xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สหพัฒน์ฯพ่ายพิษเศรษฐกิจ ปิดโรงงานผลิตรองเท้า “PAF”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เพราะพิษจากภาวะเศรษฐกิจและอีกหลายปัจจัยลบทำให้เครือสหพัฒน์ ตัดสินใจปิดการผลิตรองเท้าของโรงงาน บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAF ที่ประกาศปรับโครงสร้างการประกอบกิจการโดยหยุดประกอบกิจการโรงงานผลิตรองเท้า และกระเป๋า ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2556 พร้อมเลิกจ้างพนักงานประมาณ 2,000 คน และให้คงพนักงานไว้เฉพาะส่วนสำนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่จำนวนหนึ่งประมาณ 10คน ซึ่งบริษัทฯจะจ่ายตามกฎหมาย

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ได้เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า เศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้ผลประกอบการของเครือเติบโตต่ำสุดในรอบหลายปี รวมทั้งได้ปิดกิจการ ในเครือไปอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะกิจการผลิตรองเท้าที่ต้องหยุดกิยการไปและเตรียมปิดตัวบริษัทในเครือด้วย

“สหพัฒน์ได้รับผลกระทบจากการส่งออกค่อนข้างมากด้วย ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพียง20% เท่านั้น และก็ต้องปิดโรงงานผลิตถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าเป็นจำนวนหลายแห่ง ซึ่งคาดว่าในปี 2556 นี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยคาดว่าก็ยังคงจะชะลอตัวและจีดีพีเติบโตพียง2-3% เท่านั้น”

นี่คือคำกล่าวของพี่ใหญ่เครือสหพัฒน์ ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนแล้วในขณะนี้กับการปิดโรงงานผลิตรองเท้า

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สหพัฒน์ก็มีการปรับตัวมาแล้วหลายครั้งหลายรูปแบบ เช่น การผลิตรองเท้ายี่ห้อแพนซึ่งเป็นของบริษัทเอง โดยโยกสายการผลิตรองเท้าแพนไปให้กับบริษัทในเครือคือ บางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน)ที่ปัจจุบันยังคงผลิตรองเท้าแพนมานานกว่า 10 ปี แล้ว แยกกันบริหารงานชัดเจน

สำหรับ PAF นับเป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือสหพัฒน์ โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้น10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 18.91% 2.บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 18.12% 3.นายวิโรจน์ อึ้งไพบูลย์ สัดส่วน 5.95% 4.บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 5.65% 5.บริษัท ไอ.ดี.เอฟ. จำกัด สัดส่วน 4.84% 6.บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด สัดส่วน 4.82% 7.นายบุญชัย โชควัฒนา สัดส่วน 4.25% 8.บริษัท บ้านแพน เอนจิเนียริ่ง แอนด์ โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 3.29% 9.นางชัยลดา ตันติเวชกุล สัดส่วน 3.21%และ 10.นายกษม ศิริรังสรรค์กุล สัดส่วน 1.09%

บริษัทแห่งนี้ผลิตสินค้าแบรนด์ PAN KSWISS CAmper mark&spencer hummel scholl jansport และ kliping เป็นต้น

สำหรับสถานภาพของแพนเอเซียฟุตแวร์ นั้น นายสมมาต ขุนเศษฐ กรรมการและผู้อำนวยการทั่วไป บมจ.แพนเอเซียฟุตแวร์ หรือ PAF กล่าวว่า เพราะบริษัทฯมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะคู่แข่งคือการผลิตในจีนกับเวียดนามที่ต้นทุต่ำกว่าเราอย่างมาก เราไม่สามารถจะสู้ไหวอีกแล้ว จึงปิดการผลิตเลยดีกว่า เพราะถ้ายิ่งทำต่อไปก็ยิ่งขาดทุนสะสมมากขึ้นอีก เคลียร์ไม่หมด เราต้องปรับตัวหันมาทำอะไรที่พวกจีน เวียดนาม ทำไม่ได้

ผลกระทบหนักๆที่ทำให้ต้องปิดการผลิตคือ ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็น300 บาทต่อวันที่มีผลตั้งแต่ต้นปีนี้ รวมไปถึงคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ในการผลิตจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศลดลงต่อเนื่อง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่หันไปว่าจ้างโรงงานในเวียดนามกับจีนผลิตให้แทนเพราะต้นทุนต่ำมาก

ดังนั้นกลยุทธ์จากนี้ไปของบริษัทฯที่แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคือ จะปรับสถานะการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยปรับเปลี่ยนจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจในด้านการผลิตรองเท้า และกระเป๋า และการถือหุ้นในบริษัทย่อย เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทย่อยเพียงอย่างเดียว (HOLDING COMPANY) โดยบริษัทฯ ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยเช่นเดิม ทั้งนี้ บริษัทย่อยยังคงมีการดำเนินธุรกิจในการประกอบกิจการโรงงานอันเป็นธุรกิจหลักของบริษัทย่อย

โดยบริษัทย่อยที่บริษัทฯ เข้าถือหุ้นอันเป็นบริษัทแกนในการประกอบธุรกิจในการถือหุ้น คือ บริษัทดับเบิ้ลยู บีแอลพี จำกัด (เดิมบริษัท แพนระยอง จำกัด) ซึ่งผลิตรองเท้า และกระเป๋า และมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท 100% บริษัทจึงมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการตามสัดส่วนการถือหุ้นทุกประการ

อย่างไรก็ตาม แต่สายการผลิตสำหรับการผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศยังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะผลิตสินค้าป้อนให้กับบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

“บริษัทแพนเอเซียจะปรับจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนลูกค้าเองมาเป็นบริษัทโฮลดิ้ง และให้บริษัทลูกที่เหลืออยู่ 3-4 แห่งเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนคำสั่งซื้อในประเทศ ซึ่งบริษัทลูกที่เหลือดังกล่าวมีพนักงานรวม 1,000 คน และในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ปิดบริษัทลูกไปมากกว่า 10 แห่ง และหลังจากนี้ก็จะหาทางให้บริษัทลูกที่เหลือมีผลกำไรขึ้นมา โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น”

ขณะที่แผนการลงทุนในต่างประเทศที่จะตั้งโรงงานผลิตรองเท้าในกัมพูชา ซึ่งได้มีการศึกษาในรายละเอียดทั้งทำเลและการตลาดมานานแล้ว ก็จำเป็นต้องชะลอไปก่อนจากสถานภาพของบริษัทฯที่มีปัญหาในเวลานี้ แต่เมื่อทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อยทั้งการก็จะมีการนำมาพิจารณาใหม่

จากข้อมูลของบริษัทฯพบว่า มีการขาดทุนสะสมต่อเนื่องมานานหลายปี รวมกว่า2,600 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าไตรมาสแรกปีนี้ จะมีกำไรบ้างประมาณ 253 ล้านบาทก็ตาม แต่ก็เป็นการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ออกไปนั่นเอง และก็ยังสามารถลบล้างขาดทุนสะสมได้อยู่ดี

โดยเป็นการขายสินทรัพย์ที่เป็นที่ดินเปล่า และสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคล หรือบริษัทที่เกี่ยวโยงกับประมาณ 26 รายการ 133 แปลง หรือประมาณ 1.29 พันไร่ ซึ่งล่าสุด ได้พิจารณาขายให้แต่บริษัทที่มีการเกี่ยวโยงกันเท่านั้น เช่น กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ICCบริษัท ไอ.ดี.เอฟ. จำกัด บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเหลือเพียง 1 รายการ หรือ 25 แปลง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมสหรัตนนคร จำนวน261 ไร่ ที่ยังไม่มีผู้เสนอซื้อ

อีกทั้งเมื่อปี2555 ก็มีข่าวว่า จะปิดโรงงานในเครือมาก่อนแล้ว นั่นคือ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรองเท้า มีพนักงานชายหญิง อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีการเลิกจ้าง และปิดโรงงาน บริษัท กบินทร์บุรี แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

นอกจากนี้ ในปี 2552 บมจ.แพนเอเซียฟุตแวร์ ได้ขายที่ดินพร้อมสวนยางพาราซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบุ่งมะแลง และตำบลสว่าง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่ บริษัท ไอ.ดี.เอฟ.จำกัด จำนวน 31โฉนด เนื้อที่รวม 2,967 ไร่ 3 งาน 85.2 ตารางวา มูลค่า 130 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้รับไปใช้ปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิตพื้นรองเท้า และใช้ในการลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงถูกกว่าในประเทศไทย อีกทั้งมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี



กำลังโหลดความคิดเห็น