xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ด้วยมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้น้ำหนักความห่วงใยการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทยมากกว่าการประชุมครั้งก่อน เชื่อดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเหมาะสมต่อการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า จับตาความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลก ขณะที่ "เสี่ยปั้น" เชื่อไทยเนื้อหอม เงินนอกไหลเข้าต่อเนื่อง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุมบอร์ดกนง.เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) ว่า ในที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50%ต่อปี โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังมีความจำเป็นและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัวภายใต้ภาวะแรงกดดันด้านราคายังไม่น่ากังวล อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลกต่อไป
“การประชุมครั้งนี้กรรมการให้น้ำหนักห่วงใยด้านการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทยมากกว่าครั้งก่อน จึงดำรงการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง ซึ่งประเมินว่านโยบายการเงินผ่อนคลายในขณะนี้ยังมีความจำเป็นและเหมาะสมแนวโน้มระยะข้างหน้า ส่วนอนาคตก็ต้องดูพัฒนาการเศรษฐกิจและการเงินใหม่ๆ ออกมาดูครั้งๆ ไป”เลขานุการบอร์ดกนง.กล่าวและว่า 1 เสียงของกรรมการบอร์ด กนง.ที่เห็นต่างเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังพอไปได้ แต่ต้องการสร้างความมั่นใจให้ปีหน้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
บอร์ด กนง.ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ รอบด้านในการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ การขยายตัวเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน การขยายตัวสินเชื่อ การขยายตัวของหนี้ครัวเรือน เป็นต้น โดยแม้การขยายตัวสินเชื่อชะลอตัวลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ล่าสุดขยายตัว 13% ซึ่งสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคยังดีอยู่ ภาวะการจ้างงานรายได้นอกเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจข้างหน้ายังมีอยู่พอสมควร
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ในหลายภาคส่วนจะปรับตัวดีขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาคส่งออกไทยกระเตื้องขึ้นข้าง แม้มีข้อจำกัดโครงสร้างบ้าง ส่วนภาวะการเงินผ่อนคลายจะช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ดีและน่าจะสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและการลงทุนเอกชน รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐตามแผนในปี 57 ถ้ามีความชัดเจนมากขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่เกิดขึ้นอาจจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยต่อไป
เลขานุการบอร์ดกนง.กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อไรนั้นประเมินได้ยาก เพราะหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากสินเชื่อรถยนต์ตามมาตรการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล แต่เชื่อว่าเมื่อมาตรการนี้หมดไปการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนน่าจะชะลอบ้างและทิศทางกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันครัวเรือนมีภาระหนี้ผ่อนส่งเฉลี่ย 34%ของรายได้
“ในที่ประชุมบอร์ด กนง.ยังมีความห่วงใยปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ตลาดปรับตัวปัญหาทุเลาลง ส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่สถาบันการเงินปล่อยอย่างระมัดระวังมากขึ้น จึงเชื่อว่าภาวะสินเชื่อจะปรับในทิศทางเหมาะสมต่อไป”
นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายเงินทุนและความเสี่ยงต่อความผันผวนของตลาดการเงินระหว่างประเทศช่วงนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาครั้งนี้เช่นกัน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่จะทยอยลดแรงกระตุ้นทางการเงิน ซึ่งมีปัญหาต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในหลายประเทศภูมิภาคนี้เห็นได้ชัดอย่างในตลาดหุ้น จึงต้องจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

*****เสี่ยปั้นเชื่อไทยเนื้อหอม-เงินนอกเข้า**
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยก็เป็นไปตามวงจรปกติที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ แล้วก็เกิดมาหลายครั้งแล้ว ก็เชื่อว่าจะยังเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าการบริโภคหรือการลงทุนในประเทศจะชะลอ แต่ก็จะเห็นว่าได้ในส่วนของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังมีเข้ามาต่อเนื่องอยู่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเงินทุนจากประเทศจีนและญี่ปุ่นที่ยังมีเงินที่จะขยายการลงทุนอยู่เป็นจำนวนมาก
"ดูจากสภาพตอนนี้แม้ว่าจะเห็นเงินไหลออกจากตลาดหุ้นบ้าง แต่ถ้ามองเงินลงทุนโดยตรงที่เข้ามาแล้วอยู่นาน ก็ยังมี โดยเฉพาะจากจีน และญี่ปุ่นซึ่งได้วางฐานทางด้านยานยนต์ที่ไทยมานานแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆ ตามเข้ามา อย่าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ถือว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนอยู่" นายบัณฑูรกล่าวและว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนนั้น ถึงแม้จะอยู่ในระดับชะลอตัว แต่ก็ยังสูงกว่าการเติบโตของประเทศอื่นอยู่ดี แล้วก็เป็นไปตามวัฎจักร จะให้โตในอัตราเร่งตลอดไปคงเป็นไปไม่ได้ เพราะจึงต้องมีการปรับโครงสร้างเกิดขึ้น ซึ่งเป็นหากเสร็จสิ้นก็จะเป็นเรื่องที่ดี
ทั้งนี้ ลูกค้าธนาคารที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอนั้น ก็มีแน่นอนเพราะทำให้สินค้าขายได้น้อยลง ก็ต้องแบกภาระเพ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งทางธนาคารก็ดูแลอยู่ และพยายามประเมินความต้องการของลุกค้า ส่วนไหนที่ยืดหยุ่นได้ก็จะยืดหยุ่นให้ หรือส่วนที่ขาดสภาพคล่องอยู่จะพิจารณาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ขณะที่ผู้ประกอบการเองไม่จะเป็นในระดับใดก็ต้องมีปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนไปด้วย ส่วนอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 10% ก็ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาวะที่เป็นอยู่ โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อก็เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา คือพิจารณาตามความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ เพราะเรานำเงินของประชาชนมาปล่อยกู้ก็ต้องทำอย่างระมัดระวังเช่นกัน
นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องการเมืองนั้น ก็เป็นโจทย์ของประเทศไทยที่ต้องแก้ไขกันไป กรณีการขัดแย้งในรัฐสภาฯก็เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยที่จะไม่มีใครทำอะไรได้เพียงคนเดียว แต่หากเรื่องยังไม่จบทำให้งบลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทสะดุดนั้น ก็คงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่จะยังขับเคลื่อนต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น