xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

PTTGCบริษัทลูก ปตท. ผู้ร่ำรวยด้วยทรัพย์ศฤงคาร 4.36 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ผลพวงจากกรณีท่อรับน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เกิดรั่วไหลเมื่อเช้าวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และทำให้น้ำมันดิบที่ PTTGC อ้างว่ามีจำนวน 50,000 ลิตรหรือ 50 ตัน แต่นักวิชาการจากหลายสำนักยืนยันว่ามากกว่านั้น ไหลทะลักเกลื่อนทะเลก่อนที่เคลื่อนตัวเข้าทำความพินาศฉิบหายต่ออ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยองนั้น เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า PTTGC นั้น เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการงานใด และมีความร่ำรวยหรือมีกำรี้กำไรในแต่ละปีมากน้อยแค่ ไหน

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เป็นบริษัทในเครือปตท. ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นแบบครบวงจรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยและเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์รวม 8.45 ล้านตันต่อปี และมีกำลังการกลั่นน้ำมัน 2.8 แสนบาร์เรล/วัน โดยมีการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศในสายเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ

ปตท. วางยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจโดยให้ PTTGC ขึ้นเป็นแกนนำของธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของกลุ่ม ปตท. ในการรุกตลาดและลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการก้าวสู่จุดนี้ได้จำเป็นที่PTTGC ต้องมีความแข็งแกร่งและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาผลิตภัณฑ์และการแข่งขันในตลาดโลก

PTTGC ก่อตั้งเมื่อ 19 ตุลาคม 2554 หรือเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่มีมูลค่าสินทรัพย์สูงถึง 4.36 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2555

ทั้งนี้ จากการย้อนดูประวัติความเป็นมาพบว่า PTTGC เป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการบริษัทในเครือปตท.ถึง 4 บริษัทฯด้วยกัน เริ่มตั้งแต่บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2527 โดยมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.ก่อนแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจ) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในยุคกระแสโชติช่วงชัชวาลสมัยเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไทยค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและมีการต่อยอดธุรกิจไปสู่ปิโตรเคมี โดยนำก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซฯมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นสารโอเลฟินส์ (เอทิลีนและโพรพิลีน) ขายให้กับบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัดในกลุ่มตระกูลเอื้อชูเกียรติ กลุ่มศรีกรุงวัฒนา ผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกโดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นแกนนำ กลุ่มปิโตรเคมีในเครือซิเมนต์ไทย และบริษัท ปิโตรเคมีกัลป์ไทย (ทีพีไอ) ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ในยุคนั้น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

หลังจากนั้น ปตท. ก็ตั้งบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน)(TOC) ขึ้นมาในปี 2533 โดยใช้วัตถุดิบจากแนฟธาและก๊าซฯขึ้นอีกโรงหนึ่งตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 2 หลังจากความต้องการใช้โอเลฟินส์ในการผลิตเม็ดพลาสติกหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่จะดำเนินการควบกิจการทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็นบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTCH)ในปี 2548 ซึ่งดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปิโตรเคมีต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ทำเม็ดพลาสติกแข่งขันกับอดีตลูกค้าของตนเองด้วย

ช่วงระหว่างนั้นปตท.ก็ศึกษาที่จะนำคอนเดนเสทที่ได้จากการเจาะผลิตปิโตรเลียมของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)มาต่อยอดเพิ่มมูลค่า โดยตั้งเป็นบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) (ATC) เพื่อผลิตสารอะโรเมติกส์ในปี 2532

หลังจากนั้นก็มีการควบรวมกิจการระหว่าง ATC กับบริษัท โรงกลั่นน้ำมัน ระยอง จำกัด (RRC) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ปตท.ซื้อกิจการจากเชลล์ฯในราคาที่ต่ำมากโดยตั้งเป็น บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR)ในปลายปี 2550 และในปี 2554 ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ซีอีโอปตท.ในยุคนั้นได้ดำเนินการควบรวมกิจการ ระหว่าง PTTCH กับ PTTAR ตั้งเป็นบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTGC) ในปัจจุบัน โดยประเสริฐ ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการครั้งนี้ ด้วยนโยบายให้PTTGC เป็นแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ในเครือปตท. หรือกล่าวได้ว่าหากปตท.จะมีการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีใดๆ ขึ้นในอนาคตPTTC จะเป็นหัวหอกสำคัญในการเข้าไปร่วมลงทุน

ขณะเดียวกัน บริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อื่นๆที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ในอนาคตก็จะนำมารวมกิจการไว้ใน PTTGC ซึ่งรวมถึงบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)(IRPC) หรืออดีตบริษัท ทีพีไอเดิมที่ปตท.ฮุบกิจการมาในช่วงที่ทีพีไอปรับโครงสร้างหนี้ด้วย

สำหรับผลประกอบการของPTTGC ในงวดปี 2555 และไตรมาส1/2556 มีรายได้รวม 5.72 แสนล้านบาท และ 1.45 แสนล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 3.40 พันล้านบาท และ 1.20 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งงวดปี 2555 PTTGC มีจ่ายเงินปันผล 3.40 บาท/หุ้น และปีนี้คาดว่าจะจ่ายไม่ต่ำกว่า เนื่องจากปีนี้ PTTGC ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้เติบโตขึ้นจากปีก่อน 5-10% และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) โตขึ้น 10%เนื่องจากรายได้ PTTGC ในแต่ละปีสูงถึง 5-6 แสนล้านบาท และในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

หลังจากบริษัทฯได้มีการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยจับมือกับกลุ่มปิโตรนาส ของมาเลเซีย เปอร์ตามินาของอินโดนีเซียผุดโปรเจ็กต์ปิโตรเคมี คอมเพล็กซืที่อินโดฯ รวมทั้งล่าสุดเซ็นสัญญาเอ็มโอยูความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับซิโนเคม กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนเพื่อดูลู่ทางการร่วมลงทุนตั้งโรงงานในจีนด้วย

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ PTTGC และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ที่ยังมีบทบาทสำคัญในปตท. ได้มอบนโยบายให้อนนต์ สิริแสงทักษิณ ซีอีโอ PTTGC ปั้น PTTGC ให้ติดอันดับFortune Global 500 เหมือนกับปตท.ที่ปัจจุบันติดอันดับ Forture Global 500 ที่ลำดับ 81 ให้ได้ในอนาคต


อนนต์ สิริแสงทักษิณ

กำลังโหลดความคิดเห็น