xs
xsm
sm
md
lg

NGOกระทุ้ง“เค วอเตอร์” หวั่น! ไม่เป็นมิตรทำงานในไทยลำบาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(16 ก.ค.56) นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) เขียนบทความเรื่อง “บทเรียนจากเกาหลีสู่ไทย ความขุ่นมัวในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน” ตอนหนึ่งมีใจความว่า ผมทำงานเรื่องน้ำมานาน ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าโมดูลทั้งหลายในชุดโครงการ 3.5 แสนล้าน มาจากไหน ทั้งเขื่อน แก้มลิงล้านไร่ ฟลัดเวย์ ฯลฯ จนวันนี้ยังไม่เห็นว่ามีผลการศึกษาชิ้นไหนระบุว่าชุดโครงการนี้จะแก้ปัญหาน้ำ ท่วมได้ เพราะส่วนหนึ่งของรากเหง้าปัญหาน้ำท่วมคือ การใช้ที่ดินอย่างไม่มีการวางแผน เมือง บ้านจัดสรร โรงงานไปอยู่ในที่น้ำหลากตามธรรมชาติ ทำลายพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ
ผมเองก็คงเหมือนคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่รู้จักบริษัทเควอเตอร์ดีพอ และไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมบริษัทนี้ถึงได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการฟลัดเวย์และแก้มลิง
“คุณยัม ฮคองเชิล ผอ.องค์กรสิ่งแวดล้อมเกาหลี KFEM ที่เคยทำงานกันมานานเป็นสิบปี เราร่วมงานกันในเครือข่าย Rivers Watch East and Southeast Asia-RWESA เมื่อปี 2546 เคยจัดการประชุมนานาชาติของผู้เดือดร้อนเรื่องเขื่อน ระดับโลกครั้งที่ 2 ที่เขื่อนราษีไศล
ในแวดวงสิ่งแวดล้อมเกาหลี KFEM เป็นองค์กรใหญ่มากและเป็นหัวหอกในหลายด้านโดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน โครงการใหญ่ล่าสุดที่ตรวจสอบกันอย่างหนัก คือโครงการ 4 แม่น้ำสายหลัก 4 Major Rivers Project ที่สร้างเขื่อนเกือบ 20 แห่ง และขุดลอก/เทคอนกรีตแม่น้ำสายหลักของเกาหลี จนเหลือสภาพเป็นแค่คลองระบายน้ำ ระบบนิเวศพังยับเยิน และนี่คือโครงการที่เควอเตอร์ทำในเกาหลี
ยัม ร่วมเดินทางลงพื้นที่ตำบลชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ หลายพื้นที่ในจ.นครสวรรค์ เขารู้สึกเป็นห่วงเพราะไม่แน่ใจว่าเควอเตอร์จะสามารถทำโครงการได้จริง ล่าสุดในรายงานตรวจสอบโครงการโดยคณะกรรมการตรวจเงินและประเมิน ของเกาหลี ชี้ว่าโครงการ 4 แม่น้ำสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางน้ำจากเขื่อน 16แห่งและอื่นๆ ทำให้เกิดมลภาวะ สาหร่ายเขียวแพร่กระจาย รายงานแนะนำว่าควรเปิดเผยข้อมูลต่อสารธารณะตั้งแต่ต้น รายงานนี้ออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2556
กลับมามองบ้านเรา เห็นได้ชัดว่าเริ่มมีสัญญาณแปลกๆ จากรัฐบาลเกาหลีมาตั้งแต่ต้นเมื่อครั้งที่ชาวบ้านเดินทางไปยื่นจดหมายที่สถานเอกอัคราชทูตเกาหลีใต้ตอนปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถานฑูตเขาก็อีเมลตอบสั้นๆ ถามย้อนกลับมาอีกว่าเราไปยื่นจดหมายที่สถานฑูตจีนด้วยหรือเปล่า ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาถามเพื่ออะไร ครั้งนี้ก็เช่นกันทูตเกาหลีออกมาแจงแทนบริษัทเควอเตอร์ ทั้งๆที่ยังไม่เคยได้ยินข่าวว่าลงไปดูพื้นที่เลยและไม่รู้ว่าประชาชนไทยจะต้องประสบชะตากรรมเยี่ยงไร หากปล่อยให้เควอเตอร์ดำเนินโครงการ จริงๆแล้วสถานทูตควรเป็นตัวแทนของประชาชนชาวเกาหลี มิใช่เป็นตัวแทนบริษัท ที่สำคัญควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัท
คุณยัมได้ถ่ายทอดประสบการที่เกิดขึ้นในเกาหลีให้พวกเราฟังอย่างตรงไปตรงมา ตลอดจนถึงเรื่องที่มาที่ไปและสถานการณ์ ของเค วอเตอร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยไม่เคยรับรู้มาก่อน และเมื่อคุณยัมกลับไปถึงประเทศ เขาก็ต้องพบกับสถานการณ์ยุ่งยากหลายอย่างแต่องค์กรที่เขาทำงานอยู่เป็นองค์กรใหญ่ มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 8 หมื่นคน มีความหนักแน่น แม้จะถูกคนของรัฐบาลเกาหลีวิพากษ์วิจารณ์ตลอดจนถูกเค วอเตอร์ฟ้องร้อง
ผมคิดว่าการที่เค วอเตอร์ แสดงท่าทีอันไม่เป็นมิตรกับการตรวจสอบหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยเช่นนี้ตั้งแต่ต้น น่าจะทำให้การทำงานของเค วอเตอร์ในประเทศไทยลำบาก เพราะเพียงแค่การเปิดโอกาสให้นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีมาให้ข้อมูลต่อสังคมไทยคุณยังเกิดปฎิกริยาขนาดนี้ แล้วอนาคตที่มีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น มิทำให้ความขัดแย้งยิ่งขยายวงกว้างหรือ
น้องๆ นักข่าวหลายคนเล่าให้ผมฟังว่า หลังจากที่คุณยัมมาเปิดประเด็นและเป็นข่าวใหญ่ปรากฎว่าได้มีกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเควอเตอร์ เที่ยวโทรศัพท์ไปตามสำนักข่าวต่างๆ เพื่อหาตัวคนทำข่าว พร้อมทั้งพยายามให้ข้อมูลในลักษณะที่ลดความน่าเชื่อถือต่อคุณยัมและคนที่ชักชวนคุณยัมมาเมืองไทย บุคคลกลุ่มนี้ยังพยายามหารายละเอียดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของคุณยัม ถึงขนาดถามหาสถานที่ตั้งของที่ทำงาน
ผมคิดว่าวิธีการในลักษณะนี้ส่อไปในทาง “คุกคาม”เสียมากกว่า แทนที่จะให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาหักล้างสิ่งที่คุณยัมนำเสนอ ข้อมูลที่คุณยัมนำมาอธิบายให้สังคมไทยได้รับรู้นั้น วันนี้บางส่วนปรากฎชัดจากรายงานการตรวจสอบของสตง.เกาหลีถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศของเขาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เราเป็นห่วงว่ากำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเรา ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน สังคมไทยคงได้รับรู้ข้อมูลและความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสายต่างๆ ของเกาหลีมากขึ้น และเราไม่ควรเพิกเฉยกับบทเรียนเหล่านั้น
“นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีเขายืนยันที่จะติดตามโครงการต่อ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเงินภาษีของคนในประเทศเขาที่จะต้องมาการันตีโครงการ สำหรับคนไทยเอง โครงการนี้ก็เป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ ซึ่งสุดท้ายทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้งต้นและดอกเบี้ย ใช้หนี้กันยาวนานไปยันชั่วลูกชั่วหลาน เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีสิทธิ์ตั้งคำถามและแสดงความกังวลในโครงการ 3.5 แสนล้านบาทนี้ อย่าปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คน ทำลายทรัพยากรของประเทศ แถมยังต้องใช้หนี้กันหัว” บทความระบุ
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประชุมประจำสัปดาห์ เพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจะพิจารณาว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่
ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า หลังจากที่ได้ยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ยิ่งลักษณ์ 2" ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ครบ 15 วัน ตามข้อบังคับ ของประธานวุฒิสภา ที่จะต้องส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่จากการตรวจสอบสอบล่าสุด พบว่ายังไม่มีการส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.จึงขอเรียกร้องไปยังนายนิคม ให้เร่งรัดส่งเรื่องไปตามระเบียบข้อบังคับโดยเร็ว
ด้าน นายนิคม กล่าวว่า วุฒิสภาอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดกรอบเวลาพิจารณาไว้ 30 วัน และขณะนี้ฝ่ายกฎหมายได้เสนอความเห็นมายังตนแล้ว เพื่อให้ใช้อำนาจวินิจฉัยในฐานะประธาน โดยมีกรณีที่ต้องพิจารณาพิเศษคือ มาตรา 270 ว่าการยื่นถอดถอนจะทำต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่คำร้องที่ยื่นมายื่นถอดถอนครม.ทั้งคณะ ซึ่งบางคนได้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว ทั้งนี้เอกสารวางอยู่บนโต๊ะแล้ว คงใช้เวลาไม่นานในการวินิจฉัย แต่ก็ต้องอาศัยความรอบคอบเพราะประธานหากทำไม่ดี ผิดกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาได้ให้แนวทางการวินิจฉัยคำร้องยื่นถอดถอนแก่ประธานวุฒิสภาไปใน 2 แนวทาง คือ 1.พิจารณายื่นคำร้องให้ป.ป.ช.ไปตรวจสอบมูลความผิดตามขั้นตอน และ 2.อาจส่งคำร้องกลับให้ผู้ยื่น พิจารณาแก้ไขใหม่ และถอดถอนเฉพาะผู้ที่ยังดำรงตำแหน่ง
อีกด้านสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ร่างโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำระยะยั่งยืนในส่วนของกทม. ตามแผนของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ตามการขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการ กบอ. วงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ภายหลังรัฐบาลได้พิจารณาโครงการ 9 โมดูล แต่กทม.พบว่าไม่มีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯรวมอยู่ด้วย ทั้งที่รัฐบาลได้มอบหมายภารกิจให้กทม.ช่วยรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพฯ ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและตอนใต้สู่ทะเล กำหนดปริมาณน้ำรวม 375 ลบ.ม.ต่อวินาที แบ่งเป็นฝั่งพระนคร 300 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งธนบุรี 75 ลบ.ม.ต่อวินาที
เมื่อรัฐบาลมอบงานมาให้ กทม.จึงเสนอโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำในส่วนกรุงเทพฯเพื่อขออนุมัติงบประมาณดำเนินการจากรัฐบาล ตามแผนเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท โดยระยะแรกทำหนังสือเสนอแผนรวม 26 โครงการ งบประมาณ 13,943 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการระบายน้ำในพื้นที่ อาทิ การปรับปรุงคลองระบายน้ำสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำตามที่ได้รับมอบหมาย แต่รัฐบาลได้ชะลอโครงการของกทม.ไว้ก่อน โดยชี้แจงว่าให้รอการพิจารณาคัดเลือกการก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูลก่อน อย่างไรก็ตาม กทม.จะเสนอโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 2 รวม 17 โครงการ งบประมาณ 8,056 ล้านบาท กลับไปให้รัฐบาล โดยล่าสุดสำนักการระบายน้ำ ได้ทำหนังสือถึงส่งถึงปลัดกทม. เพื่อส่งให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ลงนาม เพื่อเตรียมส่งให้กบอ.
นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ในฐานะโฆษกส่วนตัวม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า หากกทม.ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ก็ต้องหาแหล่งงบประมาณมารับภารกิจให้ได้ เพื่อไม่ให้เรื่องน้ำเป็นผลกระทบกับประชาชน ถึงแม้ขณะนี้วิธีคิดของนายปลอดประสพอาจจะเปลี่ยนไป แต่กทม.ต้องทำโครงการให้ได้ เพราะถ้าน้ำท่วมอีกครั้งกทม.และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะตกเป็นจำเลยในที่สุด
"เราขอรัฐบาลในฐานะท้องถิ่น เพราะถ้าน้ำท่วมผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกว้าง ไม่อยากให้การบริหารบ้านเมืองเอาอารมณ์มาใช้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงอยากให้นำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์ และนายปลอดประสพต้องอยู่อย่างไร้รอยต่ออย่างที่นายกฯได้ยืนยันกับกทม.ไว้"นายวสันต์ กล่าว
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงตอบโต้นายปลอดประสพ ที่พาดพิงพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า รับไม่ได้ที่นายปลอดประสพระบุว่าหากให้พรรคชาติไทยพัฒนาดูแลกรมชลประทานคงแก้ปัญหาน้ำไม่ได้ ซึ่งตนดูแลกรมชลประทานมาถึง 40 ปีสมัยเป็นรมว.เกษตรฯ แต่นายปลอดประสพเป็นแค่หัวหน้าประมงที่จังหวัดภูเก็ต ไม่เคยรู้เรื่องน้ำเลย และตอนนี้ก็เป็นประธานกบอ.ซึ่งสำคัญมาก ตนของบทำเขื่อนก็ไม่ได้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีแก้ระเบียบอย่าโยนให้กบอ.แก้ไขปัญหาน้ำทั้งหมด ควรจะให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบด้วย
“การนายปลอดประสพดูแลไม่ดี มีผลกระทบตลอด พูดเก่งอย่างเดียวคือพูดให้รัฐบาลถูกด่า และเรียกแขกมาด่ารัฐบาล”นายบรรหาร กล่าวและว่าตอนนี้ตนไปผลักดันให้ก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำบางบัวทอ กว่าจะเสร็จก็ 2 ปี เพราะของบไปก็ไม่ได้ นายปลอดประสพรับปากว่าจะนำเข้าครม.ว่าได้แน่ เพราะฉะนั้นถ้าน้ำท่วมปีหน้าอย่ามาโทษกรมชลประทานก็แล้วกัน ดังนั้นขอเสนอแนะรัฐบาลแปรญัตติในส่วนของงบประมาณปี 57 ส่วนหนึ่งประมาณ 80 ล้านบาทผูกพันงบประมาณปี 58 ก็จะง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยกับเงินกู้ 3.5 แสนล้านเป็นเรื่องดี และเชื่อว่าหากดำเนินการอย่างรอบคอบและถูกต้องก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ แต่คนที่รู้ที่สุดเรื่องน้ำควรจะให้กรมชลประทานบริหารจัดการ ที่ผ่านมาเวลามีปัญหาเรื่องน้ำนายปลอดประสพไม่เคยโทรไปปรึกษา แต่เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.)ให้ลูกน้องโทรไปถามข้อมูลตัวเลขแบบก่อสร้างเขื่อนบางกรวย
“ขอกระทรวงคืนไม่เกี่ยวกับนายปลอดประสพ เพราะผู้ใหญ่เขาตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่คือใคร ความจริงนายปลอดประสพเคยอยู่พรรคชาติไทยมาก่อน ตอนนั้นดูแลเรื่องกรมประมงเก่ง แต่ตอนนี้เก่งหรือดื้อก็ไม่รู้ ดังนั้นอย่าพูดกระทบพรรคชาติไทยพัฒนาอีกผมตอบโต้แน่”นายบรรหาร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น