xs
xsm
sm
md
lg

สับ"แม้ว"ส่งกวป.กดดัน ศาลรธน.ฟัน”สภาผัวเมีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(7 ต.ค.56) นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าในวันที่ 8-9 ต.ค.นี้ อาจจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว. เข้าสู่วาระการประชุมของคณะตุลาการฯ เพื่อพิจารณาตรวจสอบ ทั้งนี้ แนวทางการวินิจฉัยจะพิจารณาจากข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายว่า คำร้องที่ยื่นมานั้นจะมีเหตุผลใดที่ทำให้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมยอมรับว่า การพิจารณาวินิจฉัยร่างฯ ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และถือว่าเป็นคดีต่อเนื่องที่ต้องนำมาพิจารณาไปตามกระบวนการ ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมจะมีวาระคดีการเมืองที่สำคัญอีกหลายคดีที่จะนำมาพิจารณาด้วย
ส่วนกรณีที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จะต้องส่งความเห็นมายังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 154 เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายเชาวนะ ระบุว่า อยู่ระหว่างการรอรวบรวมคำชี้แจงข้อกล่าวหา และเมื่อข้อมูลพร้อมพิจารณา ศาลก็จะนัดวินิจฉัยลงมติได้ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 11 ต.ค. โดยมีวาระสำคัญ เรื่องวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237) ตามลำดับ
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า การประชุมครั้งต่อไป จะต้องสรุปและเข้าสู่เนื้อหาสาระของ ร่าง พ.ร.บ.ให้ได้ เพราะว่าการพิจารณาของคณะกรรมาธิการผ่านมา 7 ครั้ง หรือเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดเนื้อหาเลย เนื่องจากกรรมาธิการฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยบางส่วนตีรวน
"ส่วนตัวผมยังเชื่อว่าจะดำเนินการเสร็จทันภายในสมัยประชุมนี้ โดยจะเสนอให้ประธานกรรมาธิการฯ เอาโมเดลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาใช้ ซึ่งถ้าพูดวกวนซ้ำซาก ก็ปิดอภิปรายไม่ต้องพูด เพราะพูดไปก็วกมาเรื่องเดิมๆ โดยเฉพาะเรื่องกรอบเวลาว่าจะย้อนไปนิรโทษกรรมเมื่อใด และสิ้นสุดเมื่อใด" นพ.เชิดชัย กล่าว
น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพฤติกรรมของประธานวิปรัฐบาล พบว่ามีการประชุมของพรรครัฐบาล มุ่งนำกฎหมายที่มีปัญหาดำเนินการให้เสร็จภายในสมัยประชุมนี้ โดยมีความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่วาระการประชุมแบบกระชั้นชิด เพราะมีพฤติกรรมผิดสังเกตอย่างชัดเจน จึงขอเตือนประชาชน และรัฐบาลว่า การยัดเยียดวาระที่เป็นปัญหาทางการเมือง และเป็นความขัดแย้งในสังคม โดยไม่ให้ฝ่ายเห็นต่างได้หายใจ ชัดเจนว่าสภาชุดนี้มีพฤติกรรมเผด็จการอย่างชัดเจน จึงขอเตือนนายกฯว่า ควรระมัดระวังในการดำเนินการผลักดันเรื่องเหล่านี้ เว้นช่องว่างให้สังคมขบคิด รับฟังเสียงรอบด้านด้วย หากมีการนำเข้าวาระในสมัยประชุมนี้ จะทำให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นอย่างรุนแรง จนคนไทยไม่ได้เฉลิมฉลองในช่วงการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นายกฯ ควรหยุดสร้างปัญหา อย่าพายเรือให้คนที่สร้างความขัดแย้งต่อไปเรื่อยๆ
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ให้นายกฯทูลเกล้าภายใน 20 วัน นับจากได้รับร่างกฎหมายจากสภา และทูลเกล้าฯ เพื่อประใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่นายกฯ กลับเร่งทูลเกล้าฯทันที ที่รัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา จึงเป็นความไม่เหมาะสมเพราะกฎหมายนีี้มีปัญหา ถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงควรรอให้ครบกรอบ 20 วันก่อน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมรูญยังไม่วินิจฉัย นายกฯ ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯจึงจะถือว่าเป็นการสมควร เพราะการนำขึ้นทูลเกล้าฯในขณะที่กฎหมายยังมีปัญหา เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ตนคิดว่า คนระดับนายกฯ น่าจะรู้ว่า ไม่สมควรอย่างไร จึงขอตำหนิในเรื่องนี้ ที่ดำเนินการนำ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ในครั้งนี้
ส่วนกรณีที่รัฐบาลออกมาสร้างกระแส ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้มวลชน และคนในรัฐบาล คุกคามศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเรื่องนี้ เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ รัฐบาลไม่ควรสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนเข้าใจผิดในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนญ จนบานปลายในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากศาลธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว อยากให้รัฐบาลยอมรับคำวินิจฉัยซึ่งถือว่าเป็นที่สุด บ้านเมืองจะได้เดินหน้าได้ ด้วยระบบนิติรัฐ นิติธรรม แต่ถ้ายังกดดัน สร้างความเข้าใจผิดต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะเกิดความไม่สงบในบ้านเมืองในอนาคต จึงขอให้ไตร่ตรองว่ารัฐบาลมีหน้าที่ก่อให้เกิดความสงบ ไม่ใช่สร้างปัญหาให้บ้านเมือง
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า กรณีกลุ่มสื่อวิทยุชุมชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.เคลื่อนไหวกดดันให้ นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาออกกรณีลูกชายไปเรียนต่อต่างประเทศแต่ยังรับเงินเดือนสำนักงาน เป็นการกดดัน และได้คืบเอาศอกมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือในตัวองค์กรศาลด้วย เพราะเครือข่ายคนเสื้อแดงรู้ดีว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการที่มิชอบ
การเคลื่อนไหวของ กวป. เป็นไปตามการส่งสัญญาณของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ระบุว่า 8 ตุลาคม จะมีขบวนการล้มรัฐบาลผ่านองค์กรอิสระ การเคลื่อนไหวของ กวป.คงได้รับการสนับสนุนจากทั้งพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล รวมทั้งนปช. แต่ต้องยืมมือกวป. เพราะเกรงว่าอาจโดนข้อครหาแทรกแซงอำนาจตุลาการ จนเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้
ทั้งนี้หากเสื้อแดงจะตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติ เช่น กรณีของ นายชัช ชลวร ที่เคยลงมติไม่รับคำร้องคัดค้านร่างแกัไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ยอมถอนตัวจากกระบวนการไต่สวนวินิจฉัย ซ้ำร้ายยังมีกรณีอื้อฉาว โดยอดีตเลขานุการนายชัช คือนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ กรณีจัดฉากวิ่งเต้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และตอนนี้ได้ลาออกมาช่วยงานพรรคเพื่อไทย เต็มตัวแล้ว
ดังนั้นคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ควรโต้แย้งที่คำวินิฉัย ซึ่งมีสิทธิ์ทำได้ ไม่ใช่ไม่ได้ดั่งใจก็เหมารวมโจมตีตัวองค์กร เช่น กรณีคำวินิจฉัย 8:0 ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 57 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ก็สะท้อนชัดเจนว่า ตุลาการมีความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้บงการของอำมาตย์ หรือคอยจ้องล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดง แนะคนอื่นเคารพกติกาไม่ถืออีโก้หรืออัตตา ก็ควรทำเป็นแบบอย่างให้คนอื่นยอมรับด้วย
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จะมีขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนหรือไม่ ว่า ต้องให้วิปรัฐบาลหารือกันก่อนในวันที่ 7 ต.ค.ว่า จะกำหนดเป็นวันใด ส่วนการหารือถึงกรอบ วันพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตรา 237 นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของวิปรัฐบาลด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า การพิจารณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่น่าหนักใจ โดยเฉพาะ วาระ 2 คงใช้เวลาไม่มาก แต่มองว่า มาตรา 68 และ มาตรา 237 จะเป็นปัญหามากกว่า เพราะฝ่ายค้าน และกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่าจะทันการพิจารณาในสมัยประชุมนี้หรือไม่ เพราะยังมีกฎหมายที่ค้างพิจารณาอยู่อีกหลายฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น