xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติไม่หว่งเงินไหลออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ไม่ห่วงเงินไหลออก เหตุยังไม่ติดลบและทุนสำรองมีเพียงพอ ระบุเงินไหลออกไม่ได้มาจากปัจจัยเฟดอย่างเดียว แต่เป็นความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่รวดเร็วและผันผวน พร้อมปล่อยค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไก ยกเว้นผันผวนมากต้องแทรกแซง "โต้ง" ทนไม่ไหว สั่ง ธปท.เข้าดูแลเงินไหลออก

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่าหากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับดีขึ้น เฟดจะทยอยปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ช่วงสิ้นปีนี้และหยุดมาตรการฯ กลางปี 2557 ว่า การประกาศของเฟดถือว่าชัดเจนมากขึ้น ต่างจากครั้งที่แล้วมาที่ยังแสดงถึงความไม่แน่ใจในการทำคิวอี ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้มีความเป็นไปได้ว่าเงินทุนต่างชาติในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงไทยจะมีความเสี่ยงเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องในระยะนี้

“การที่เงินไหลออกไม่ได้มาจากปัจจัยเฟดอย่างเดียว ยังมีความเสี่ยงจากศักยภาพกลุ่มประเทศในภูมิภาคก็ทำให้เห็นการเปลี่ยนรอบ เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้ผันผวนมากขึ้นได้ ธปท.จึงคิดว่าเงินทุนจะยังไหลออกอีก ขึ้นอยู่กับข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามดูปริมาณเงินไหลออก ยังไม่น่าห่วงเมื่อเทียบกับที่เคยไหลเข้ามาและทุนสำรองระหว่างประเทศ” นางผ่องเพ็ญกล่าว

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ในภาวะเงินทุนไหลออกคงส่งผลต่อค่าเงินบาทให้ผันผวนอ่อนค่ามากขึ้น แต่การดูแลของธปท.จะปล่อยไปตามกลไกตลาด แต่ถ้าเคลื่อนไหวเร็วเกินไปก็ต้องดูแลตามสมควร ไม่ให้การเคลื่อนไหวแต่ละวันขึ้นลงกว้างเกินไป"นางผ่องเพ็ญกล่าวและว่า การผันผวนของค่าเงินไม่ได้เกิดเฉพาะเงินบาท แต่เกิดขึ้นทุกสกุลในภูมิภาค จึงอยากเตือนให้นักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนมีการซื้อป้องกันความเสี่ยงทั้ง 2 ด้าน เนื่องจากค่าเงินผันผวนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

“โต้ง” สั่งรับมือเงินไหลเข้าออก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายเฟดฯ ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยมากนัก เพราะมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และสภาพคล่องเงินบาทในประเทศสูง เพียงพอรองรับการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมา เงินที่ผ่านเข้ามาในประเทศทั้งหมด เป็นเงินเก็งกำไรและไม่ควรเข้ามาตั้งแต่ต้น หากจะมีการไหลกลับเข้าก็จะไม่เสียหายอะไร

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ ธปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ให้เตรียมรองรับความผัวผวนอัตราแลกเปลี่ยน และดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนไม่ให้กระทบเงินบาท โดยเครื่องมือและกลไกของ ธปท. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถรองรับได้ โดยรูปแบบการดูแลไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงตลาด และไม่จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนในอดีต แต่อาจประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งจะช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างวันไม่ผันผวนมากเกินไป

สำหรับผลกระทบการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าผลการตัดสินใจของเฟดจะออกมาอย่างไร ก็จะมีผลกระทบอยู่แล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติจะเก็งกำไรกับข่าวนี้ พร้อมแนะนักลงทุน ไม่ใช้เงินกู้ในการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง.
กำลังโหลดความคิดเห็น