xs
xsm
sm
md
lg

ใช้วินัยก่อนกฎหมาย : สิ่งควรทำในกรณีเณรคำ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” แปลโดยใจความว่า “ธรรมและวินัยที่เราตถาคตแสดงแล้ว บัญญัติแล้วจะเป็นศาสดาแทนเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว” นี่คือพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนท์ ซึ่งได้ทูลถามพระองค์ว่า ใครจักเป็นศาสดาแทนเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว

โดยนัยแห่งพุทธพจน์นี้ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้ามิได้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นศาสดาต่อจากพระองค์ แต่ได้ทรงแต่งตั้งคำสอนของพระองค์เป็นศาสดาแทน ดังนั้น ในกาลต่อมาเมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น และก่อความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา พระสงฆ์ผู้เป็นเถระจึงได้ดำเนินการแก้ตามนัยแห่งคำสอนทุกครั้งไป ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้จาบจ้วงล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ก็มีการประชุมสงฆ์ทำสังคายนาเพื่อขจัดเสี้ยนหนามแห่งพระธรรมวินัยเป็นระยะๆ ทั้งที่กระทำในอินเดีย และนอกประเทศอินเดีย หรือแม้แต่ในประเทศไทยก็เคยมีการกระทำสังคายนามาแล้ว ทั้งที่เชียงใหม่และที่กรุงรัตนโกสินทร์ จึงทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้และสมัยนี้วงการสงฆ์ไทยเริ่มจะมีการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์บ่อยขึ้น และเป็นอันตรายต่อคำสอนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของหลวงปู่เณรคำเป็นข่าวฉาวโฉ่อยู่ในขณะนี้

จริงอยู่ ในกรณีของเณรคำอาจยังเลวร้ายไม่ถึงขั้นที่สงฆ์จะทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพราะเป็นเพียงพฤติกรรมของพระรูปเดียวที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง ไม่นำพาต่อพระวินัยและพระผู้ใหญ่เพิกเฉยไม่เข้ามาแก้ไขจนตกเป็นข่าวใหญ่ถึงขั้นฉ้อโกง และเป็นเหตุให้ทางการบ้านเมืองเข้ามาดำเนินการทางกฎหมาย อันถือได้ว่าผิดขั้นตอนในพระวินัยในข้อที่ว่า เมื่อเกิดอธิกรณ์ 4 ประการ ประการใดประการหนึ่งเกิดขึ้น คณะสงฆ์จะต้องตั้งคณะวินัยธรขึ้นมาดำเนินการระงับอธิกรณ์ด้วยสมถะ 7 ประการ

อธิกรณ์คือการเกิดเหตุและก่อความเสียหายขึ้นในวงการภิกษุสงฆ์มี 4 ประการคือ

1. วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันในเรื่องพระธรรมวินัย

2. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทก์ฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ (คือความเสียหายเกี่ยวกับศีล) อาจารวิบัติ ความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ ทิฏฐิวิบัติ ความเสียหายเกี่ยวกับความคิดเห็น และอาชีววิบัติ ความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ

3. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติต่างๆ

4. กิจจาธิกรณ์ เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องจัดทำที่เป็นสังฆกรรม

ในกรณีของหลวงปู่เณรคำตามที่เป็นข่าวคือได้เกิดอธิกรณ์ขึ้นแล้วตามข้อ 2 คือ อนุวาทาธิกรณ์จะเห็นได้จากพฤติกรรมที่มีการโจทก์ฟ้องด้วยศีล มีพฤติกรรมคบหา และมีเพศสัมพันธ์กับหญิง มีพฤติกรรมส่ออวดอุตริมนุสธรรม และมีพฤติกรรมใช้ชีวิตไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณเพศ เช่น นั่งรถหรู และใช้ของแพงเยี่ยงคฤหัสถ์

จากพฤติกรรมที่เป็นข่าวและเข้าข่ายอนุวาทาธิกรณ์นี้ ควรที่ทางคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุกติจะได้เข้ามาจัดการตั้งคณะวินัยธรสอบสวน และระงับอธิกรณ์ด้วยสมถะ 4 ประการคือ ระงับในที่พร้อมหน้าคือเรียกเณรคำเข้ามาสอบสวนพร้อมหน้า ทั้งฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา และผู้กล่าวหา แล้วตัดสินลงโทษตามพระวินัย ถ้าพบว่าผิดจริงระงับด้วยมีสติคือ ไม่มีเจตนากระทำผิด ยกให้ไม่เอาความในกรณีเป็นบ้า และสุดท้ายลงโทษด้วยเสียงข้างมากอันเป็นการตัดสินความ 4 ประการ ประการใดประการหนึ่งแล้วแต่กรณี

แต่ถึงวันนี้คณะสงฆ์ยังไม่ดำเนินการอันใด ในทางตรงกันข้ามฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาดำเนินการด้วยการใช้กฎหมาย ทั้งในข้อหาฉ้อโกงฟอกเงินไปแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ถ้าดูในแง่ที่เหมาะที่ควรแล้ว ทางฝ่ายสงฆ์น่าจะรีบดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน และถ้าพบว่ามีความผิดทางวินัยอย่างไร แล้วก็ควรให้พ้นไปจากความเป็นพระ แล้วปล่อยให้ทางฝ่ายบ้านเมืองดำเนินการทางกฎหมายต่อไปจะดีกว่า

แต่ที่ยิ่งกว่านี้ก็คือ ได้มีกระบวนการฟ้องร้องต่อศาลในข้อหากระทำผิดวินัยและกฎหมาย โดยคนกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของพระสงฆ์ จึงทำให้มองว่าพระด้วยกันแก้ปัญหาพระไม่ได้โดยใช้พระวินัย จึงต้องไปพึ่งศาลแล้วหรือ และถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้พุทธพจน์ที่ว่า พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนเสื่อมหายไป เพราะได้มีการนำกฎหมายมาแทนพระวินัย

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นพุทธมามกะ และพอจะรู้เรื่องวินัยอยู่บ้าง บอกตรงๆ ว่าเห็นแล้วรู้สึกหดหู่ที่พระแก้ปัญหาพระด้วยกันโดยใช้วินัยไม่ได้ต้องพึ่งศาล แล้วต่อไปใครจะศรัทธาพระวินัย เห็นแล้วได้ยินแล้วเศร้าที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น