ค่าแรง 300 บาทพ่นพิษ “แพนเอเซียฟุตแวร์” ยอมรับมีส่วนผลักดันให้ต้นทุนพุ่งแข่งขันยากต้องหยุดรับจ้างผลิตรองเท้าและกระเป๋าจากแบรนด์ทั่วโลก เหตุสู้จีน เวียดนามไม่ได้ ย้ำจ่ายชดเชยพนักงาน 2,000คนตามกฎหมาย ลั่นยี่ห้อ “แพน” ยังอยู่ เหตุบางกอกรับเบอร์เป็นผู้ผลิต
นายสมมาต ขุนเศษฐ กรรมการและผู้อำนวยการทั่วไป บมจ.แพนเอเซียฟุตแวร์ หรือ PAF เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างการประกอบกิจการโดยให้หยุดประกอบกิจการโรงงานผลิตรองเท้า และกระเป๋าตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2556 โดยเลิกจ้างพนักงานประมาณ 2,000 คน และให้คงพนักงานไว้เฉพาะส่วนสำนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่จำนวนหนึ่งประมาณ 10 คน ซึ่งบริษัทฯ จะจ่ายตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ไลน์การผลิตดังกล่าวเป็นการปิดของการรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์เนมจากต่างประเทศทั้งหมดที่เคยมีคำสั่งซื้ออยู่ แต่ในส่วนยี่ห้อแพน หรือ PAN ของบริษัทนั้นยังดำรงอยู่เพราะ บมจ.บางกอกรับเบอร์เป็นผู้ผลิต โดยสาเหตุที่ไม่รับจ้างผลิตแล้วเนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้จากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่ปรับขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อในช่วงระยะหลังมานี้ลดต่ำลงอย่างมากเนื่องจากลูกค้าหลักหันไปสั่งผลิตที่จีน และเวียดนามเป็นหลักเพราะต้นทุนต่ำกว่าไทย
“เราเองก็ดิ้นมาพอสมควรแล้ว แต่ต้นทุนที่สูงขึ้นเราต้องยอมรับว่าสู้ไม่ได้จริงๆ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุนมากเราคิดว่าการปิดกิจการก็จะดีกว่าที่จะขาดทุนไปมากกว่านี้ ซึ่งจากนี้ไปอุตสาหกรรมรองเท้าและกระเป๋าถ้าทำตลาดระดับล่างหรือรับจ้างผลิตแล้วสู้ต้นทุนจีนกับเวียดนามไม่ได้หรอก ที่สุดจะต้องหันมาทำอะไรที่เขาทำไม่ได้” นายสมมาตกล่าว
นอกจากนี้ PAF จะปรับสถานะการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยปรับเปลี่ยนจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจในด้านการผลิตรองเท้า และกระเป๋า และการถือหุ้นในบริษัทย่อย เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทย่อยเพียงอย่างเดียว (HOLDING COMPANY) โดยบริษัทฯ ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยเช่นเดิม ทั้งนี้ บริษัทย่อยยังคงมีการดำเนินธุรกิจในการประกอบกิจการโรงงานอันเป็นธุรกิจหลักของบริษัทย่อย
โดยบริษัทย่อยที่บริษัทฯ เข้าถือหุ้นอันเป็นบริษัทแกนในการประกอบธุรกิจในการถือหุ้น คือ บริษัทดับเบิ้ลยู บีแอลพี จำกัด (เดิมบริษัท แพนระยอง จำกัด) ซึ่งผลิตรองเท้า และกระเป๋า และมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท 100% บริษัทจึงมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการตามสัดส่วนการถือหุ้นทุกประการ