xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์โค่นเผด็จการสู่การปฏิวัติธรรมาธิปไตย 9

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลาย ในนามผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และด้วยความจงรักภักดีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันเพื่อแก้ไขเหตุวิกฤตชาติและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างถาวร ขอเสนอต่อพี่น้องประชาชนดังต่อไปนี้

นับแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมากถึง 18 ฉบับ มีเหตุการณ์ที่ไทยเราต้องตกอยู่ในสภาพเสี่ยงภัยและเสียเวลา ตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัฐกาลที่ 7 ได้ทรงวินิจฉัยและคัดค้านตักเตือนอย่างถึงที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2477 คือ 76 ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ยิ่งนัก ที่ทรงเห็นกาลไกล ประมวลโดยย่อ ดังนี้

1. 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอดโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นต้นมา ยาวนาน 81 ปีแล้ว

2. พระมหากษัตริย์ ทรงคัดค้านอย่างถึงที่สุดด้วยการสละพระราชสมบัติ

3. เกิดรัฐประหาร 13 ครั้ง จาก 2475-2549

4. เกิดกบฏ เนื่องจากทำรัฐประหารไม่สำเร็จ 12 ครั้ง จาก 2475- ปัจจุบัน

5. เกิดสงครามก่อการร้ายโดยพรรคคอมมิวนิสต์ พ. ศ. 2508 - 2512

6. เกิดสงครามกลางเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ พ. ศ. 2512-2525 ยุติลงได้ด้วยนโยบาย คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

7. เกิดการจลาจลทางการเมืองใหญ่ 3 ครั้ง ได้แก่

- เหตุการณ์จลาจล 14 ตุลาคม 2516

- เหตุการณ์จลาจล 6 ตุลาคม 2519

- และเหตุการณ์จลาจล 19 - 20 พฤษภาคม 2535

ทั้ง 3 เหตุการณ์ เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ผลที่ได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญ ทั้งโดนหลอกและเข้าใจผิดว่าได้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ก็เป็นระบอบเผด็จการทุกครั้งไป

8. วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง พ. ศ. 2540 - ปัจจุบัน

9. ปัญหาการครอบงำทางเศรษฐกิจ, สังคม จากประเทศมหาอำนาจ

10. ประชาชนยากจน และเป็นหนี้สาธารณะ เฉลี่ยคนละร่วมหนึ่งแสนบาท

11. ปัญหาแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดภาคใต้

12. ปัญหาอบายมุข ความเสื่อมทรามทางสังคมเลวร้ายมากที่สุด ฯลฯ

13. ปัญหาคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางเกือบทุกรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลทักษิณและรัฐประหาร 19 กันยายน 2549ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ก็เป็นผลจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

14. การชุมนุมของคนเสื้อแดงและก่อการร้าย นำโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ และพรรคพวก

15. รัฐบาลต่อๆ มาในรัฐธรรมนูญ ปี 50 ก็เต็มไปด้วยการกู้ และการคอร์รัปชัน ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากมาย ประชาชนก็จนลงๆ

เหตุการณ์เหล่านี้ผลมาจากความไม่เป็นธรรมโดยรัฐธรรมนูญ ที่สั่งสมกันมายาวนานถึง 81 ปี

ดังกล่าวนี้พวกเราชาวไทยทั้งมวลต่างก็ตกอยู่ภาวะ“เสี่ยงภัยและเสียเวลา” ล้าหลังมามากเกินพอแล้ว ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก การล้มเลิกรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งเกือบจะทั้งหมดเกิดจากความขัดแย้งช่วงชิงอำนาจรัฐและผลประโยชน์ระหว่างผู้ปกครองด้วยกันเองทั้งสิ้น เป็นการวนเวียนระหว่างรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลจากเลือกตั้งรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลจากเลือกตั้ง...เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจึงก่อให้เกิดวงจรที่เรียกกันว่า “วงจรโคตรอุบาทว์” (wicked cycle)

ทั้งนี้เกิดจากแนวคิดที่เป็นมิจฉาทิฐิอันใหญ่หลวงหลัก 5 ประการได้หลงผิดกันมาอย่างร้ายแรงที่สุดและแก้ไขยากที่สุด ได้แก่

1. เข้าใจผิดในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างระบอบ (หลักการปกครอง) กับรัฐธรรมนูญ ปัญญาที่ถูกต้อง โดยรัฐบาลนี้ต้องเสนอนโยบาย เพื่อสถาปนาระบอบหรือหลักการปกครองขึ้นมาให้ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันความถูกต้องและเป็นธรรมต่อปวงชนในชาติของเรา โดยมีหลักการปกครองโดยธรรมเป็นศูนย์กลางแห่งความสามัคคีของปวงชนในชาติในทุกๆ ด้าน

2. การเข้าใจผิดของผู้ปกครองไทยมากถึง 18 คณะ คือยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะสร้างระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวิธีการมิจฉาทิฐิเป็นที่ทราบชัดแล้วว่าก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองทั้ง 18 ฉบับยาวนานกว่า 81 ปี เป็นเหตุแห่งวิกฤตชาติ และสร้างความล้มเหลวซ้ำซากในการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญญาที่ถูกต้องคือ สร้างหลักการปกครองโดยธรรมด้วยนโยบายแห่งชาติ คือสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9

3. เข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญคือระบอบประชาธิปไตย ปัญญาที่ถูกต้องคือ “รัฐธรรมนูญไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย” ระบอบก็คือหลักการปกครอง (Principle of Government) ส่วนรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีการปกครอง (Methods of Government) ได้แก่ หมวดและมาตราต่างๆ มีหน้าที่สะท้อนระบอบ และรักษาหลักการปกครองนั้นๆ ไว้ แต่ผู้ปกครอง ทุกรัฐบาลทำผิดมาตลอด 81 ปี

4. เข้าใจผิดว่ารูปการปกครอง (Form of Government) เป็นระบอบประชาธิปไตย คือเข้าใจผิดว่าระบบรัฐสภา (Parliamentary System) เป็นระบอบประชาธิปไตย ปัญญาที่ถูกต้อง ระบบรัฐสภาเป็นเพียงรูปการปกครองชนิดหนึ่งที่เหมาะกับประเทศราชอาณาจักร มีไว้เพื่อจัดความสัมพันธ์องค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ว่าจะถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวว่าจะเป็นระบอบอะไรก็ได้

5. เข้าใจผิดว่าการเลือกตั้งเป็นระบอบประชาธิปไตย ปัญญาที่ถูกต้อง การเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่งในการคัดสรรคนเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นของกลางๆ หมายความว่าระบอบอะไรๆ ก็นำไปใช้ได้

ด้วยแนวคิดความเชื่อผิดๆ ดังกล่าว ได้ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติของเรามายาวนานจึงเป็นภารกิจของผู้รักชาติทุกคนจะได้ร่วมมือกับพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ด้วยความสำนึกในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”และปัญญาอันยิ่งใหญ่นี้ แก้ไขให้ผ่านพ้นไปให้จงได้

ระบบสุริยจักรวาล หากไม่ดวงอาทิตย์ มันจะดำรงอยู่ไม่ได้

เซลล์ หากไม่มีนิวเครียส มันจะดำรงอยู่ไม่ได้

มนุษย์ หากไม่มีจิตบริสุทธิ์เดิมแท้ หรือธรรมาธิปไตยภายในจิตใจ จะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้

ยุทธวิธี หากไม่มียุทธศาสตร์ มันจะสำเสร็จลุล่วงไปไม่ได้

วิธีการ หากไม่มีจุดมุ่งหมาย มันจะไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย

ฉันใดก็ ฉันนั้น การที่รัฐธรรมนูญ ไม่มีหลักการปกครองโดยธรรม(ธรรมาธิปไตย 9) หรือไม่มีระบอบโดยธรรม มันก็ดำรงอยู่ไม่ได้ แต่มันจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างภายในชาติของเรา

ผู้ปัญญาย่อมมองเห็นภัยอันร้ายแรงอันใหญ่หลวงนี้ ที่ได้ครอบงำทำลายประเทศไทยเราอยู่นานเกินไปแล้ว

ผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และผู้จงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นของพี่น้องปวงชนในชาติ จึงได้มีนโยบายรุกกลับทางการเมือง ด้วยการนำเสนอแนวทางการเมืองโดยธรรมที่เหนือกว่า กล่าวคือ

- จากไม่มีหลักการปกครอง เสนอให้มีการสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม คือหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9

- จากรัฐธรรมนูญไม่มีหลักการปกครอง เปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญมีหลักการปกครอง

- จากการเมืองของนักการเมือง เปลี่ยนเป็นการเมืองโดยธรรมของปวงชนในชาติคือหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9

- จากรัฐบาลของนักการเมืองเพียงหยิบมือเดียวเปลี่ยนเป็นรัฐบาลของปวงชนในชาติอย่างแท้จริง

- จากสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มั่นคง ซึ่งบัญญัติไว้นั้นเป็นเพียงวิธีการปกครองในหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงสูงสุด โดยยกย่อง เทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นหลักหนึ่งในหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 (อุปมาจากเดิมพระมหากษัตริย์ดุจดังดาวเคราะห์ เปลี่ยนเป็นดาวฤกษ์)

ขั้นตอนที่หนึ่ง ผู้รักชาติฯ ประกาศนโยบาย เสนอหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 อันเป็นรากฐาน แก่นแท้ของชาติมาแต่ดังเดิมโดยย่อดังนี้

(1) หลักธรรมาธิปไตย (2) หลักพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ (3) หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ (5) หลักความเสมอภาคทางโอกาส (6) หลักภราดรภาพ (7) หลักเอกภาพ (8) หลักดุลยภาพ (9) หลักนิติธรรม

ผู้มีอำนาจ หรือรัฐบาล นำทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาวินิจฉัยและทรงสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 และประกาศลงในหนังสือราชกิจนุเบกษา

ขั้นตอนที่สองดำเนินการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองให้มีความเป็นธรรม สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9

ขั้นตอนที่สามปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ โดยใช้หลักระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ปฏิรูปที่ดิน กำหนดเพดานในการครอบครองที่ดินและปัจจัยการผลิตและความร่ำรวย และโดยเฉพาะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในเบื้องต้นอย่างถ้วนทั่ว

แกนนำ จะอธิบายขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ ให้พี่น้องประชาชนรับทราบต่อไป เป็นลำดับๆ ลำดับไปแกนนำผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประชาชนเท่านั้นที่จะรับผิดชอบและจะปฏิบัติผลักดันให้เป็นจริงได้ในเร็ววัน
กำลังโหลดความคิดเห็น