจะมีการฟื้นตัวหรือไม่ หรือว่าจะตกลงต่อไปอีก

เพดานหนี้ของประเทศสหรัฐฯ สูงขึ้นตลอดเวลา และขึ้นมาแรงหลังปี 2000 เป็นปัญหาต่อฐานะทางการเงินสหรัฐฯ อาจจะถึงกับผิดนัดชำระหนี้ได้ ผลจะเป็นอย่างไร เหลือเวลาอีกประมาณ 3 เดือน หรือกลางเดือนมกราคม 2014 ก็จะทราบผล

การบริหารจัดการหนี้ หากไม่ระมัดระวัง ก็จะเกิดอันตรายรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าประเทศไทยหรือประเทศสหรัฐอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น