ใครว่าตำรวจไทยทำงานล้าช้า คงต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ พิจานณาจากกรณี 2 สาว ที่โพสท่าถ่ายภาพล้อเลียน บริเวณด้านหน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในลักษณะ ยกเท้า ชี้นิ้วกลาง งานนี้เผยแพร่ทางโชเชียลมีเดียไม่ทันไร ทางฟากเจ้าหน้าที่ควานหาตัวออกมาประจานอย่างทันควัน แถมงานนี้มีหลักเด็ดที่ชี้ชัดว่าตำรวจใช้อำนาจหน้าที่คุกคามประชาชน!!!
กรำ ทีมข่าว การเมือง ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าจากกรณีเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.เคลื่อนขบวนผ่านบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมาปรากฏภาพถ่ายของกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้แสดงท่าล้อเลียนที่บริเวณป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมา พ.ต.อ.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ได้โพสต์ภาพหญิงสาวสองรายยกเท้า ชูนิ้วกลาง และแสดงสีหน้าล้อเลียนที่บริเวณป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Paisal Luesomboonพร้อมโพสต์ข้อความว่า
“อีน้องคนนี้มันหยามเหยียดเรามากเหลือเกิน ตราแผ่นดินก็ไม่เคยให้เกียรติ” ขณะเดียวกัน ใช้อำนาจความเป็นตำรวจสืบประวัติ พร้อมนำข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ของหญิงสาวทั้งสอง นำมาโพสต์ประจานผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมี พ.ต.ท.เด่นพงษ์ บุตรประเสริฐ เป็นผู้เสาะหาประวัติ ส่งให้ พ.ต.อ.ไพศาล ผ่านทางเฟซบุ๊ก
ขณะที่เฟซบุ๊กส่วนตัว พ.ต.อ.ไพศาล ก็นำเอาภาพประวัติส่วนตัวของผู้หญิงที่ตกเป็นข่าว โดยนำมาจากฐานข้อมูลทางราชการแล้วโพสต์ประจานอย่างไม่หวั่นเกรงว่าจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนแต่อย่างใด
แน่นอนว่า หญิงสาวทั้ง 2 คน ได้รับแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจขนาดนี้ก็น้อมรับในความผิดที่ได้กระทำ ส่วนคู่กรณีสีกากี ได้โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊กโฆษกตำรวจ Policespokesmen เป็นภาพหญิงสาว 2 คน เข้าขอขมาพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล สังกัดภาควิชาสังคมศาสตร์ วิจานณ์ว่า โดยหลักการถ้าเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชนในฐานข้อมูลทางราชการใช้ในหลักราชการรนั้นเรื่องที่เป็นไปตามครรลองอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนกลับนำข้อมูลตรงนี้ มาโพสต์ประจานผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
วิเคราะห์ตามบริบทแล้ว พฤติกรรมที่ผู้หญิง 2 คนนั้นกระทำถือเป็นความผิดลหุโทษ ตามกฎหมายอาญา ไม่ได้ผิดขั้นรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแต่พฤติกรรมดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนจิตใจบุคคลอื่น
ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ แสดงทัศนะว่า ส่วนหนึ่งถ้าตำรวจไม่ทำอะไรกับกรณีดังกล่าวเลย อาจจะเชื่อมโยงสู่ประเด็นทางการเมืองได้ กลายๆ ว่า ถ้าตำรวจไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้แสดงว่าเข้าข้าง
แต่ในประเด็นนี้ตำรวจดำเนินการนำตัวทั้ง 2 คนเข้าขมาพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มองได้ว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล
แต่ในประเด็นการนำข้อมูลส่วนตัวของประชาชนมาโพสต์แชร์เฟซบุ๊กส่วนตัว นั้นเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ต้องพิจานณาในวุฒิภาวะของตน ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ เสนอแนะทิ้งท้ายว่า ประชาชนสามารถฟ้องร้องทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวได้
“ตรงนี้เป็นพฤติกรรมที่เกินกว่าเหตุ ถ้าสืบสวนสอบสวนแล้วนำตัวผู้กระทำความผิดน่ะใช้ได้ เพราะฐานข้อมูล โปลิณใช้ลักษณะนั้น แต่ถ้าเอามาใช้ส่วนตัว ผ่านเฟซบุ๊กตัวเองมันเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหาย และเจ้าตัวสามารถฟ้องศาล ในเชิงละเมิดฯ สามารถเรียกค่าเสียหายได้อยู่แล้ว”
….........................
เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เล่นเฟซบุ๊กจะสบถแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวบนโซเชียลไม่ใช่เรื่องผิดแปลก แต่การที่นำข้อมูลส่วนตัวของประชาชนที่ได้มาจากการใช้อำนาจหน้าที่คุกคาม แม้ว่าเขาจะมีความผิดก็ตาม แต่การนำมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ไม่ว่าด้วยเจตนาใดแต่ในสถานะที่คุณเป็น 'ตำรวจ' การกระทำเช่นนี้ เป็นการรังแกประชาชนชัดๆ!
เรื่องโดย ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live