xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแชมป์สืบทอดอำนาจ ตระกูลการเมืองชินวัตร-พท.ฉาว ปชป.ไม่น้อยหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันพระปกเกล้าเผยผลวิจัย ไทยนำโด่งอันดับ 1 ที่มี "ตระกูลการเมือง" สืบทอดอำนาจมากที่สุดในโลก "เพื่อไทย" มีตระกูลการเมืองได้รับเลือกตั้งเข้ามากที่สุด 19 ตระกูล รองลงมา ปชป. 17 ตระกูล ขณะที่ตระกูล "ชินวัตร" เข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2512 นักวิชาการหวั่นการสืบทอดอำนาจ ผ่านตระกูล จะทำเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม มากกว่าส่วนรวม

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ได้เปิดเผยงานวิจัย เรื่อง "ตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก" พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนตระกูลการเมืองสูงกว่าประเทศที่ได้ชื่อว่า ตระกูลการเมืองมีบทบาทสำคัญอย่างเม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ร้อยละ 2 ร้อยละ 5 และร้อยละ 9 ตามลำดับ และเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าอาร์เจนตินา และสหรัฐอเมริกา ถึง 4 และ 7 เท่าตามลำดับ

หากเปรียบเทียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 ที่มีคนในตระกูลเดียวกันเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน และเปรียบเทียบกับประเทศอื่น พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 42 ตามด้วยเม็กซิโก ร้อยละ 40 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 37 ญี่ปุ่นร้อยละ 33 อาร์เจนตินา ร้อยละ 10 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 6

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างตระกูลการเมือง ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาสืบทอด และแผ่ขยายอาณาจักรทางการเมือง ช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา ได้แก่ ตระกูลชินวัตร ที่มีการวางรากฐานทางการเมืองมาตั้งแต่สมัย นายเลิศ ชินวัตร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พ.ศ.2512 และส่งต่อความสำเร็จมายัง นายสุรพันธ์ ชินวัตร น้องชายนายเลิศ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 4 สมัย (พ.ศ.2522, 2526, 2529, 2531) ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาสานต่อ และแผ่ขยายอิทธิพลของตระกูล จนมีสมาชิกของตระกูลก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ) และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นอกจากนี้ สมาชิกตระกูลชินวัตร ยังประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งส.ส.มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2544 อีกหลายคน อาทิ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ตระกูลแยกเป็นรายพรรค จะพบว่า พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่มีตระกูลการเมืองได้รับเลือกตั้งเข้ามากที่สุด รวม 19 ตระกูล รองลงมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 17 ตระกูล พรรคภูมิใจไทย 4 ตระกูล พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ตระกูล พรรคพลังชล 1 ตระกูล และพรรครักประเทศไทย 1 ตระกูล

หากพิจารณาในแง่สัดส่วน จะพบว่า พรรคชาติไทยพัฒนา มีสัดส่วนของ ส.ส.ที่มีคนในตระกูลเดียวกันได้รับเลือกต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสูงที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 31.6 รองลงมาเป็นพรรคพลังชล ร้อยละ 28.6 พรรครักประเทศไทย ร้อยละ 25 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22 พรรคภูมิใจไทยร้อยละ 17.6 และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 15.1

ผลวิจัยยังระบุว่า ความยากลำบากในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นลูก และความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งของตระกูลนักการเมืองใหญ่บางตระกูล เช่น ตระกูลขจรประศาสน์ และ ตระกูลอังกินันท์ ในการเลือกตั้งปี 2548 ตระกูลคุณปลื้ม ในการเลือกตั้งปี 2550 ตระกูลฉายแสง และตระกูลตันเจริญในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งคำถามกับอิทธิพลและบทบาทของตระกูลการเมืองเก่าๆ ที่มีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้ง

ดังนั้นภาพการกำกับ และควบคุมพรรคการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จของตระกูลนักการเมือง ในพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรค เช่น ตระกูลชินวัตร ในพรรคเพื่อไทย ตระกูลศิลปอาชา ในพรรคชาติไทยพัฒนา ตระกูลชิดชอบ ในพรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่ตระกูลคุณปลื้ม ในพรรคที่เกิดใหม่อย่างพรรคพลังชล จึงเป็นภาพสะท้อนของความต่อเนื่องในบทบาท และอิทธิพลที่ตระกูลนักการเมืองใหญ่มีต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย

ยิ่งไปกว่านั้นการปรากฏตัวของนักการเมืองหน้าใหม่ ที่เป็นลูกหลานในตระกูลนักการเมืองสำคัญในพื้นที่ ซึ่งมิได้อยู่ภายใต้อิทธิพลแบบอุปถัมภ์ของตระกูลโดยตรง แต่เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคมีฐานเสียงหนาแน่น เช่น กรณีของผู้สมัครนามสกุลเทียนทอง นามสกุลบรรทัดฐาน และนามสกุลพร้อมพันธุ์ ในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ได้ช่วยตอกย้ำว่า อิทธิพล และบทบาทของตระกูลนักการเมืองมิได้ลดลงหรืออาจจะเพิ่มขึ้น หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบที่ซ้ำซ้อนมากกว่าในอดีตเสียอีก การอยู่ร่วมกับตระกูลนักการเมืองอย่างเท่าทัน และเอาใจใส่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ที่สำคัญผลการศึกษายังพบด้วยว่า นักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูล ที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน น่าจะมีสัดส่วนสูงกว่านักการเมืองที่ไม่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูล เพราะนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูล สามารถอาศัยความได้เปรียบต่างๆ เป็นสะพานเชื่อมได้ทันที และสิ่งที่ต้องติดตามคือ สายสัมพันธ์ระหว่างตระกูล อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง.
กำลังโหลดความคิดเห็น