xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯรับคดีสมจิตต์ ฟ้องแดงตัวแม่ข่มขู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    ASTV.ผู้จัดการรายวัน - "สมจิตต์" โพสต์เฟซบุ๊กโชว์หมายศาลอุทธรณ์ให้ไปฟังคำสั่ง คดีที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “พรทิพย์ ปักษานนท์”ประธานนปช.เพชรบุรี อดีตกรรมการท่าอาศยานไทย 30 ต.ค.นี้ เหตุถูกลิ่วล้อเสื้อแดงส่งข้อความข่มขู่ แต่ไม่หวั่นเพราะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวานนี้(23ก.ย.)น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้โพสต์หมายศาลอุทธรณ์ที่ให้ไปฟังคำสั่งคดีที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางพรทิพย์ ปักษานนท์ ประธาน นปช.เพชรบุรี อดีตกรรมการการท่าอาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท) กรณีการส่งต่ออีเมล์ไปยังสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดง ในเชิงข่มขู่ โดยใช้คำว่า “เจอที่ไหนจัดให้หน่อย” เนื่องจากไม่พอใจที่น.ส.สมจิตต์ ตั้งคำถามจนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบไม่ได้ จนเดินหนี โดยคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง และมีคำสั่งไม่รับยื่นอุทธรณ์ แต่ทนายความได้ยื่นคำร้องแย้งอีกครั้งจนทำให้ศาลชั้นต้นส่งคดีต่อไปยังศาลอุทธรณ์ และมีการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 09 .00นาฬิกา

    สำหรับเนื้อหาในเฟซบุ๊กของนางสาวสมจิตต์ ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ นัดฟังคำสั่ง กรณี พรทิพย์ ปักษานนท์ ประธาน นปช.เพชรบุรี ส่งอีเมล์ข่มขู่ดิฉันผ่านเครือข่ายคนเสื้อแดง วันที่ 30 ตุลาคมนี้ จึงดีใจที่ศาลชั้นต้นรับฟังคำร้องแย้ง หลังจากที่มีคำสั่งว่าไม่มีสาระที่จะส่งให้ศาลอุทธรณ์ และกรุณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่โดยส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณา

    “จนจะมีการนัดฟังคำสั่งในวันดังกล่าว ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ดิฉันน้อมรับคำพิพากษาศาลทุกประการ เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ว่า จะเป็นหลักยึดให้บ้านเมืองในยามที่กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย มีการบังคับใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ ศาลจึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะให้ความเป็นธรรม” นางสาวสมจิต โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก

    สำหรับคดีดังกล่าว ยังเป็นเหตุให้กลุ่มคนเสื้อแดงบุกไปที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เพื่อบีบให้ผู้บริหารปลดน.ส.สมจิตต์ ออกจากการเป็นนักข่าว โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง รวมทั้งกดดันไม่ให้ฟ้องนางพรทิพย์ แต่ในที่สุดก็มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย และทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มิได้ดำเนินการใด ๆ กับน.ส.สมจิตต์ โดยระบุว่าเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ถูกต้องแล้ว อีกทั้งองค์กรด้านสื่อยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามสื่อมวลชน ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ใช้เวลาในการพิจารณาคดีกว่าจะถึงศาลอุทธรณ์ถึงกว่า 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น