xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯเจ๋ง!ป้องกันนิสิตลอกงานวิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-จุฬาฯ เปิดตัวโปรแกรม "อักขราวิสุทธิ์" และระบบอี-ธีสิส ตรวจสอบการลักลอกวิทยานิพนธ์ เริ่มตั้งแต่ปี 56 ตั้งเป้าป้องกันการลักลอกงานวิชาการได้ 100% อนาคตจะพัฒนาระบบตรวจสอบการลักลอกวิกิพีเดีย ชี้เด็กป.ตรี นิยมนำข้อมูลมาใช้

วานนี้ (26 ส.ค.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและคณะ ร่วมแถลงข่าว "จุฬาฯ กับมาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการ" โดย ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าวว่า การลักลอกผลงานมีทั้งการนำเอางานของคนอื่นมาเป็นของตนเอง หรือเอางานของผู้อื่นที่เขียนไว้มาอ้างว่าเป็นของตนเอง โดยไม่มีการอ้างอิงว่าผลงานที่นำมานั้นนำมาจากแหล่งอื่นไม่ใช่งานของตน ซึ่งไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็แล้วแต่ เรื่องนี้ถือว่ารับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะสภามหาวิทยาลัยได้กำหนดให้เป็นนโยบายในการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการ โดยเริ่มตรวจสอบในระดับบัณฑิตศึกษาก่อน จากนั้นจึงจะเข้ามาตรวจสอบในระดับปริญญาตรีต่อไป

รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ ยึดสโลแกน "จุฬาฯ 100 ปีต้องไม่มี Plagiarism (การคัดลอกผลงาน)" โดยกำหนด 3 มาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับนิสิตทุกคนและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ได้แก่ มาตรการสร้างจิตสำนึก อาทิ การอบรมและเปิดสอนรายวิชา "จริยธรรมการวิจัย" , มาตราการป้องปราม โดยกำหนดให้นิสิตเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยโปรแกรม ซียู อี-ธีสิส(CU e-Thesis) ซึ่งนิสิตทุกคนจะต้องส่งแบบรายงานความก้าวหน้าและแผนการทำวิทยานิพนธ์ทุกภาคการศึกษา โดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะสามารถติดตามวิทยานิพนธ์ได้ตลอดเวลา และมาตรการสุดท้ายคือการติดตามตรวจสอบด้วยโปรแกรมเทิร์นอิทอิน(Turn it in)และโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ซึ่งจุฬาฯ เป็นผู้พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบวิทยานิพนธ์ที่เป็นภาษาไทยโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบข้อความที่ตรงไปตรงมา เหมือนหรือคล้ายกัน แต่ในอนาคตจะพัฒนาโปรแกรมให้รองรับการตัดต่อหรือสลับข้อความ รวมถึงการคัดลอกข้อความโดยหลีกเลี่ยงใช้คำภาษาไทยอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันได้ด้วย

“สำหรับการประมวลผลของโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์จะประเมินความเหมือนของข้อมูลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์มากจะบ่งชี้ว่าอาจมีการลักลอก ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบจะต้องดูว่าสิ่งที่เหมือนคืออะไร ถ้าสิ่งที่เหมือนเป็นข้อมูล เช่น ตารางหรือการวิจารณ์ผล หากเหมือนกันเป๊ะ แม้ผลลัพธ์จะระบุว่าไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าเป็นปัญหา หรือในกรณีการตรวจสอบได้ผลปรากฎว่ามีเปอร์เซ็นต์การเหมือนกันเปอร์เซ็นต์เดียว แต่เนื้อหาเหมือนกับลอกมาเลยก็ถือว่าเป็นความผิดเหมือนกัน”รศ.ดร.อมร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น