xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาคำตอบ ทำไมคนล้างพิษตับจำนวนมากถึงได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น !? (ตอนที่ 3) : เปรียบเทียบการล้างพิษตับกับงานวิจัยวิธีการล้างพิษในห้องทดลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากงานวิจัยค้นคว้าที่มีชื่อว่า "Factors Affecting the Storage and Excretion of Toxic Lipophilic Xenobiotics" แปลเป็นไทยก็คือ "ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการสะสมและการขับถ่ายออกของสารพิษจากภายนอกที่ละลายในไขมัน" ซึ่งจัดทำโดย Ronal J. Jandacek และ Pratrick Tso จากภาควิชาพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งซินซิเนติ เมืองซินซิเนติ มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2544 แม้จะไม่ได้เสนอการล้างพิษตับแบบที่เราทำกันอยู่นี้ แต่ก็มีวิธีการที่กล่าวถึงเอาไว้ในการเทียบเคียงได้เช่นกัน

เพราะงานวิจัยชี้นนี้ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าสารพิษจำนวนมากละลายอยู่ในรูปของไขมัน และเส้นทางหลักในการนำสารพิษเหล่านี้ออกคือ "น้ำดี" แต่ก็ยังพบเส้นทางอื่นในส่วนของการขับพิษทางลำไส้ได้ด้วย

งานวิจัยนี้ได้กล่าวถึงสารพิษที่ละลายในไขมันว่าสามารถกำจัดออกได้ทางน้ำดี และทางลำไส้ โดยวิธีการขจัดสารพิษที่ละลายในไขมันเหล่านี้ว่าสามารถทำได้โดยการใช้สารกลุ่มหนึ่ง(ในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ทดลองอยู่หลายชนิด อันได้แก่ น้ำมันชนิดไม่ดูดซึม, เรซิน หรือ ยา Cholestymine, ไฟเบอร์, ถ่าน Activated Carbon) ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยรบกวนการไหลเวียนของการที่กรดน้ำดีที่ลำไส้เล็กถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดมาตามหลอดเลือดดำ มายังหลอดเลือดเข้าตับ ที่เรียกว่า "Enterohepatic Criculation" พูดง่ายๆก็คือการขับถ่ายออกให้มากโดยรบกวนไม่ให้ลำไส้ดูดกรดน้ำดีและสารพิษที่ละลายในไขมันกลับไปยังตับอีก

การเข้าไปรบกวนสารประกอบจำนวนมากไม่ให้ถูกดูดกลับเข้าสู่ลำไส้เล็กไม่ว่าโดยระบบเส้นทางน้ำดีและที่ไม่ใช่เส้นทางระบบน้ำดีก็ตาม พบว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการขจัดสารพิษที่ละลายในไขมันเหล่านี้จากร่างกายและลดค่าครึ่งชีวิตของการสะสมสารพิษเหล่านี้ลง

โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทดลองการลดไขมันในร่างกายควบคู่ไปกับการรับประทานสารกลุ่มหนึ่ง และยังช่วยให้อัตราการขับสารพิษทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการลดน้ำหนักหรือการอดอาหารยังมีส่วนช่วยให้ร่างกายขจัดสารพิษชนิดที่ละลายในไขมันนี้ออกจากร่างกายได้ดีขึ้นอีกด้วย

จากงานวิจัยชิ้นนี้ถือว่ามีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักสูตรล้างพิษตับที่กำลังดำเนินการอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้ ด้านหนึ่งมีการอดอาหารหรือลดปริมาณแคลลอรี่จากอาหาร โดยไม่มีการย่อยกากอาหาร ทำให้เกิดการนำไขมันที่อยู่ในร่างกายหรือยู่ในเนื้อเยื่อมาเผาผลาญเป็นพลังงานในระหว่างการอดอาหาร ดังนั้นในขั้นตอนนี้จึงย่อมสามารถขจัดสารพิษตกค้างได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนั้นในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ใช้น้ำมันชนิดไม่ดูดซึมมาขจัดสารพิษที่ละลายในไขมัน อันได้แก่ Mineral Oil หรือ น้ำมันพาราฟิน, Olestra หรือน้ำมัน Olean แม้ว่าความจริงงานวิจัยชิ้นนี้จะเน้นความเข้าใจเรื่องการล้างพิษผ่านระบบลำไส้มากว่าน้ำดี แต่เมื่อเทียบกับกระบวนการในหลักสูตรล้างพิษตับ ที่ให้กินดีเกลือก่อนล่วงหน้าแล้วจึงค่อยดื่มน้ำมันมะกอกตามหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ก็เพื่อให้เกิดภาวะน้ำมันมะกอกไม่ถูกดูดซึมกลับเช่นกัน (หรือถูกดูดซึมได้น้อยกว่าปกติ)เช่นกัน ดังนั้นการล้างพิษโดยใช้น้ำมันมะกอกมาล่อน้ำดีออก จึงเท่ากับเป็นการนำสารพิษที่ละลายไขมันที่อยู่ในน้ำดีออกจากร่างกายให้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในส่วนของการล้างพิษผ่านระบบลำไส้นั้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังใช้การแทรกแซงอีกหลายชนิด เช่น ไฟเบอร์ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง หญ้าเบอร์ดอค ก็สามารถล้างพิษตกค้างออกได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีการกล่าวถึง Resins คือยา Cholestyamine หรือการล้างพิษโดยใช้การรับประทาน Activated Carbon ก็คือผงถ่านที่ทำหน้าที่ดูดสารพิษ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทำความสะอาดและกวาดสารพิษผ่านระบบลำไส้ทั้งสิ้น

ดังนั้นเมื่อเทียบกับหลักสูตรล้างพิษของประเทศไทยในเวลานี้ การใช้สิ่งที่ดื่มเข้าไปที่เรียกว่า ลิดท็อกซ์ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ ผงซิลเลี่ยม (Psyllium) ซึ่งให้ผลในการพองตัวและกวาดล้างทำความสะอาดลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มีงานวิจัยและผลทดลองทางการแพทย์ของแมกซิโกที่ชื่อว่า Effects of fiber administration in the prevent of gallstone in obese patients on a reduction diet พบว่า ซิลเลี่ยม ช่วยผลของการให้สารไฟเบอร์ในการป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีในผู้ป่วยโรคอ้วนที่ได้เข้าสู่การลดปริมาณอาหารด้วย

แต่ภูมิปัญญาไทยที่ผสมผสานสูตรการล้างลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากกว่านั้น เช่น การดื่มน้ำสมุนไพร การรับประทานยาชำระเมือกมัน (ที่ผสมตัวยาในการดูดพิษและขับพิษตกค้างได้มาก) การดื่มน้ำมะขามเป็นยาถ่าย หรือแม้กระทั่งการพัฒนาไปถึงการย่อยสลายสิ่งตกค้างด้วยเอนไซม์ผง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาให้การล้างในส่วนของลำไส้เต็มไปด้วยประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


การขับ "น้ำดี" ออกจากร่างกายให้มาก ไม่ได้ส่งผลเฉพาะเรื่องการลดไขมันในตับเพื่อมาผลิตน้ำดีอย่างเดียว ยังมีผลทำให้เอาสารพิษที่ละลายในไขมันออกมาจากตับเพื่อมาผลิตน้ำดีและขับทิ้งไปออกไปด้วย แต่ดูเหมือนในเรื่องน้ำดีเราอาจจะพบเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยใหม่ๆเพิ่มเติมที่น่าศึกษาต่อเกี่ยวกับ"กรดน้ำดีทุติยภูมิ"

ถ้าเราสามารถขับ "น้ำดี" ที่มาพร้อมกับ "กรดน้ำดีทุติยภูมิ" ออกจากร่างกายให้ได้มากขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ด้วย เมื่อพบในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านไขมัน ในหัวข้อ Bile acids as regulatory molecules เมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่ากรดน้ำดีบางชนิด (เช่น Deoxycholic acid หรือ DCA) กระตุ้นการแบ่งเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น และยังมีงานวิจัยพบว่ากรดน้ำดีบางชนิด (เช่น Deoxycholic acid หรือ DCA และ Lithocolic acid หรือ LCA) ก็สามารถสื่อสัญญาณกระตุ้นการอักเสบ (Inflammation) ได้อีกด้วย โดยควบคุมผ่าน Inflammatory gene ดังนั้น เมื่อดูองค์ประกอบของน้ำดีเช่นนี้แล้วจึงทำให้เข้าใจได้ว่า การขับน้ำดีและกรดน้ำดีโดยใช้น้ำมันมะกอกล่อให้น้ำดีออกมาย่อยแล้วขับถ่ายออกให้มากกว่าที่ดูดกลับนั้นก่อให้เกิดผลดีกับร่างกายมากเพียงใด

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อยเมื่อเราได้มาค้นพบงานวิจัยในยุคนี้ถึงการขับ "น้ำดี" ออกจากร่างกายให้มากนั้นเกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าเมื่อพบว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสเอาไว้เมื่อเกือบ 2,600 ปีที่แล้ว ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 87 "ปุตตสูตร" โดยได้ทรงกล่าวถึงเหตุที่ทำให้คนเราต้องเจ็บป่วย มีอยู่ 8 ประการด้วยกันคือ

1.ดี เป็นสมุฏฐาน

2.เสมหะ (เมือกจากลำคอหรือลำไส้) เป็นสมุฏฐาน
3.ลม (ภายในกาย) เป็นสมุฏฐาน
4.ประชุมกันเกิดขึ้น
5.ฤดูแปรปรวน
6.การบริหารไม่สม่ำเสมอ
7.การบาดเจ็บ
8.เกิดจากผลกรรม (บาป)

ที่ว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้ความสำคัญถึง "ดี" ว่าเป็นสมุฏฐานในข้อแรก จึงย่อมสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้เราพอจะเข้าใจว่า "มูกเมือก" (Mucus) ดักจับสารพิษในร่างกาย หรือ "ลม" คือการเกิดแก๊สพิษในร่างกายอย่างไม่เหมาะสม ก็ก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายได้ แต่มายุคนี้ด้วยความรู้วิทยาศาสตร์เราจึงเพิ่งเข้าใจว่า "น้ำดี" เป็นทั้งไขมันคอเลสเตอรอล เป็นทั้ง ไขมันที่มีสารพิษละลายอยู่ และยังมีกรดน้ำดีที่เป็นโทษต่อร่างกายได้อีกด้วย

จึงไม่แปลกเลยที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจัดให้ "ดี" เป็นสมุฏฐานแห่งโรคลำดับแรก !!!



กำลังโหลดความคิดเห็น