xs
xsm
sm
md
lg

ปูหนาว!จ่อพิพากษายืน “ถวิล”คืนเลขาฯสมช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสียวไส้! ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอศาลปกครองสูงสุดสั่งยืนตามศาลปกครองกลางคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.ให้ "ถวิล เปลี่ยนศรี" ชี้แม้ขั้นตอนโอนย้ายถูกต้อง แต่การใช้ดุลพินิจนายกฯ ไม่ชอบ! ด้าน “ถวิล” ยังมั่นใจได้ตำแหน่งคืนก่อนเกษียณ แต่ยังลังเลฟ้อง ป.ป.ช.เล่นงาน ม.157 นายกฯ-ครม.

    วานนี้ (24 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในกรณีที่นายกรัฐมนตรียื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 วันที่ 7 ก.ย. 2554 ที่ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยการพิจารณาคดีครั้งแรกนี้นายถวิลเดินทางมาด้วยตนเอง แต่ไม่ประสงค์ที่จะแถลงปิดคดี ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคือนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. เป็นผู้รับมอบอำนาจ แถลงปิดคดีด้วยวาจา
 นายนนทิกรแถลงยืนยันว่าขั้นตอนการโอนย้ายนายถวิลจากเลขาฯ สมช.มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนดไว้ โดยมีการยินยอมของ 2 รัฐมนตรีเจ้าสังกัดที่กำกับดูแลหน่วยงานที่จะให้มีการโอนย้ายกัน ส่วนที่นายถวิลโต้แย้งว่า การโอนย้ายไม่สมเหตุสมผล และเพราะตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น มีบทบาทดูแลงานด้านความมั่นคงน้อยกว่าตำแหน่งเลขาฯ สมช.นั้น ยืนยันว่าแต่ละตำแหน่งหน้าที่นั้นมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน ซึ่งตามระเบียบ ก.พ.ได้มีการแบ่งประเภทของงานไว้แตกต่างกัน โดยตำแหน่งบริหารไม่อาจเทียบเคียงได้ว่าตำแหน่งใดสำคัญกว่ากันโดยสาระ แต่อาจเทียบเคียงได้จากเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่นายถวิลได้รับในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็เท่ากับที่ได้รับในตำแหน่งเลขาฯ สมช.รวมทั้งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ก.พ.ไม่ได้เพิ่งกำหนดขึ้น แต่มีมานานแล้ว เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจสับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ที่ฝ่ายบริหารเห็นว่ามีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งได้ การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้จึงเป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านความมั่นคงแต่อย่างใด

    จากนั้นองค์คณะได้ให้ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นส่วนตัวต่อคดีที่ไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาวินิจฉัยขององค์คณะ โดยเห็นว่า ตามระเบียบ ก.พ.ไม่ได้กำหนดวิธีการปฏิบัติในการโอนย้ายไว้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงพบว่ามีการการยินยอมของ 2 รัฐมนตรีเจ้าสังกัดที่กำกับดูแลหน่วยงานที่จะให้มีการโอนย้ายกัน แม้จะมีลักษณะเร่งรีบ แต่ก็เชื่อว่ามีการประสานงานกันก่อนแล้ว จึงไม่ทำให้ขั้นตอนการโอนย้ายเสียไป อีกทั้งมีการเสนอให้ ครม.เห็นชอบในเวลาต่อมา และมีการความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ดังนั้นคำอุทธรณ์ของนายกรัฐมนตรีรับฟังขึ้น ส่วนที่นายถวิลอ้างว่าการใช้ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้ง โดยย้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนาแอบแฝงและหากศาลเข้าไปวินิจฉัยก็จะเป็นการก้าวล่วงฝ่ายบริหารนั้น เห็นว่าตำแหน่งเลขาฯ สมช.เป็นตำแหน่งนักบริหารระดับสูง เทียบเท่าหัวหน้าระดับกรม มีอำนาจหน้าที่และศักดิ์ศรีมากกว่าตำแหน่งที่ปรึกษา หากจะมีการโยกย้ายก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และเป็นไปตามหลักคุณธรรม ของมาตรา 42 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกรณีดังกล่าวปรากฏหลักฐานว่า นายกรัฐมนตรีอ้างเหตุในการย้ายนายถวิลว่า ไม่ปฏิบัติตามนโยบายด้านความมั่นคงที่รัฐบาลได้แถลงไว้ อีกทั้งตำแหน่ง สมช.เป็นตำแหน่งระดับปฏิบัติ ซึ่งนายถวิลมีความเหมาะสม เชี่ยวชาญด้านการวางแผนในลักษณะเสนาธิการมากกว่า จึงเห็นควรให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

    ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ตำแหน่งเลขาฯ สมช.เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากกว่าที่ปรึกษานายกฯ อีกทั้งตาม พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาฯ สมช.เป็นสมาชิกของสภาความมั่นคง เช่นเดียวกับนายกฯ และรองนายกฯที่กำกับดูแล ดังนั้นที่อ้างว่าการโอนย้ายนายถวิลเพื่อยกระดับการปฏิบัติงานภาคสนามมาเป็นด้านเสนาธิการ จึงไม่อาจรับฟังได้ และที่อ้างว่าการพิจารณาของศาลเป็นการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายบริหารนั้น เห็นผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจแต่งตั้งโยกย้ายผู้ใต้บังคับบัญชาได้ตามความเหมาะสมแต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หากให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบแค่ขั้นตอน โดยไม่อาจตรวจสอบเจตนาการใช้ดุลพินิจว่าชอบหรือไม่ ก็อาจเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งกรณีนี้มีการนำเสนอข่าว การยอมรับของรองนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิศรี ผบ.ตร.ในขณะนั้น ว่ายินดีที่จะถูกย้ายจากตำแหน่ง ผบ.ตร.หากมีตำแหน่งที่เหมาะสมกว่า อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า นายถวิล ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการ ศอฉ. รัฐบาลนี้จึงไม่อยากให้อยู่ในตำแหน่ง แม้คำสัมภาษณ์ดังกล่าวของรองนายกฯ ที่ปรากฏทางสื่อจะไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการวินิจฉัยได้ แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า เหตุการณ์หลังจากนั้น เป็นไปตามคำพูดของรองนายกฯ ประกอบกับการย้ายตำแหน่งนายถวิล ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็ควรเป็นตำแหน่งที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ที่ไม่ด้อยไปกว่าตำแหน่งเลขาฯ สมช.และควรได้รับการยินยอมจากนายถวิล เช่นเดียวกับที่ย้าย พล.ต.อ.วิเชียรพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร.รวมถึงการย้ายนายถวิล ก็ไม่ได้เกิดจากการดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี จึงเห็นว่าการย้ายนายถวิลไม่ได้มีเจตนาที่แท้จริงตามที่อ้างว่าย้ายเพื่อยกระดับการบริหารงานด้านความมั่นคง ซึ่งการใช้ดุลพินิจของนายกฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นควรเสนอต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายและให้คืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.แก่นายถวิล นับแต่วันที่มีคำสั่งย้าย หลังการพิจารณาคดีครั้งแรกเสร็จสิ้น องค์คณะไม่ได้แจ้งให้คู่กรณีได้ทราบว่าจะมีคำสั่งในคดีนี้เมื่อใด

    ด้านนายถวิลกล่าวว่า ตนรู้สึกพอใจกับการพิจารณาคดีดังกล่าว และมั่นใจว่าสิ่งที่ตนถูกกระทำนั้นไม่เป็นธรรม มีวาระแอบแฝง ซึ่งตนจะเกษียณอายุราชการในปี 2557 ก็หวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งออกมาก่อนวันที่ 30 ก.ย. 57 หากเป็นคำสั่งที่ออกมาเป็นคุณแก่ตนเองนั้น ก็จะพิจารณาการเยียวยาของรัฐว่าเป็นไปในลักษณะที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้เสนอว่า ตนควรไปฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช. ให้เอาผิดนายกฯและคณะรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ที่ถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม แต่ตนเป็นข้าราชการมา 30 ปี ไม่อยากเห็นนายกฯ และคณะรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะสาเหตุมาจากตน แต่หากคำพิพากษาไม่เป็นคุณก็จะทำหน้าที่ที่ปรึกษานายกฯ ให้ดีที่สุดจนกว่าจะเกษียณ.
กำลังโหลดความคิดเห็น