ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
นับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศมาร่วมสองปี ทั้งตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้แสดงออกถึงความสามารถในการบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาหรือสร้างความมั่นคง มั่งคงให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับบริหารประเทศผิดพลาดสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างต่อเนื่อง แ ละนับวันความเลวร้ายก็สะสมถมทับทวีมากขึ้น จนยากจะคาดการณ์ว่าหายนะของชาติที่รออยู่ข้างหน้าจะมีความรุนแรงสักปานใด
การที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรควบรวมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในการปรับรัฐมนตรีครั้งใหม่นี้ คือสัญญาณว่าความหายนะของชาติกำลังมาเยือนในอัตราเร่งที่สูงยิ่ง
ตามวิถีการเมืองแบบปกติ การปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความเสียหายจากความไร้ฝีมือหรือการทุจริตของรัฐมนตรีชุดเดิม รัฐมนตรีชุดใหม่ถูกเลือกเข้ามาโดยคาดหวังว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีกว่าเดิมและทำอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส
แต่หลักการดังกล่าวไม่อาจใช้อธิบายการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แม้แต่น้อย เริ่มจากตัวคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง สองปีที่ผ่านมาใช้เวลาจำนวนมากไปกับการแต่งตัว การแสดงท่าทีเยี่ยงดรุณีวัยกำดัด และการท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ไม่มีเลย ไม่มีแม้สักครั้งเดียวที่คุณยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจและปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับการเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศ
การตัดสินใจทั้งการบริหารและการเมืองผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่เรื่องการแก้ปัญหาอุทกภัย การจำนำข้าว การเจรจากับผู้ก่อการร้าย การออกพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทสำหรับจัดการน้ำ การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล และการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
การปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุด หรือที่เรียกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5 คุณยิ่งลักษณ์สร้างปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง เธอแต่งตั้งตัวเองเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเพิ่มขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง การตัดสินใจของเธอในครั้งนี้เป็นการกระทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
ยิ่งลักษณ์อาจมองว่าการบริหารกองทัพและความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องง่ายๆสำหรับเธอ ดังนั้นนอกเหนือจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว การนั่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งก็คงสามารถทำได้อย่างสบายๆ แต่ดูเหมือนประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความคิดของเธอ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ดำเนินการโดยนิด้าโพล เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2556 ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.67 เห็นว่าการที่เธอเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมด้วยนั้นไม่เหมาะสม กล่าวง่ายๆคือ ประชาชนไม่ได้คิดว่ายิ่งลักษณ์จะมีความสามารถเพียงพอที่จะไปนั่งว่าการในตำแหน่ง รมว. กลาโหม นั่นเอง
อันที่จริงหากมองในแง่ประสิทธิภาพของการบริหาร การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีสองกระทรวงในเวลาเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอยู่แล้ว แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความสามารถมากเพียงใดก็ตาม แต่เวลาของบุคคลหนึ่งๆมีจำกัดและทักษะที่ใช้ในการตัดสินใจของงานแต่ละกระทรวงก็ต้องใช้ความเชี่ยวชาญต่างกัน ผู้ตัดสินใจที่ขาดความเข้าใจในงานและขาดประสบการณ์ย่อมจะตัดสินใจได้ไม่ดีเท่ากับผู้ที่มีสิ่งเหล่านั้น อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง โดยที่คนผู้หนึ่งอาจมีความรอบรู้เชี่ยวชาญหลายด้าน แต่คนที่มีลักษณะเช่นนั้นก็คงมีไม่มากนัก และไม่ใช่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างแน่นอน
บุคคลอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลำพังแค่พูดให้ถูก คิดให้เป็นระบบ และทำความเข้าใจกับเรื่องง่ายๆที่บุคคลอื่นๆทั่วไปสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดายก็ดูเหมือนเป็นเรื่องยากยิ่งนักสำหรับเธอ สิ่งที่เธอพอเข้าในอะไรได้บ้างก็คงต้องเป็นเรื่องง่ายๆ และเธออาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนทั่วๆไป
เรื่องใดที่มีความซับซ้อน มีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆอย่างหลากหลาย และมีผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากห้วงความคิดในสมองของเธอ และเมื่อไร้ความสามารถในการเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของปัญหาหรือสถานการณ์ความเป็นจริง ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงความสามารถในการเข้าใจทางเลือกสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เธอจะต้องตัดสินใจว่าทางเลือกแต่ละทางจะสร้างผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างไร
เมื่อมองผลลัพธ์ของทางเลือกไม่ออก สิ่งที่เธอจะทำได้ยามต้องตัดสินใจคือ ตัดสินใจตามที่ผู้อื่นบอกให้ทำ หรือ ตัดสินใจภายใต้อารมณ์ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบทางเลือกนั้นๆ หรือ ตัดสินใจภายใต้แรงขับของความปรารถนาบางประการโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ตามมาภายหลัง
การควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคราวนี้จึงอาจตีความการตัดสินใจของเธอได้อย่างน้อย 3 นัย นัยแรก เป็นความปรารถนาของเธอเองที่อยากนั่งตำแหน่งนี้ ประเภทที่ว่า “ฉันอยากนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมดูสักครั้ง” “ฉันเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม” “ฉันอยู่เหนือชายชาติทหารทุกคน” ความปรารถนาในลักษณะนี้มีสาเหตุมาจากแรงขับหรือความต้องการภายในบางประการที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า “ปมเขื่อง” หรือความรู้สึกปลาบปลื้มปิติที่ได้นั่งเป็นเจ้านายเหนือหัวของบรรดานายพลแห่งกองทัพทั้งมวลนั่นเอง
นัยประการที่สอง เธอนั่งตำแหน่งนี้ด้วยการวางแผนอย่างเป็นระบบภายใต้การกำกับของ นช. ทักษิณ ชินวัตรและแกนนำลัทธิแดง โดยมีเจตนาแอบแฝงบางประการในการใช้กองทัพเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองที่ต้องการ เมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นรัฐมนตรีกลาโหมก็จะทำให้ นช. ทักษิณและแกนนำลัทธิแดงสามารถควบคุมทิศทางการลงคะแนนเสียงในคณะกรรมการของสภากลาโหมได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถกำหนดได้ว่าใครจะดำรงตำแหน่งอะไร โดยสามารถล้วงลึกลงเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารทั้งระดับสูงและระดับกลางในทุกเหล่ากองทัพ แน่นอนว่านายทหารที่อยู่ในเครือข่ายของลัทธิแดง หรือนายทหารแตงโม ก็จะถูกแต่งตั้งให้เข้าไปดำรงตำแหน่งหลักที่คุมกำลังในกองทัพบก เรือ และอากาศ เพื่อวางไว้สำหรับปฏิบัติการทางทหารที่ต้องใช้กำลังรบในอนาคต
กองทัพเป็นตัวแปรสำคัญในการชี้ขาดทิศทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงการเกิดวิกฤตการณ์ หาก นช. ทักษิณ สามารถแทรกแซงและควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยทำผ่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็เท่ากับว่าเขาสามารถบงการทิศทางของประเทศไทยให้เป็นไปตามที่เขาต้องการได้ เขาสามารถใช้กองทัพเป็นฐานและกลไกในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและการเมืองตามที่เขาใฝ่ฝันได้ในอีกไม่นาน และหากกลุ่มต่อต้าน เขาก็ใช้กองทัพเข้าปราบปรามอย่างสะดวกมากขึ้น
นัยที่สาม เป็นนัยที่เชื่อมโยงกับสากลภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างภาพลักษณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้มีคราบไคลของประชาธิปไตยในสายตาของนานาชาติมากยิ่งขึ้น เพราะรัฐบาลประเทศตะวันตกจำนวนมากมีวิธีคิดแบบผิวเผิน พวกเขามองว่าการที่พลเรือนเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย และยิ่งประเทศใดมีนักการเมืองเพศหญิงเป็นรัฐมนตรีกลาโหมด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ประเทศนั้นดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นไปอีก
การสร้างภาพให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นประชาธิปไตยในสายตาของต่างชาติเป็นการปูทางสร้างความชอบธรรมในสองเรื่อง เรื่องแรก เอาไว้อ้างสำหรับปราบปรามประชาชน หากประชาชนชุมนุมขับไล่รัฐบาล รัฐบาลก็จะบอกต่อต่างชาติว่าประชาชนผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย ดังนั้นหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ก็จะสามารถเอาไปอ้างว่า กระทำไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ส่วนเรื่องที่สอง ในกรณีที่รัฐบาลถูกรัฐประหาร ก็อาจไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในต่างประเทศ และบอกต่อนานาชาติว่ารัฐบาลของตนเองเท่านั้นที่มีความชอบธรรมเพราะเป็นประชาธิปไตย
การควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นการสร้างประโยชน์ทั้งในการสนองอารมณ์ส่วนตัวของผู้นั่ง และสนองประโยชน์ของพี่ชายและบรรดาลัทธิแดงที่ประสงค์จะควบคุมกองทัพเพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองในอนาคตตามที่พวกเขาต้องการ
ส่วนคนเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ใครยังไม่ทราบลองไปหาอ่านตามเว็บไซต์เสื้อแดงได้ ก็จะได้รับคำตอบอย่างกระจ่างชัด และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจึงต้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ทั้งๆที่เธอไม่เข้าใจความมั่นคงและไร้ความสามารถใดๆในการบริหารงานอย่างสิ้นเชิง