xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

R.I.P. คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช หญิงเหล็กแห่งอาณาจักร KPN

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงพรทิพย์กับคุณพ่อ ดร.ถาวร พรประภา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งสำคัญวงการธุรกิจไทย เมื่อ “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช” ผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัดได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา

คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช เกิดวันที่ 7 กรกฎาคม 2489 นับถึงปัจจุบันอายุ 67 ปี เป็นบุตรของ ดร.ถาวร และนางรำไพ พรประภา แต่งงานกับ ดร.เกษม ณรงค์เดช โดยมีบุตรชายด้วยกัน 3 คน คือ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช, นายณพ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช

ทั้งนี้ การเสียชีวิตของคุณหญิงพรทิพย์นับว่าเป็นการปิดตำนานของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “หญิงเหล็กของวงการธุรกิจยานยนต์” เนื่องเพราะหากนับตั้งแต่ “ถาวร พรประภา” พ่อของคุณหญิงพรทิพย์ เรื่อยมาจนถึงตัวเธอที่ได้ร่วมบริหาร “สยามกลการ” ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ “นิสสัน” ที่คุ้นเคยกันดีได้ฝ่าฟันมรสุมคลื่นลมธุรกิจมานับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะแยกตัวออกมาดูแลกิจการรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า และก่อตั้งอาณาจักร “เคพีเอ็น” กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนและการค้าลงทุน อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสถาบันสอนดนตรีเคพีเอ็นซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นชื่อกันดีกับการประกวดเคพีเอ็นอวอร์ด ซึ่งมีมูลค่าที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย

ย้อนหลังกลับไปในช่วงที่คุณหญิงพรทิพย์เข้ามาบริหารสยามกลการ ในช่วงนั้น ถือเป็นอีกยุครุ่งโรจน์หนึ่งของสยามกลการ หลังจากได้มีการดึง “นุกูล ประจวบเหมาะ” มาแก้ไขสถานการณ์วิกฤตทางการเงิน จนทำให้สยามกลการกลับยืนได้มั่นคงอีกครั้ง และได้รับการสานต่อจากคุณหญิงพรทิพย์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จนสามารถทำให้ธุรกิจในกลุ่มขณะนั้น พุ่งสูงสุดกว่า 8,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะรถยนต์นิสสันในขณะนั้น สามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับที่ 3 ของตลาดรถยนต์เมืองไทย เป็นรองแค่โตโยต้าและอีซูซุ เนื่องจากกำลังการผลิตของนิสสันนั้นน้อยกว่า และคุณหญิงพรทิพย์ยังเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมส่งเสริมภาพพจน์ของรถยนต์นิสสันให้ดีขึ้น ด้วยโครงการต่างๆ ที่โดดเด่นคือโครงการ “ถนนน้ำใจ” ที่ออกมารณรงค์ให้คนไทยมีน้ำใจในการขับรถแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยกัน รวมถึงตัวแมสคอทที่เป็นช้างน้อย-ช้างโหน่ง แต่งตัวเป็นเด็กนักเรียน และทำเป็นสติ๊กเกอร์ติดอยู่ที่รถของนิสสันทุกรุ่น

กลุ่มธุรกิจสยามกลการในช่วงการดูแลของคุณหญิงพรทิพย์ มิได้โดดเด่นในเรื่องของธุรกิจรถยนต์นิสสันเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่เป็นผู้ที่ชื่นชอบในเสียงดนตรีของเธอ จึงได้จัดให้มีการประกวดร้องเพลงระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ “นิสสัน อวอร์ด” และระดับยุวชน ยามาฮ่า อวอร์ด หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าการประกวดร้องเพลงสยามกลการ ที่ถึงวันนี้สร้างนักร้องระดับประเทศแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย ,นันทิดา แก้วบัวสาย , รวิวรรณ จินดา หรือจะเป็น ทาทา ยัง ล้วนผ่านการเป็นแชมป์จากการประกวดรายการนี้ ซึ่งถือว่าเป็นภาพที่ติดหูติดตากับคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานสยามกลการของ คุณหญิงพรทิพย์นั้น ได้ใช้เงินไปกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพพจน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีการขยายงานบริษัทต่างๆ และจำนวนบริษัทในเครือเพิ่มมากขึ้น จนทำให้การบริหารงานควบคุมไม่ทั่วถึง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคโลกานุวัตร หรือ GOLOBALIZATION จนก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อธุรกิจของกลุ่มสยามกลการอีกครั้ง

จนที่สุดต้องการมีการผลัดไม้อีกครั้ง เมื่อประมาณปี 2536... “พรเทพ พรประภา” ผู้เป็นน้องชายได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลงานสยามกลการแทนพี่สาว ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับสยามกลการในยุคนั้นอย่างมาก เพราะนอกจากปัญหาเรื่องของธุรกิจแล้ว ยังมีปัญหาภายในที่ต้องแก้ไข จนสื่อหนังสือพิมพ์ยุคนั้นต่างพากันพาดหัวข่าว “ศึกสายเลือด” กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่นาน

ที่สุดคุณหญิงพรทิพย์ แยกตัวออกจากสยามกลการ ออกมาปลุกปั้นธุรกิจของตนเองร่วมกับสามี “เกษม ณรงด์เดช” ที่ทำมาก่อนหน้านี้ ในชื่อกลุ่มบริษัท “เคพีเอ็น” (KPN) โดยจะเน้นไปทางธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์เป็นหลัก แต่การก้าวออกมาครั้งนี้ได้สร้างความฮือฮาเช่นกัน เมื่อคุณหญิงพรทิพย์ได้ดึงรถจักรยานยนต์ “ยามาฮ่า” ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มสยามกลกลการมานานกว่า 30 ปี โดยบริษัทในเครือ “สยามยามาฮ่า”

เกมธุรกิจครั้งนี้มาจากการที่กลุ่มเคพีเอ็นของคุณหญิงพรทิพย์ ได้จับมือเซ็นสัญญากับ ยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในไทย แทนที่จะเลือกสยามยามาฮ่าพันธมิตรเดิม ที่กำลังจะหมดสัญญาการค้าในอีกไม่นาน โดยข้ออ้างเหตุผลของดีลนี้ เพราะฝ่ายคุณหญิงพรทิพย์เข้าใจผลิตภัณฑ์ยามาฮ่ามากกว่า และทำตลาดในไทยมานาน จากการที่เกษมเป็นผู้แลมาตลอดในยุคของสยามยามาฮ่า นับตั้งแต่แต่งงานกับคุณหญิงพรทิพย์มา

จากนั้นมาเคพีเอ็นได้เป็นผู้บริหารรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในไทย แต่ที่สุดต้องขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นไป เพราะไม่สามารถฝ่าฟันการแข่งขันรุนแรง และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังฟองสบู่แตก ได้ เป็นเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์รายอื่นๆ ในไทย และที่สุดบริษัทแม่เข้ามาดำเนินธุรกิจเอง

เส้นทางของเคพีเอ็นภายใต้การกุมบังเหียนของ “คุณหญิงพรทิพย์-เกษม” เติบโตแข็งแกร่งจากธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นหลัก โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ แต่ด้วยความรักเสียงดนตรีของคุณหญิงพรทิพย์ จึงได้สานต่อด้วยการเปิดสถาบันดนตรี “เคพีเอ็น” และจัดการประกวด “เคพีเอ็น อวอร์ด” เป็นที่รู้จักของชาวไทยทั่วประเทศ

กลุ่มธุรกิจเคพีเอ็นปัจจุบันมีธุรกิจหลากหลาย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า และพลาสติก การลงทุนต่างๆ กลุ่มดนตรีและการศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ รวมมูลค่าธุรกิจหลายพันล้านบาท โดยคุณหญิงพรทิพย์-เกษมได้วางมือทางธุรกิจปล่อยให้ลูกชายทั้ง 3 เข้ามาบริหารงานแทน

และวันนี้คุณหญิงพรทิพย์ได้เดินทางไปสู่สัมปรายภพแล้ว

สำหรับพิธีศพของคุณหญิงพรทิพย์นั้น ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปเป็นเวลา 7 วัน ที่บ้านณรงค์เดช ในซอยสุขุมวิท 49 หลังจากนั้นจะเคลื่อนศพไปสุสานประจำตระกูลที่พัทยาต่อไป


นั่งดูการแสดงกับลูกชาย กร ณรงค์เดช
คุณหญิงพรทิพย์ กับพี่น้องพรประภา
กำลังโหลดความคิดเห็น