xs
xsm
sm
md
lg

ณ อุรุพงษ์พลังและอำนาจของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

ประเทศไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ. ศ. 2475 เป็นต้นมายาวนานถึง 81 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีหลักการปกครองหรือระบอบที่แท้จริง มีแต่เพียงวิธีการปกครองเท่านั้นคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในความเป็นจริงอำนาจอธิปไตยกลายเป็นของนักการเมืองและกลุ่มทุนเพียงหยิบมือเดียว จึงได้เสนอหลักการปกครอง หลักที่ 3 ให้ท่านทั้งหลายพิจารณา ดังนี้

หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (Popular Sovereignty) เป็นหลักการปกครองหลักที่ 3 ของหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 อันสำคัญข้อหนึ่งในการปกครองแบบสมัยใหม่ และในรูปแบบรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่ารัฐชาติ (Nation state) สำหรับประเทศไทยองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาความเป็นรัฐชาติไทยขึ้นในสมัยของพระองค์ (พ.ศ. 2434) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดเอกภาพขึ้นแก่ประเทศ

อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองของประเทศหรือรัฐ แบ่งออกเป็น2 ด้าน 2 ลักษณะได้แก่

1) อำนาจอธิปไตยด้านชาติ คืออำนาจในการปกครองประเทศของตนอย่างอิสระในบูรณภาพแห่งดินแดน ไม่ถูกครอบงำจากต่างประเทศ เป็นอำนาจที่สัมพันธ์อย่างอิสระระหว่างรัฐหรือระหว่างประเทศด้วยกัน

2) อำนาจอธิปไตยของปวงชน อำนาจอธิปไตยด้านชาติจะเข้มแข็งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจอธิปไตยของปวงชนอำนาจอธิปไตยของปวงชนเข้มแข็งอำนาจอธิปไตยด้านชาติก็จะเข้มแข็งด้วยอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้ประเทศชาติเข้มแข็งไม่ถูกแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจได้โดยง่าย และนานาประเทศต้องเกรงขามในความเป็นเอกภาพของปวงชนในชาติ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าประเทศใด อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริงหรือเป็นของชนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียว จะทำให้อำนาจอธิปไตยด้านชาติอ่อนแอ จะถูกแทรกแซงได้ง่ายจากนานาประเทศและประเทศจะเต็มไปด้วยนักการเมืองขี้โกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง

ตามสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยเป็นของนักการเมืองและกลุ่มทุนเพียงหยิบมือเดียว ถ้าพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแต่ในความเป็นจริงอำนาจอธิปไตยตกเป็นของนักการเมืองและกลุ่มนายทุนสนับสนุน แม้จะเขียนไว้ใน มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ก็ตาม นั่นเป็นการเขียน เพื่อตบตาหลอกลวงประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนทั่วไปไม่มีอำนาจอธิปไตย กลายเป็นประชาชนชั้นสอง เพราะไม่มีสิทธิในการสมัคร ส.ส. อย่างอิสระ พวกเขาจึงไม่มีสิทธิใช้อำนาจในการปกครองตนเอง จะเห็นได้ว่าการเมืองของกรรมกร ชาวนา จึงไม่ได้รับการพัฒนา กลายเป็นทาสทางการเมืองของคณะกลุ่มนายทุน ทั้งที่พวกเขาต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และเสียภาษีให้กับรัฐ แต่กลับถูกหลอกและถูกบังคับให้ไปเลือก ส.ส.ดุจวัวถูกบังคับให้เสือเป็นจ่าฝูง ถูกเสือหลอกอย่างซ้ำซากแล้วเสือก็กินเอาๆ

การเลือกตั้งเป็นเพียงรูปแบบ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นความชอบธรรม ทั้งๆ ที่ผิดไปจากสาระแก่นสารอย่างแท้จริง การบังคับให้ประชาชนไปเลือกตั้งว่าเป็นหน้าที่ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นสิทธิ และเป็นจิตสำนึกโดยชอบธรรมของประชาชน ประชาชนเต็มใจเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ไปเลือกกัน เห็นว่าไปเลือกแล้วประเทศชาติเสียหายก็ไม่ไปเลือก เมื่อเลือกเข้าไปแล้วรัฐบาลไหนๆ ก็ล้วนแล้วแต่ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันทั้งนั้น

ในทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ประชาชนต้องมีสิทธิและสำนึกโดยชอบธรรมในการที่ปกครองตนเอง เมื่อพวกเขาไม่ถนัดหรือไม่พร้อมด้วยเหตุใดๆ พวกเขาจึงได้เลือกตัวแทนของตน (ส.ส.) ไปทำหน้าที่แทนตน เสมือนตนเป็นผู้ทำหน้าที่เอง ในทำนองเดียวกันการที่เราได้แต่งตั้งทนายความ เพื่อเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของเราต่อสู้คดีความฟ้องร้องต่างๆ การที่เรามีอำนาจแต่งตั้งทนายความได้ เพราะเรามีสิทธิอำนาจอันชอบธรรมนั่นเอง

ฉะนั้นอำนาจของระบอบการปกครองปัจจุบัน (ระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญระบบรัฐสภา) บังคับให้ประชาชนไปเลือกตั้งผู้แทน (ส.ส., ส.ว.) จึงเป็นการกระทำที่เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นความเห็นผิดที่ร้ายแรงต่อชาติ เป็นการหลอกลวงประชาชนค่อนประเทศ ทั้งเป็นการทำลายจิตสำนึกอันสูงส่งในการรับผิดชอบต่อประเทศร่วมกัน พวกผู้ปกครองหลอกประชาชนมาตลอด การกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการบั่นทอนทำลายประเทศชาติและประชาชน เลือกตั้งแต่ละครั้ง พวกเขาใช้เงินซื้อเสียงอย่างมหาศาลหวังอำนาจทางการเมือง แล้วเข้าไปคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ปล้นชาติ กดขี่ประชาชนอย่างแยบยล ดุจปลวกกินบ้าน จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า กระบวนการทรยศต่อประเทศชาติ

พวกผู้ปกครองรุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ต้องการให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เพราะกลัวประชาชนจะมีความสำนึกต่อประเทศชาติอย่างแรงกล้า พวกเขาก็จะไม่มีโอกาสคอร์รัปชัน, ฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือโกงกินชาติบ้านเมืองไม่ได้ถนัด พวกเขาต้องทำให้ประชาชนอ่อนแอ ทั้งป้องกันไม่ให้ประชาชนเรียนรู้การเมืองที่ถูกต้อง

ประเทศชาติ อำนาจอธิปไตย และการเมืองเป็นของทุกคน จึงไม่ควรแบ่งฝ่าย อุปมา ประชาชนดุจดังวัว จะเลือกวัวเป็นจ่าฝูงก็ไม่ได้ แต่กลับถูกบังคับให้ไปเลือกเสือ สิงห์ จระเข้ เป็นผู้ปกครอง และที่รัฐบาลกำลังยุ่งยากเข้าตาจนทุกวันนี้ก็เพราะระบอบปัจจุบันแท้จริงอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนอย่างแท้จริงนั่นเอง

อำนาจอธิปไตยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นของพระมหากษัตริย์แต่เมื่อถูกปล้น (รัฐประหาร) อำนาจอธิปไตยตกมาเป็นของนักการเมืองกลุ่มทุนในนามการปกครองแบบเผด็จการรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน แต่หลอกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย และองค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงอยู่ใต้กฎหมายด้วยสิทธิอันชอบธรรมในฐานะองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ยังทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทางด้านองค์การปกครองคือทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อพระองค์ทรงต้องการใช้เพื่อความมั่นคงของชาติและปวงชน สัมพันธภาพระหว่างประมุขแห่งรัฐกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน ย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือเป็นลักษณะทั่วไป (Comprehensiveness) คือครอบคลุมองค์รวมทั้งประเทศในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดและมีความเด็ดขาด (Absoluteness) มีความถาวร (Permanence) แบ่งแยกมิได้ (Indivisibility) และมีลักษณะทั่วไป (General power) คือครอบคลุมอำนาจอื่นที่ต่ำกว่าอำนาจอธิปไตยทั้งหมด เช่น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจลักษณะเฉพาะที่แตกต่างหลากหลาย และเป็นอำนาจชั่วคราว ตามวาระ4 ปี เป็นต้น

ประมุขแห่งรัฐ ย่อมมีความชอบธรรมสูงสุดในการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อแก้ไขเหตุวิกฤตสำคัญๆ ของชาติ ซึ่งองค์กรอำนาจอื่นไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น อำนาจในการยุติการจลาจลทางการเมือง อำนาจในการยุติสงครามกลางเมือง หรือสงครามระหว่างประเทศ, และการใช้อำนาจในการแก้ไขเหตุวิกฤตแห่งชาติทั้งนี้โดยองค์ประมุขแห่งรัฐทรงใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นธรรมสูงสุด หรือเป็นธรรมาธิปไตย โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งชาติและความผาสุกของปวงชนเป็นสิ่งสูงสุด

ประมุขแห่งรัฐมีอำนาจลักษณะทั่วไป ดังกล่าวนี้แล้วและอาจจะใช้อำนาจดังกล่าวนั้น แก้ไขเหตุวิกฤตชาติเมื่อคราวจำเป็น เรียกอำนาจนั้นว่า “ธรรมาธิปไตย”

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยกับประชาชน ถือกันโดยทั่วไปในรัฐสมัยใหม่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนมีลักษณะทั่วไปดังที่กล่าวแล้วข้างต้นแต่ประชาชนมีลักษณะเฉพาะ (Individual) อันแตกต่างหลากหลาย ผลในทางปฏิบัติที่จะสร้างความเป็นเอกภาพจากหน่วยย่อยจากความแตกต่างหลากหลายของประชาชนทุกหมู่เหล่า ให้มีความสำนึกรับผิดชอบร่วมกันในความเป็นชาติ เป็นรัฐเป็นประเทศ และความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของประเทศ จึงต้องรวมศูนย์อำนาจอธิปไตยหรือเอกภาพอำนาจอธิปไตยของปวงชนตามลักษณะพิเศษของประเทศไทย ให้รวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ (แห่งราชอาณาจักรไทย)

ฉะนั้นผู้รับผิดชอบต่อประเทศชาติหรือผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน ก็คือการเข้าใจเรื่องหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั่นเองนักการเมืองแท้มีความจริงใจต่อประเทศชาติ จะไม่ละเลยเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน

การสร้างสำนึกต่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อันเป็นอำนาจที่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันทุกคนนั้น สำหรับประเทศไทยแล้วยังนับว่าน้อยมาก ผลพวงจากการที่ประเทศไทยละเลยเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน จึงทำให้อำนาจอธิปไตยด้านชาติอ่อนแออย่างเป็นไปเอง และส่งผลกระทบระยะยาว ประเทศไทยได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้าน และแต่ละด้านก็ยากที่จะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ เช่น

1) กรณีพิพาทดินแดนระหว่างเพื่อนบ้าน เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศเขมร ลาว มาเลเซีย และพม่า

2) ถูกครอบงำทางการเมือง การเมืองปัจจุบันเป็นการเมืองที่เรียกว่า “ตัวเป็นไทยแต่ใจเป็นฝรั่ง” เมื่อระบอบการเมืองถูกครอบงำเสียแล้วการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษาสังคมประเพณีวัฒนธรรม ตามลำดับ ล้วนถูกครอบงำอย่างเป็นไปเอง จะส่งผลร้ายออกไปทุกทิศทางและยากที่จะแก้ไข

3) จิตสำนึกที่ถูกละเลยในความเป็นชาติ ละเลยความเป็นคนไทย ผลที่ตามมาคือประชาชนไม่รักชาติ ไม่มีความมุ่งมั่น ไม่ขยันอดทนเรียนหนังสือหรือทำหน้าที่ ไม่อุทิศตนให้กับประเทศชาติ ประชาชนขาดจิตสำนึกดำเนินชีวิตอย่างตัวใครตัวมัน ไม่สอดส่อง ไม่สังเกต ไม่แจ้งข่าวร้าย ไม่ช่วยกันยุติการกระทำที่ชั่วร้ายเลวทรามที่เป็นผลร้ายต่อประเทศชาติและเพื่อนร่วมชาติจึงเป็นสภาพความอ่อนแอ และอ่อนล้า ล้าหลังลงไปเรื่อยๆ

4) ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ เหตุที่แท้จริง เงื่อนไขที่ดำรงอยู่ก็คืออำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนนั่นเอง ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง เหมือนลิงแก้แห เพราะความโง่เขลาของรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า เก่งแต่แก้ปัญหาปลายเหตุ “รัฐบาลมีอำนาจ แต่ไม่มีประสบการณ์” เป็นเช่นนี้มาทุกรัฐบาล

5) รูปธรรมที่เป็นผลจากอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน ด้านอื่นๆ ที่เห็นกันได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันอย่างหนักหน่วงในเวลานี้คือ ปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างหนัก ข้าวของแพง โสเภณีในหลายรูปแบบ ยาบ้าเต็มบ้านเมือง หวยเถื่อนแหล่งอบายมุขต่างๆเยาวชนบ้ากามตั้งแต่อายุน้อยๆ บ่อนการพนันมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ปัญหาความเห็นแก่ตัวของคนในสังคม ตลอดทั้งปัญหาสังคมทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล้วนแล้วแต่ทำลายเยาวชนไทยทั้งสิ้น

เมื่ออำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง ก็เท่ากับว่าระบอบไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงหลอกๆ ผู้ปกครองบิดเบือนและโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยเพื่อความชอบธรรมแก่พวกเขานั่นเอง

ปัญหาอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน คือปัญหาหลัก เป็นปัญหาพื้นฐานของชาติอีกข้อหนึ่ง อันเป็นเหตุแห่งความวิกฤตชาติทั้งปวง และเป็นเหตุแห่งความอ่อนแอของชาติ และการที่จะแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วงผ่านพ้นไปได้ด้วยความถูกต้อง เพื่อความสงบสุขร่วมกันของปวงชนชาวไทยกลับคืนมา

ดังจะเห็นว่ามีเพียงทางเดียวคือ การขอพระบารมีพระบรมเดชานุภาพแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะยับยั้งยุติความเลวร้ายของแผ่นดินลงได้ โดยทรงสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม สมดัง พระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อย่างยั่งยืนสืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น