xs
xsm
sm
md
lg

เผด็จการ “พาลแว่นฟ้า”

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

เรื่องรางวัลพานแว่นฟ้า ยังไม่จบเพราะอ่านคำชี้แจงของกรรมการกลางและความเห็นส่วนตัวของกรรมการอีกหลายคนแล้วก็ยิ่งลงเหวลงห้วยไปใหญ่

ผมจะไม่โยงกลับไปที่ความขัดแย้งของคณะกรรมการในชุดแรก จนคณะกรรมการจำนวนหนึ่งได้ลาออกไป เพราะไม่พอใจ “ท่าที” ของคณะกรรมการที่มาจากคนเสื้อแดง

เพราะแม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งในครั้งนั้น ภายหลังก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ทดแทน ผมไม่ทราบนะครับว่า เสียงส่วนใหญ่ที่แต่งตั้งในภายหลังจะเป็นคนเสื้อแดงหรือไม่ แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า คนที่เป็นนักเขียนโดยจิตวิญญาณแล้วต้องมีความยุติธรรมอยู่ในหัวใจ

ผมอยากบอกด้วยว่า งานนี้ไม่เกี่ยวกับ “เสื้อเหลืองหรือแดง” หรือ “ความเป็นเพื่อน” แบบที่ “ขาใหญ่” รายหนึ่งบอกให้ละๆ กันไว้ แต่เป็นเรื่องของความถูกต้องและหลักการ

ผมมุ่งประเด็นไปที่การถกเถียงกันว่า บทกวีที่ชนะการประกวดนั้นทำผิด “กติกา” หรือไม่ และ “กติกา” เป็นสิ่งที่เราต้องยึดถือหรือไม่

กติกาบอกว่าให้ส่งบทกวีเข้าประกวด 6-12 บท แต่กรรมการตัดสินให้บทกวีที่มีความยาว 14 บทครึ่งได้รางวัล โดยกรรมการแถลงอ้างว่า ได้มีการพูดคุยกันภายในว่า ให้ “อนุโลม” ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะสาธารณชนไม่ได้รับรู้เรื่องอนุโลมด้วย เช่น ชกมวยมันมีกติกาของมันอยู่ๆ กรรมการคุยกันภายในว่า จะอนุโลมให้คู่ต่อสู้ชกใต้เข็มขัดหรือกระทุ้งไข่กันได้ แต่นักมวยไม่ได้รู้เรื่องด้วย แล้วบังเอิญมีนักมวยคนหนึ่งไปกระทุ้งไข่คู่ต่อสู้ลงไปนอนกอง แทนที่กรรมการจะจับคนกระทุ้งไข่แพ้ฟาล์ว กลับไปยกมือให้คนกระทุ้งไข่ชนะ พอคนดูโวยก็บอกว่า กรรมการคุยกันภายในว่า “ให้อนุโลม”

ที่มันตลก คือ มีกรรมการคนหนึ่งในนั้น ท้วงติงด้วยแล้วว่า บทกวีชิ้นนี้ทำผิดกติกา แต่ก็ถูลู่ถูกังลากบทกวีชิ้นนี้มาขึ้นแท่นจนได้

สำหรับผมแล้ว ถ้าตัดสินด้วยหัวใจที่เป็นธรรม เมื่อบทกวีเรื่อง “เบี้ย” ผิดกติกาที่ตั้งไว้ก็ต้องไม่ผ่านการพิจารณาตั้งแต่ต้น เพราะมันไม่ยุติธรรมกับคนที่เขียนตามกติกา ตัดไปบทสองบทให้เหลือตามกติกาคุณค่าของบทกวีนี้อาจจะน้อยลง หรือถ้าคนอื่นเขียน 14 บทบ้างคุณค่าของเขาก็อาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นเห็นชัดว่ามัน “ไม่แฟร์”

มีการอธิบายอยู่เหมือนกันว่า มีความพยายามของกรรมการอยู่ก่อนแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องความยาวของบทกวี แต่นั่นไม่ใช่สาระที่ควรจะนำมายึดถือหรือนำมาอ้างได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า “กติกา” ที่เราประกาศต่อสาธารณชนไปอย่างไรนั่นต่างหาก

ยิ่งถ้าเราเป็นพวกเชื่อมั่นในความถูกต้อง รักความยุติธรรม ยึดถือความเท่าเทียมกัน ความเสมอภาค เกลียดการฉีก “กติกา” ด้วยอำนาจที่เหนือกว่า เรายิ่งจะต้องยอมรับกฎกติกาที่ตั้งเอาไว้

ผมอ่านที่เวียง-วชิระ บัวสนธิ์ ที่คนส่วนใหญ่ในวงการวรรณกรรมยกเขาว่าเป็น “ดอน” พยายามอธิบายในเฟซบุ๊กของเขาถึง “ปมปัญหา” ของบทกวีชิ้นนี้ ที่มีคนทักท้วงว่าผิดกติกาโดยนอกจากสำนวนโวหารแล้วก็จับประเด็นได้ว่า กรรมการมีการอภิปรายกันหลายร้อยนาที แล้วเสนอให้มีการลงมติด้วยการยกมือ เวียงบอกว่าเท่าที่เห็นมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่บอกว่า บทกวีชิ้นนี้ “ผิดกติกา”

ผมท้วงติงไปว่า ฟังไม่ขึ้นเลย และไม่เห็นว่า เสียงข้างมากจะทำให้เรื่องผิดกลายเป็นถูกได้อย่างไร

ในขณะที่การถกเถียงในเฟซของ “ดอน” เป็นไปด้วยเหตุและผล ต่อมาทองธัช เทพารักษ์ กรรมการคนหนึ่งของรางวัลพานแว่นฟ้า ได้วาดรูป “ชูนิ้วกลาง” มาต่อท้ายความเห็นของผม ในรูปนั้นยังมีอักษรตัวใหญ่ว่า “ค-ว-ย”

นอกจากเรื่องผิดกติกาแล้ว พอพูดถึงคุณค่าของบทกวียิ่งไปใหญ่ กรรมการแถลงตะแบงว่า

“ส่วนประเด็นผิดฉันทลักษณ์ ที่ประชุมเห็นว่า บทกวีเรื่องเบี้ยเป็นบทกวีที่ไม่เคร่งฉันทลักษณ์แบบแผน ในทำนองเดียวกับวรรณกรรมมุขปาฐะ และเพลงร้องของคนไทยที่มีมาช้านาน แบบแผนฉันทลักษณ์ซึ่งเป็นข้อกำหนด เป็นเพียง “ฉันทะ” หรือความพอใจของคนกลุ่มเดียว ไม่ใช่ตัวกำหนดคุณค่าของบทกวี”

มันจะเป็นอย่างนั้นได้ไง ดูก็รู้แล้วว่า คนเขียนตั้งใจจะเขียนเป็นกลอนแบบยึดในรูปแบบและฉันทลักษณ์ ไม่ใช่กลอนเปล่า เมื่อมันเป็นกลอนฉันทลักษณ์ก็ต้องยอมรับ “โทษทางรูปแบบด้วย”

ที่ตลกกว่านั้นคือ มีการแถลงทำนองว่า อนุโลม ตามความเห็นร่วมกัน กรรมการชุดนี้มองโลกแบบกวีไม่ใช่ครูภาษาไทย แต่มองเนื้อหาเป็นหลัก

ไปดูถูกครูภาษาไทยเขาอีก

ทั้งนี้ทั้งนั้นที่เขียนมานี่ไม่ได้มีปัญหากับคนที่ได้รางวัลนะครับ เพราะการตัดสินเป็นเรื่องของกรรมการไม่เกี่ยวกับคนเขียน

แม้ว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า บทกวีชิ้นนี้ ไม่คู่ควรที่จะได้รับรางวัล เพราะเท่าที่ผมอ่านดูผมไม่รู้นะครับว่า ใครบางคน? ข้าคือเบี้ย? คนที่รัก? สหาย? ท่านพี่? คุณ? ผู้รู้? สรรพนามเหล่านี้หมายถึงใคร ผมรู้สึกว่าบทกวีชิ้นนี้นั้นมันสับสนวกวนอยู่ในตัว

สำหรับผมแล้ว บทกวีชิ้นนี้ไม่โดดเด่นตรงไหนเลย ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และการใช้ภาษา กระทั่งการใช้โวหารสัญลักษณ์ กระดานหมากรุก ก็ไม่ชัด

แต่ผมไม่ได้เอา “รสนิยมส่วนตัว” มาตัดสินว่า บทกวีชิ้นนี้ไม่ควรจะได้รับรางวัลนะครับ เพราะ “รสนิยม” และ “ความสามารถในด้านกวี” ของผมอาจจะห่วยแตก เทียบไม่ได้กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ประเด็นของผมจึงอยู่ที่ว่า มัน “ผิดกติกา” เพียงอย่างเดียว

ถ้าผมจะมีคำถามกับคนได้รางวัลอยู่บ้างก็คือ คุณคิดอย่างไรกับบทกวีที่ส่งประกวด ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกติกาตั้งแต่ต้น คุณคิดอย่างที่สมศักดิ์ เจียมฯ ตั้งคำถามไหมว่า เพราะคุณไม่สามารถเขียนให้จบใน 12 บทโดยคงความหมายเดิมไว้ได้ใช่หรือไม่

ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมฯ ที่เรียกร้องให้กรรมการชุดนี้รับผิดชอบด้วยการลาออก และให้รางวัลนี้เป็น “โมฆะ” และจริงๆ แล้วมีกรรมการคนหนึ่งบอกผมว่าจะลาออกด้วย แต่มีการห้ามปรามกันโดยอ้างว่า หลังจากตัดสินไปแล้ว กรรมการก็สลายตัวไปโดยปริยาย ซึ่งผมเห็นว่า ความหมายมันต่างกัน ผมก็เลยบอกกรรมการคนนั้นว่า ถ้าคุณไม่ลาออกก็ต้องร่วมรับผิดชอบผลที่ออกมาด้วย

แต่คงไม่มีผลอะไรเพราะเรื่องนี้รู้อยู่แล้วว่ายุคนี้พวกเขาใหญ่ กระทั่งมีการลากไปว่าพวกที่คัดค้านเป็นพวกเสื้อเหลืองที่สนับสนุนการล้มกระดาน นี่ดีที่สมศักดิ์ เจียมฯ ออกโรงด้วยไม่งั้นมันคงโยงไปว่า พวกที่ออกมาคัดค้านเป็นพวกล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์แน่ๆ

บางคนแดกดันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า แค่เขียนกวีเกินกติกาไป 2-3 บท ทำเป็นรับไม่ได้ แต่เขาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งรับได้ ถ้าผมจะย้อนว่า แค่บทกวี 2-3 บทยังโกงเลย แล้วถ้าเรื่องใหญ่กว่านี้ล่ะครับ

โดยสรุปก็คือ ผมอยากจะบอกว่า คำชี้แจงของกรรมการทั้งหมดทั้งที่เป็น “ทางการ” และ “ในนามส่วนตัว” นั้นมันฟังไม่ขึ้น เป็นเพียงการ “แถ-ลง” และ “แถ-ไป” เท่านั้นเอง

ผมยืนยันรางวัล “พานแว่นฟ้า” เป็นรางวัลของรัฐสภาไทยนะครับ ดังนั้นมันจึงเป็นรางวัลของคนไทยทุกคน แม้ภายหลังผมเห็นคนบางคนพยายามทำราวกับว่านี่เป็นรางวัลส่วนตัวของตัวเองและของ “พวกกู” ผมก็เห็นว่า ถึงเขาจะพยายามมันก็มีความหมายไปอย่างนั้นไม่ได้

เวลาคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ประณามฝ่ายตรงข้ามก็มักจะกล่าวหาว่า เป็นพวกสนับสนุนเผด็จการ แล้ววันนี้ที่พวกคุณอ้างเสียงข้างมากทำ “ผิด” ให้เป็น “ถูก” ละครับจะว่ายังไง
กำลังโหลดความคิดเห็น