ในช่วงที่ผ่านมาข่าวฉาวจากรัฐสภาดูจะมีมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่กรณี ส.ส.ชูรองเท้ากลางสภา นาฬิกาเรือนละ 75,000 บาท จนถึง ส.ส.เล่นเกม แชต และดูรูปโป๊จากไอแพดกลางการประชุมสภา การวิพากษ์นักการเมืองในทางเสียหายนั้น เกิดขึ้นมาโดยตลอด จนหลายคนมองว่า นักการเมืองทุกคนเป็นคนเลว
อย่างไรก็ตาม ความคิดเหล่านั้นใช่ว่าจะไม่มีที่มา เมื่อตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเมืองกลับเป็นปัญหาสำคัญที่ขวางกั้นการพัฒนาของประเทศ พร้อมกับพฤติกรรมนักการเมืองที่ไม่เหมาะสม
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นก็เกิดขึ้นอีกในช่วงการประชุมสภาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ กลายเป็นกระแสรายวันกับเรื่องฉาวในสภา นับตั้งแต่ส.ส.ชูรองเท้ากลางสภา นาฬิกาเรือนละ 75,000 จนถึงภาพส.ส.เล่นเกม แชต และดูรูปวาบหวิว เกิดอะไรขึ้นกับรัฐสภาไทยในยุคนี้? แล้วเราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างถาวรได้อย่างไร?
แฉสภา ฉาวรายวัน
เรื่องฉาวชวนอับอายที่มาจากรัฐสภานั้น ที่ผ่านมาก็มีมาโดยตลอด ตั้งแต่กรณีกระโดดถีบของส.ส.คนเก่ง การุณ โหสกุล มหกรรมแย่งเก้าอี้ประธานสภา กระทั่งล่าสุดกับหลายกรณีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงประชุมสภาที่ผ่านมา
เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ชูรองเท้ากลางสภาของจ.ส.ต. ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ในระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยแก้ตัวว่า ที่ชูรองเท้านั้นก็เพื่อเตรียมจะออกวิ่งเพราะกลัวว่าจะถูกรุมทำร้ายจากพรรคประชาธิปปัตย์ และที่เอามาปิดหน้าก็เพื่อป้องกันหน้าของตัวเองหากเกิดอะไรขึ้น
หลังจากพฤติกรรมเสื่อมเสียไม่รู้จักโตของส.ส.คนดังกล่าว พร้อมข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นก็ทำให้มีการตั้งคำถามจากรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงครามพรรคประชาธิปปัตย์ ที่น่าสนใจว่า เหตุใดส.ส.ฝ่ายรัฐจึงไม่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบจริยธรรม?
กรณีต่อมาเกิดจากการแฉข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐสภาที่มีการใช้ซื้อนาฬิกาสำหรับดูเวลาในรัฐสภาสูงถึง 15 ล้านบาท ! โดยนาฬิกาทั้งหมดเป็นนาฬิกาหน้าปัดดิจิตอลติดฝาผนังมีทั้งหมด 200 เรือน ราคาตกเรือนละ 75,000 บาท! ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย และเมื่อนำนาฬิกาแบบดังกล่าวไปตรวจสอบก็พบว่า ราคาที่ขายจากหน้าเว็บไซต์ของนาฬิกายี่ห้อเดียวกันรุ่นที่ราคาแพงสุดนั้นอยู่ที่ 25,000 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้ ราคาของนาฬิกาที่แพงอย่างไม่น่าให้อภัยนั้น นุกูล สัณฐิติเสรี รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่โฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการควบคุมเวลาและการบริหารเวลาภายในรัฐสภาทั้งระบบ โดยงบประมาณ 15 ล้านบาทเป็นงบสำหรับการติดตั้งระบบนาฬิกาของรัฐสภามีการเชื่อมต่อกับดาวเทียมและระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งสัญญาณเวลาให้กับนาฬิกาเครื่องลูกข่ายทั้งหมด รวมถึงมีการ Back Up ระบบเวลาให้กับชุดควบคุมนาฬิกาหลักให้สามารถรักษาเวลาต่อเนื่องในกรณีไฟฟ้าดับได้ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง
อีก 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในการประชุมสภาช่วงที่ผ่านมาคือภาพของส.ส.ที่ใช้ไอแพดซึ่งเป็นแท็บเล็ตที่ได้รับแจกโดยใช้ภาษีของประชาชนเพื่อให้มาใช้ในงานราชการ แต่กลับมีภาพส.ส.นำไปใช้เล่นเกมและดูภาพโป๊ระหว่างประชุมสภาในเวลาที่ติดกันเกิดเป็นเรื่องเสื่อมเสียอีกครั้งของรัฐสภาไทย
หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคม ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทยก็ออกมายอมรับว่าเป็นคนที่อยู่ในรูปดังกล่าวจริง และแก้ตัวว่า ภาพที่เห็นตัวเองกำลังดูรูปโป๊อยู่นั้นเกิดจากกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับค่าขนส่งข้าวเพื่อนำมาถกเถียงพูดคุยในที่ประชุมสภาแต่ที่บังเอิญมือไปโดนหัวข้อแฟชั่นทำให้เกิดภาพดังกล่าว
แต่ข้อแก้ตัวดังกล่าวก็ถูกจับผิดพบว่าในภาพนั้นส.ส.หนองคายของพรรคเพื่อไทยกำลังขยายภาพดู นอกจากนี้ในโซเชียลมีเดียยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ภาพที่ปรากฏในจอแท็บแล็ตของร.ต.พงศ์พันธ์ ตรงกันอย่างพอดิบพอดีกับภาพที่เกิดจากการเข้าแอปพลิเคชันซาฟารี(สำหรับเข้าเว็บไซต์) แล้วเข้ากูเกิลค้นหาภาพแล้วเสิร์ชคำว่า “นางแบบสาวสวย” ต่อกรณีนี้ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ก็โพสต์ในเฟซบุ๊คของตัวเองด้วยว่า “ลูกผู้ชายเขายอมรับกันตรงๆ”
อหังการอำนาจของนักการเมือง
พฤติกรรมหรือแม้แต่เรื่องฉาวอย่างการจัดซื้อจัดจ้างในสภานั้นมีมานานแล้ว แต่เหตุปัจจัยที่ทำให้มีมากขึ้นนั้น ตามความเห็นของ ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พบว่าเกิดจากการลุแก่อำนาจของนักการเมืองในปัจจุบัน
โดยระบอบการเมืองแบบรัฐสภาของประเทศไทยนั้น รัฐสภาควรเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดในการปกครอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อนคือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรกลับเข้าประชุมสภาเพียง 10 นาทีแล้วออกจากสภาทันที
“สภาต้องเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลต้องมาฟังเสียงของผู้แทนประชาชน เรามีสมาชิกผู้แทนราษฎรหลายร้อยคน เริ่มต้นเราต้องนำเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนมาคุยกัน ปรึกษาหารือกัน นี่เป็นทำเนียมที่ปฏิบัติกันทั่วโลก แต่ท่านนายกฯ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ คืออาจจะเข้าประชุมไม่ตลอดก็ได้ แต่ไม่ใช่โผล่มาแบบพอเป็นพิธี มาลงชื่อเอาเวลาประชุมแล้วโดดไป เหมือนนักเรียนมาเช็กชื่อแล้วไม่เรียน”
เมื่อมองไปถึงพฤติกรรมของเหล่าสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย จากหลายกรณีข้างต้นทั้งชูรองเท้า เล่นเกม ดูรูปโป๊ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อสถานะหน้าที่ของตัวเองทั้งยังไม่มีรู้จักกาลเทศะอีกด้วย เขาเผยว่า สมัยก่อนในการประชุมสภาที่ยาวนานก็มีการทำอย่างอื่นแก้เบื่อ เขายกตัวอย่าง สมัคร สุนทรเวชที่พับนกในสภา และชวน หลีกภัยที่ใช้เวลาในการวาดรูป
“การทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาแล้วมันขัดกับสถานที่ ขัดกับหน้าที่ มันเป็นเรื่องของความเหมาะสมที่คนวิพากษ์วิจารณ์กัน ก็ขึ้นอยู่กับคนที่ทำว่าจะขอโทษหรือขอโอกาสปรับปรุงตัว สังคมก็ให้อภัยเพราะมันผิดพลาดได้ ไม่ใช่ความผิดถึงขั้นคอขาดบาดตาย”
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมานั้น โดยมากแล้วไม่ใช่การลงโทษหากแต่เป็นการตักเตือนเท่านั้น ที่ผ่านมาทั้งกรณีกระโดดถีบ ชูนิ้วกลาง จนล่าสุดชูรองเท้าก็มีเพียงการตักเตือนจากทางสภา แม้ว่าจริงๆแล้วสภาจะมีกฎหมายก็ตามแต่ก็ไม่เคยมีการบังคับใช้กับนักการเมืองโดยเฉพาะนักการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลเท่าที่ควร
“กฎหมายสภามี 3 ระดับมี 1.ข้อบังคับเป็นเหมือนกฎหมายอาญา คุณจะต้องทำยังไง...อย่างไร แต่ทีนี้บทบทลงโทษมันขึ้นกับกระบวนการสภาที่ไม่เอาไหน 2. ระเบียบ อย่าง ระเบียบว่าด้วยการแต่งตั้ง ระเบียบว่าด้วยการประชุม ซึ่งก็เป็นกฎหมายรอง กระทำละเมิดก็ผิดเหมือนกัน 3. กฎ กติกา มารยาท เป็นกฎที่สร้างขึ้นในกลุ่ม เช่นเราเป็นกรรมาธิการก็มีมารยาท ฉะนั้นมันมีข้อบังคับ ระเบียบ กติกาคุมอยู่แต่คนพวกนี้ไม่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เลย”
โดยสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้น เขามองว่าเกิดจากการลุแก่อำนาจของนักการเมืองที่พอได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ก็มักจะถือว่าตนเองมีอำนาจเหนือประชาชน เขามองถึงกรณีนาฬิกาสภาว่าเป็นผลมาจากนักการเมือง มากกว่าข้าราชการ เพราะข้าราชการสภามักจะต้องเกรงใจนักการเมือง จากประสบการณ์ที่ทำงานในสภามาก่อน เขามองว่า ต้องมีนักการเมืองกดดันให้รัฐสภาจัดซื้อจัดจ้างซึ่งเป็นแบบนี้มาโดยตลอด
“นักการเมืองสมัยนี้น่าจะยิ่งใหญ่กว่าในยุคเผด็จการด้วยซ้ำ” เขาเอ่ย “อาจไม่ใช่ในทางกฎหมาย แต่ในวัฒนธรรม ในองค์กร ยิ่งเป็นส.ส.สันดานมันเหิมเกริมมาโดยตลอด พอชนะเลือกตั้งนึกว่าตัวเองใหญ่เหนือประชาชน พอเข้ามาในสภาก็คิดว่าตัวเองทำอะไรก็ได้ เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
ฉะนั้นความตระหนักรู้หรือเรียกว่า หิริโอตัปปะ ความกลัวในบาปมันจึงไม่มี มันหายไปเพราะความรู้สึกว่าตัวเองใหญ่ ไม่ใช่ไม่รู้นะ รู้แต่ไม่อยากทำ คนพวกนี้เหมือนกันคือยิ่งละเมิดได้ ยิ่งทำสิ่งที่ถูกห้ามได้จะยิ่งจะรู้สึกมีความสุข บริวารก็ชอบไปนับถือพวกที่อยู่เหนือกฎหมาย เพราะสังคมไทยคิดว่า คนแบบนี้ใหญ่จริง แน่มาก ต้องเข้าไปพึ่งพิงเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้า นั่นเองคือเลี้ยงดูกันอยู่ภายใต้อำนาจนิยมให้ชื่นชมผู้มีอำนาจ อยู่ใต้อำนาจ
ความอดทนของประชาชน
พฤติกรรมที่มากขึ้นของส.ส. มาถึงยุคปัจจุบันภาพที่ออกมาได้ถูกส่งต่อและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว มาตรการลงโทษทางสังคมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ โซเชียลแซงชัน (social sanction) หรือการลงทัณฑ์ลงโทษในระบบสังคมด้วยสังคม ซึ่งผศ.ดร.ทวี มองว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่หากนักการเมืองไม่หน้าด้านเกินไปนัก ก็ควรจะปรับปรุงตัวโดยเร็ว
“ทุกวันนี้คือประชาชนรับไม่ได้ ก็ด่ากันอยู่ ซึ่งถ้าเป็นไปได้หลายคนคงอยากจะตบหัว ไล่ออก เอาคนพวกนี้ออกไปจากสภา”
เขามองความเป็นไปได้หากประชาชนเหลืออดกับพฤติกรรมของนักการเมืองว่า ประชาชนอาจจะเสนอเป็นกฎหมายซึ่งตอนนี้ล่ารายชื่อคนเพียง 10,000 คน ก็สามารถเขียนกฎหมายเพื่อให้พิจารณากันในสภา โดยเขาให้รายละเอียดว่า อาจเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการประพฤติตัวที่เหมาะสมในรัฐสภา ระบุรายละเอียดว่า มีการกระทำอะไรบ้างที่ไม่เหมาะสม แล้วให้มีมาตราที่ระบุถึงบทลงโทษที่เป็นระดับขั้น
“อันนี้ผมไม่ได้ล้อเล่น แต่เมื่อประชาชนทนไม่ไหวมันจะดำเนินไปทีละชั้นทีละตอน ก็อยู่ที่ส.ส.เขาดูแลกันอย่าให้ประชาชนทนไม่ไหว ที่สำคัญสื่อโซเชียลมีเดียตอนนี้มันก็กระจายอะไรไปได้เร็วมาก”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE