ภาพใบหน้าที่บอบช้ำบวมเป่งและรอยฟกช้ำทั่วใบหน้าของนายปิยะ เทศแย้มนายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมาสร้างความตระหนกตกใจแก่สังคมไม่น้อย นายปิยะ เทศแย้ม ได้ถูกรุมทำร้ายร่างกายที่บริเวณสะพานปลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเวลาที่เขาได้นำเรือมายังสะพานปลาพร้อมแม่และลูกชาย เพื่อจะนำปลาขึ้นฝั่งที่นั่น ปรากฏว่าได้มีชายฉกรรจ์ 4 คน เดินเข้ามาหาและรุมทำร้ายชกต่อยเขา เขาจำได้ว่าชายคนหนึ่งในกลุ่มดังกล่าวเป็นเจ้าของเรือลาภอลังการซึ่งทำการประมงชนิดเรือคราดหอยลาย ที่เพิ่งถูกจับกุมล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 56 ที่ผ่านมาร่วมอยู่ด้วย
หนึ่งในนั้นเข้ามาต่อว่าเขา ว่าหาเรื่องทำให้เรือคราดหอยถูกจับ เขาได้พูดตอบโต้ไปว่าเขาทำเพื่อส่วนรวมเพราะเรือคราดหอยลายทำให้พี่น้องประมงชายฝั่งได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในขณะที่โต้เถียงอยู่นั้นได้มีชายอีกคนเดินอ้อมมาด้านข้างและตรงเข้าชกต่อยเขาและพร้อมกับมีชายอีก 2-3 คนเข้ามารุมทำร้าย เขาตอบโต้ได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถสู้ได้ เขาถูกรุมชกต่อยอยู่นานเกือบ 30 นาที แล้วชายทั้ง 4 คนได้หลบหนีไป เขาถูกรุมทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัสตอนนี้ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประจวบฯ
คนทั่วๆ ไปอาจจะมองว่านี่เป็นการทะเลาะวิวาทกันปกติของสถานที่ดังกล่าว แต่กรณีนี้ไม่ใช่ เพราะปิยะ เทศแย้ม คือแกนนำชาวประมงพื้นบ้านที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองแหล่งทำมาหากินของเขาและพี่น้องประมงชายฝั่งที่นั่น ศัตรูที่สำคัญก็ไม่ต่างจากปัญหาของชุมชนประมงชายฝั่งทั่วประเทศ คือการที่ประมงพาณิชย์ที่ทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง เช่น เรืออวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟและเรือคราดหอย เข้ามาทำการประมงในเขตหวงห้าม โดยทั่วไปกลุ่มชาวประมงซึ่งอ่อนแอกว่ามักต้องยอมหวานอมขมกลืนจากการกระทำดังกล่าว ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กันเสียหมดในเกือบทุกพื้นที่ แต่สำหรับที่นี่พวกเขาทำอะไรโดยพลการได้ไม่ง่ายนักเพราะมีคนอย่างปิยะ เทศแย้มที่เขารวมตัวกันกับพี่น้องอย่างเหนียวแน่นที่ไม่ยอมจำนนต่อการกระทำเช่นนั้นในพื้นที่ของเขา
ปิยะ เทศแย้ม เขาอาจจะเป็นตัวแสบสำหรับเจ้าของธุรกิจประมงที่ทำมาหากินโดยไม่คำนึงถึงอนาคต และทำการประมงโดยไม่เคารพกฎหมาย เขามักจะเป็นหัวหอกในการนำพี่น้องประมงในชุมชนของเขาออกไปตรวจจับร่วมกับหน่วยงานราชการอยู่เสมอๆ เขาอาจจะเป็นตัวร้ายสำหรับหน่วยงานราชการที่ไม่รับผิดชอบและไม่ทำหน้าที่ และพวกที่หากินกับเศษเสี้ยวของงบประมาณแผ่นดิน เขาเคยนำชาวบ้านตรวจนับลูกกุ้งที่ทางกรมประมงทำโครงการเอามาปล่อยลงทะเล โดยอ้างว่านำมาจำนวนเท่านั้นเท่านี้ หลังจากเขาตรวจนับปรากฏว่ามีจำนวนไม่ตรงกับที่หน่วยงานราชการแจ้งมา เขาไม่ยอมรับ ทำให้หน่วยงานนั้นๆ ต้องไปหามาเพิ่มให้ครบตามจำนวนอย่างนี้เป็นต้น
วันนี้เขาอายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 114 หมู่ 3 ต.เขาแดง อ.กุยบุรี เป็นลูกชาวประมงเติบโตมาจากท้องทะเล เขาเริ่มประกอบอาชีพประมงตั้งแต่อายุ 12 ปีเห็นปัญหาการลดลงของสัตว์น้ำจากการทำประมงเรือคราดหอย จึงเข้าร่วมเรียกร้องกับกลุ่มชาวประมงในจังหวัดประจวบฯ ตลอดมาเช่นเมื่อปี 2547 ในสมัยที่นายเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบกรมประมง เขาเคลื่อนไหวให้มีการรวมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องเรือคราดหอย มีการเรียกร้องให้นายเนวินได้ออกประกาศเขตการห้ามทำประมงในเขตจังหวัดประจวบฯ
ในปี 2538 นายปิยะ เทศแย้มได้เข้าร่วมกับกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูดที่มีเพื่อนรักของเขาเป็นแกนนำคือเจริญ วัดอักษร จนกระทั่งปี 2551 เขาได้ชักชวนพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจัดตั้งสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อยขึ้นมา และเขาได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกให้เป็นนายกสมาคมฯ ชีวิตครอบครัวของปิยะ เขามีลูก 3 คน ปิยะพูดเสมอว่า อยากให้ลูกชายเป็นชาวประมง ลูกชายทั้ง 2 คนของเขาจึงช่วยออกเรือจับปลากับพ่อมาตลอด เขาฝึกให้ลูกชายเป็นชาวประมงโดยให้ทำงานตั้งแต่เล็กๆ ปิยะเคยบอกว่าเป็นการสอนลูกให้มีประสบการณ์ชีวิต การศึกษาในระบบโรงเรียนไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตและการทำมาหากินได้ ลูกชายของเขาจึงช่วยพ่อออกเรือและเป็นไต๋เรือได้เองในขณะที่อายุเพียงแค่ 10 กว่าปี และเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการออกทะเล แต่เขาก็ไม่ได้ละเลยการศึกษาเสียทีเดียว ปิยะให้ลูกชายลงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ กศน.ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตเป็นชาวประมง
ปิยะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีประกาศจังหวัดในการห้ามทำการประมงคราดหอยในเขต 5400 เมตร จากเดิมประกาศห้ามเรือคราดหอยอยู่ในแค่ 3,000 เมตรเท่านั้น การต่อสู้ผลักดันให้มีการประกาศเขตดังกล่าวทำให้พันธุ์สัตว์น้ำมีมากขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตลอดเวลาที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มีการเผชิญหน้ากันตลอดระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและเรือคราดหอยลาย ปิยะทำหน้าที่นำชาวบ้านเรียกร้องกดดันให้หน่วยงานรัฐออกตรวจจับเรือคราดหอยยู่ตลอด ทำให้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบเขาและก็มีข่าวการข่มขู่เอาชีวิตจากกลุ่มเรือคราดหอยมาตลอด
โดยก่อนหน้านี้เขาเล่าว่าเคยถูกข่มขู่เอาชีวิตหลายครั้งและมีการตั้งค่าหัวเขาจาก 4 แสนบาท เพิ่มเป็น 8 แสนบาท เนื่องจากที่ผ่านมา เขาได้นำชาวบ้านออกมาต่อต้านเรือคราดหอยลายที่ลักลอบคราดหอยลายในเขตหวงห้ามระยะ 3 ไมล์ทะเล ในเขตเป็น 5 ไมล์ทะเล ทำให้ประมงจากกลุ่มเรือคราดหอยลายไม่พอใจ เพราะสูญเสียประโยชน์จากการทำธุรกิจและถูกเจ้าหน้าที่ประมงดำเนินการจับกุมดำเนินอย่างต่อเนื่องหลายคดี
หอยลายคือทรัพยากรที่มีราคาสูงและมีปริมาณมากในพื้นที่ชายฝั่ง เรือคราดหอยลายคือปัญหาที่สร้างความขัดแย้งในทุกพื้นที่ต่อวิถีการทำการประมงของประมงพื้นบ้าน นอกจากขบวนการคราดหอยที่ขุดคุ้ยเอาหน้าดินที่มีหอยหนามขึ้นมา ก่อให้เกิดแก๊สไข่น้ำที่จะทำให้พันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ ต้องหนีไปแล้ว การทำการเรือคราดหอยยังทำให้เครื่องมือทำการประมงชนิดอวนลอย เช่น อวนลอยกุ้ง ปู ปลา ของพี่น้องที่ทำการประมงด้วยเครื่องมือดังกล่าวได้รับความเสียหาย ลูกน้ำเค็มอย่างปิยะ เทศแย้มเป็นอีกหนึ่งคนที่เขาไม่ยอมจำนนต่อปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ เขาลุกขึ้นสู้ทุกช่องทางที่เป็นสิทธิของเขาและพี่น้องชาวประมง ที่ทำมาหากินด้วยวิธีการที่สุจริตเลี้ยงครอบครัวของตัวเองและชุมชน
เรือคราดหอยลาย ที่เข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล 3,000 เมตร ในพื้นที่ อ.ปราณบุรี อ.หัวหิน อ.กุยบุรี อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งหอยลายชุกชุม และได้สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำและเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้าน ทางจังหวัดประจวบฯ เองก็ได้มีประกาศห้ามทำการประมงคราดหอยลายในระยะ 5,400 เมตรห่างจากชายฝั่ง แต่เรือคราดหอยลายก็ยังคงลักลอบทำการประมงในระยะต่ำกว่า 3,000 เมตร โดยเฉพาะบริเวณบ้านโพนเรียง บ้านทุ่งน้อย บ้านคั่นกระได ตั้งแต่อำเภอกุยบุรี ลงมาจนถึงอำเภอเมือง ปิยะ เทศแย้ม เขาได้ลุกขึ้นมาปกป้องอาชีพเขาและชุมชนของเขา แต่วันนี้ชีวิตของเขาเสมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย เขาถูกรุมทำร้ายบอบช้ำไปทั้งร่าง และเป็นการส่งสัญญาณมาจากกลุ่มเรือคราดหอยลายว่า “นี่คือการตักเตือนเท่านั้น” อยากถามท่านผู้ว่าราชการประจวบฯเจ้าหน้าที่ตำรวจในประจวบฯ และหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่โดยเฉพาะกรมประมงว่า พวกท่านสบายดีกันอยู่หรือ???.