ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจากใช้เสียงข้างมากแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ฟื้นสภาพสภาทาสและสภาผัวเมียได้เป็นผลสำเร็จ ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาภายใต้การชักใยของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ก็ลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ประเด็นเรื่องการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ในวาระ 2 และนัดวันลงมติวาระ 3 ในวันที่ 2 พ.ย.นี้
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งรัฐสภาใช้เวลาพิจารณาในวาระ 2 เพียง 2 วัน คือวันที่ 15 ต.ค.ต่อเนื่องถึงกลางคืนวันที่ 16 ต.ค.มีทั้งหมด 4 มาตรา แต่เนื้อหาสำคัญอยู่ในมาตรา 3 ว่าด้วยการยกเลิกความในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่รัฐบาลจะไปลงนามผูกพันกับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิมกำหนดให้ต้องผ่านการพิจารณาของสภา ผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชน และมีมาตรการเยียวยา บรรเทาผลกระทบ
ตามร่างฯ นี้ กรรมาธิการบัญญัติให้นำประเด็นเรื่องเขตแดน การเปิดเสรีการค้าการลงทุนมาใส่ไว้ในร่างเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา แต่ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่อให้เห็นถึงความจงใจที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับการเจรจาธุรกิจด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนในกัมพูชาที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความสนใจที่จะร่วมลงทุน
ส่วนที่กรรมาธิการได้มีการแก้ไขในมาตรา 3 บางเรื่องที่อยู่ในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญกลับไปใส่เอาไว้ในกฎหมายลูก เช่น การรับฟังความเห็นของประชาชน การเยียวยา ชดเชย
นอกจากนี้กรรมาธิการฯ ยังเสนอให้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า หนังสือสัญญาใดที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ “โดยชัดแจ้ง” หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ หรือมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครอง หรือจัดการภายในประเทศที่ไม่ใช่เรื่องความร่วมมือทางวิชาการ หรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้า หรือการลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้มีกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดและรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับหนังสือสัญญาตามวรรค 2
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นร่างฯ ที่ปล้นเอาสิทธิของประชาชนตามที่มีในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมไป
โดยสรุปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้หนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจ-สังคม 2 ประเภทไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาอีกต่อไป คือ 1.หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และ 2. หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนที่จะต้องนำเข้ามาขออนุมัติจากรัฐสภาเพียง 2 ประเภท คือ 1.หนังสือสัญญาที่มีบทเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน หรือ FTA และ 2.หนังสือสัญญาประเภทที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้จะกำหนดให้หนังสือสัญญาประเภทที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องผ่านสภาก่อน แต่กรรมาธิการฯ ได้เติมคำต่อท้ายเข้าไป 3 คำ คือคำว่า “โดยชัดแจ้ง"ต่อท้ายเข้าไป
ซึ่งนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เห็นว่าการเติม 3 คำ 'โดยชัดแจ้ง' ต่อท้ายหนังสือสัญญาประเภทดังกล่าวเข้าไปจะมีผลเป็นการล้มล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชายุคนายสมัคร สุนทรเวชและนายนพดล ปัทมะ เมื่อปี 2551 ซึ่งครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาประเภทนี้ ไม่ใช่แค่ต้องแปลความตามตัวอักษรเท่านั้น คือแปลความเพียงว่ามี 'บทเปลี่ยนแปลง...' จริงๆ จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่จะมุ่งควบคุมการทำหนังสือสัญญาก่อนที่ฝ่ายบริหารจะไปลงนามให้มีผลผูกพันประเทศ ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ จึงต้องแปลความว่าหากหนังสือสัญญานั้น '...อาจมีผลเปลี่ยนแปลง'
นอกจากนั้นถ้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ICJ)พิพากษาปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วมีผลให้รัฐบาลต้องไปทำหนังสือสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งกับกัมพูชา ก็ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ ไม่ต้องเสนอกรอบล่วงหน้า ไม่ตัองเยียวยา ฯลฯ
นายคำนูณจึงระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อำมหิตต่อประชาชนมาก เพราะสารัตถะสำคัญที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 190 หลังการโหวตมาตรา 3 วรรคสี่ (ซึ่งจะเป็นมาตรา 190 วรรคสามใหม่) คือการตัดสิทธิที่เคยมีเคยได้ของประชาชนลงโดยสิ้นเชิง
ต่อนี้ไป ในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือสัญญาประเภทมีบทเปลี่ยนอาณาเขตไทย หรือมีบทเปลี่ยนแปลงอธิปไตยนอกอาณาเขต หรือประเภท FTA จะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกต่อไป
ต่อนี้ไป ในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศทุกประเภท จะไม่มีการเสนอกรอบการเจรจาล่วงหน้าต่อรัฐสภา
ขณะที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) ได้ออกแถลงการณ์ “ขอไว้อาลัยแด่มาตรา 190 ระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยไทย”
โดยระบุว่า ผลสรุปจากการแก้ไขมาตรการ 190 ดังกล่าว สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทยที่มุ่งเป้าหมายการเอาชนะทางการเมืองเป็นที่ตั้งโดยอ้างเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ไม่ได้ยึดถือข้อมูล เหตุผล และไม่ได้สำเหนียกถึงสถานการณ์ปัญหา ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการเร่งทำหนังสือสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ ซ้ำยังเป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยที่เห็นหัวประชาชนอย่างไร้สำนึก
บทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจา สร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเป็นกลไกสร้างระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ผลจากการทำหนังสือสัญญาเกิดประโยชน์โดยรวมมากที่สุดต่อประเทศชาติ นอกจากนี้คณะเจรจายังสามารถใช้ “กรอบเจรจา”ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย บทบัญญัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า การมีหนังสือสัญญาจำนวนมากค้างพิจารณา ที่ฝ่ายรัฐบาลอ้างเป็นเหตุผลในการแก้ไข มาตรา 190 นั้น FTA Watch เห็นว่า เป็นเพราะการไม่จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว และมีการใช้มาตรา 190 เป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งทั้งสองสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องเบียดขับประชาชนออกจากกระบวนการหรือลดทอนความโปร่งใสแต่อย่างใด
การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้ เป็นเพียงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างนัก(การเมือง)ประชาธิปไตยแต่ปาก กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่ต้องการปลดเปลื้องภาระในการปฏิบัติตามกฎกติกาเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
คำแถลงของ FTA Watch หรือคำวิจารณ์ใดๆ คงไม่อาจยับยั้งความเห็นแก่ตัวและอำมหิตของ นช.ทักษิณ ชินวัตรและบริวารได้ นั่นเพราะ นช.ทักษิณยังมีแผนการจะใช้กลไกรัฐสภาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการผ่านร่าง พ.ร.บ.อีกหลายฉบับ เพื่อลบล้างความผิดและเสริมฐานอำนาจของตัวเอง ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
คิวต่อไป หลังจากแก้ไขมาตรา 190 เพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการไปลงทุนต่างประเทศของ นช.ทักษิณแล้ว ยังมีการลดอำนาจองค์กรอิสระ ลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และล่าสุด คือการเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ซึ่งจะมีลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งหมายถึงการลบล้างความผิดให้ นช.ทักษิณ และได้เงินที่ถูกศาลสั่งยึดกลับคืนไปด้วย