xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สิ้น “สมเด็จเกี่ยว”ถึงยุค “สมเด็จวัดปากน้ำ-ธรรมกาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9)
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การมรณภาพของ “สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9)” หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สมเด็จเกี่ยว” ในฐานะเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้สร้างคุณูปการแก่คณะสงฆ์ไทยหลากหลายด้าน

ขณะเดียวกันก็ทำให้ตำแหน่งที่สำคัญของคณะสงฆ์ว่างลงถึง 3 ตำแหน่งด้วยกันคือ 1.ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ 2.ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และ 3.ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นที่จับตาว่า พระเถรานุเถระรูปไหนจะได้รับการแต่งตั้งและได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้มาดำรงตำแหน่งที่ว่างลง โดยเฉพาะตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับประวัติชีวิต สมเด็จพระพุฒาจารย์มีนามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2471 ที่บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 7 คนของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่(เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย่(ยี โชคชัย) โดยครอบครัวมีอาชีพทำสวนมะพร้าว ซึ่งในปัจจุบันทายาทสกุลโชคชัยหรือแซ่โหย่ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นโชคคณาพิทักษ์

เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดภูเขาทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นมารดาได้นำไปฝากไว้กับพระครูอรุณกิจโกศล(หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ต.อ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่หลวงพ่อพริ้งเห็นว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา มีวิริยะอุตสาหะ จึงนำไปฝากไว้กับสมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทยมหาเถร) โดยอยู่ในการปกครองของพระธรรมเจดีย์(เทียบ ธมฺมธโร) ที่วัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศโดยมีสมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เมื่อครั้งที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

ในด้านการศึกษาและหน้าที่การงาน สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในปี พ.ศ.2497 จากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งและสถาปนาสมณศักดิ์มาเป็นลำดับ โดยเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระเมธีสุทธิพงศ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชวิสุทธิเมธี พระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพคุณาภรณ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมคุณาภรณ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นพระหิรัญบัฏที่พระพรหมคุณาภรณ์ ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏในสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ในปี พ.ศ.2533

ในช่วงตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ได้เข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำเนื่องจากอาพาธก่อนที่จะมรณภาพลงอย่างสงบเมื่อเวลา 08.41 น. ของวันที่ 10 ส.ค.2556 ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลสมิติเวชด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตและโรคชรา สิริรวมอายุได้ 85 ปี 6 เดือน 65 พรรษา โดยได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองพร้อมด้วยเครื่องประกอบเกียรติยศศพตามฐานันดรสมเด็จพระราชาคณะ

ทั้งนี้ การมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ทำให้ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชต้องว่างลง ดังนั้น มหาเถรสมาคม(มส.) จะมีการคัดเลือกประธานฯรูปใหม่จากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชที่เหลือจำนวน 7 รูป แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย 3 รูปคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม สมเด็จพระพุทธชินวงศ์(สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร

ฝ่ายธรรมยุต 4 รูป ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์(อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระวันรัต(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และสมเด็จพระธีรญาณมุนี(สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิ รินทราวาส

กระนั้นก็ดี สมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการคัดเลือกจากมหาเถรสมาคมให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ก็คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เนื่องเพราะ ในช่วง 3 ปีที่สมเด็จพระพุฒาจารย์อาพาธ สมเด็จวัดปากน้ำจะทำหน้าที่เป็ น ประธานในงานพิธี งานรัฐพิธีและงานพระราชพิธีสำคัญๆ แทนอยู่เสมอๆ ด้วยมีอาวุโสในทางสมศักดิ์สูงสุดและได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นๆ

“หลักในการคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจะพิจารณาตามความอาวุโสทางสมณศักดิ์เป็นหลัก ซึ่งในขณะนี้ถือว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุด”นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) แจงแจงข้อมูล

ดังนั้น เชื่อได้ว่า ตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจะตกเป็นเป็นของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) อย่างไม่มีข้อสงสัย เนื่องเพราะมีความชอบธรรมมากที่สุด

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) มีนามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดเมื่อ วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ณ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่ออายุได้ 14 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมี พระครูศีลาภิรัต (ทอง) วัดลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขต ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อครั้ง ดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิโมลี เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชเวที เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมธีรราชมหามุนีเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่พระธรรมปัญญาบดี และได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2538

ปัจจุบันได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือและแม่กองบาลีสนามหลวง รวมถึงเป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) นั้น ถือได้ว่าเป็นพระเถรานุเถระที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดพระธรรมกายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) แต่ประการใด ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ ของทางวัดพระธรรมกายมักจะมีความเกี่ยวโยงกับวัดปากน้ำภาษีเจริญเสมอๆ เช่น ขบวนธุดงค์ธรรมชัยและการแห่รูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) ที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่วัดปากน้ำ ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

อย่างไรก็ตาม นอกจากตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแล้ว ยังมีอีก 2 ตำแหน่งที่ว่างลงจากการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) คือตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหารและเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลและไล่เรียงความเป็นไปได้ ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับคาดหมายว่า จะได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมารักษาการทั้ง 2 ตำแหน่งน่าจะเป็น “พระพรหมสุธี(เสนาะ ปญฺญาวชิโร)” หรือเจ้าคุณเสนาะ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศและเจ้าคณะภาค 12 ที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์ไม่เป็นสองรองใครและที่สำคัญคือเป็นพระที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “มือขวา” ในการทำงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์นั่นเอง

และก็เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้มอบคำสั่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครซึ่งปัจจุบันมีพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยาเป็นเจ้าคณะให้กับพระพรหมสุธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ โดยตามธรรมเนียมหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้สักระยะหนึ่ง เจ้าคณะผู้ปกครองก็จะเสนอแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการต่อไป

นอกจากนั้น พระพรหมสุธียังได้รับการคาดหมายด้วยว่า จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ในการสถาปนาเลื่อนตั้งสมณศักดิ์ ประจำปี 2556ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ แม้ว่าจะมีอาวุโสเป็นลำดับที่ 5 รองจากพระธรรมปัญญาบดี เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ พระพรหมเวที เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา และพระพรหมคุณาภรณ์(เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต) ประธานสงฆ์วัดญาณเวสกวัน ซึ่งเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะทั้งหมดก็ตาม เนื่องจากมหาเถรสมาคมมักจะเสนอชื่อพระสงฆ์ที่ใกล้ชิดกับสมเด็จฯ ที่มรณภาพลงเพื่อให้สานต่องานที่เคยทำและไม่เป็นการหักหาญสมเด็จฯ ที่มรณภาพ

ที่สำคัญที่ต้องย้ำกันอีกครั้งก็คือ “พระพรหมสุธี(เสนาะ ปญฺญาวชิโร) นั้นมีความใกล้ชิดกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าหากจะได้รับการสถาปนาต่อจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพราะถ้าจะว่าไปแล้วก็ต้องบอกว่า เจ้าคุณเสนาะถูกวางตัวเอาไว้ตั้งแต่แรก

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้อยู่ตรงที่ ถ้าหากพระพรหมสุธีได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็จะถือเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 56 ปีเนื่องจากพระพรหมสุธีเกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ขณะที่สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีอาวุโสสูงกล่าวทั้งสิ้น กล่าวคือ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะปัจจุบันมีทั้งสิ้น 7 รูป ผู้ที่มีอาวุโสสมณศักดิ์สูงสุดคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ มหานิกาย อายุ 87 ปี รองลงมาคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ธรรมยุต อายุ 95ปี สมเด็จพระมหานุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ธรรมยุต อายุ 86 ปี สมเด็จพระวันรัต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ธรรมยุต อายุ 76 ปี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ มหานิกาย อายุ 82 ปี สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ธรมยุต อายุ 65ปี และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม มหานิกาย อายุ 72 ปี

ด้วยเหตุนี้ เมื่อประมวลสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงอำนาจในพุทธจักรแล้ว คงสามารถกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และพระพรหมสุธีคือ สองพระเถรานุเถระที่จะทรงอำนาจและบารมีสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทย เฉกเช่นเดียวกับวัดพระธรรมกายของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ที่จะดำรงความยิ่งใหญ่เอาไว้โดยที่ไม่มีผู้ใดมารบกวนให้ระคายเคืองได้....นะจ๊ะ


สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้มีอาวุโสสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย
“พระพรหมสุธี(เสนาะ ปญฺญาวชิโร)” หรือเจ้าคุณเสนาะ ซึ่งปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น