xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจฆาตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

โดยปกติการฆาตกรรมเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองมักจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีการรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น เพราะว่าผู้คนสังคมแบบนั้นเชื่อว่าอำนาจเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาสูงสุด สามารถดลบันดาลให้ผู้ครอบครองอำนาจได้รับทุกสิ่งทุกอย่างทั้งเกียรติยศและความมั่งคั่ง ประเทศที่มีการปกครองในระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการโดยบุคคลหรือคณะบุคคลก็ตาม มีแนวโน้มที่ผู้ปกครองจะใช้อำนาจเพื่อฆาตกรรมหรือสังหารผู้ที่ต่อต้านอย่างแพร่หลาย

สำหรับประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจรัฐเพื่อฆาตกรรมหรือทำร้ายฝ่ายต่อต้านย่อมขัดกับหลักการนิติรัฐและนิติธรรมอันเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนระบอบประชาธิปไตย สังคม ประชาธิปไตยย่อมไม่อาจยอมรับได้กับการกระทำอันรุนแรงและป่าเถื่อนเช่นนั้นได้ หากรัฐบาลใดที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสั่งการหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลให้รัฐบาลนั้นขาดความชอบธรรมทางการเมืองและไม่สามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้อีกต่อไป

สังคมใดที่รัฐบาลและกลไกรัฐยังคงใช้การฆาตกรรมทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มพรรคพวกตนเองเอาไว้ ย่อมมิอาจเรียกได้ว่าสังคมนั้นเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แม้ว่าผู้ปกครองจะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก็ตาม

แม้ว่าระบอบการปกครองของประเทศไทยจะถูกเรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่มีปรากฏการณ์หลายประการซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย กลับเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยเป็นประจำและเกิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนานรวมทั้งการฆาตกรรมที่เชื่อมโยงกับการเมืองด้วย

อำนาจฆาตกรรมหรือการใช้อำนาจรัฐเพื่อฆาตกรรมฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดเป็นแบบแผนหลักได้สองประการคือ การฆาตกรรมเปิดเผย กับการฆาตกรรมอำพราง

การฆาตกรรมอย่างเปิดเผยเป็นการที่ผู้ครองอำนาจรัฐสังหารฝ่ายต่อต้านโดยใช้วิธีการอย่างเปิดเผยชัดเจนเพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ฝ่ายต่อต้านรู้ว่า รัฐบาลพร้อมใช้ความเด็ดขาดรุนแรงเพื่อจัดการกับกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของผู้บริหารประเทศ วิธีการที่นิยมใช้กันมากคือ การส่งมือปืนไปสังหาร ซึ่งมีทั้งแบบการส่งมือปืนในลักษณะที่เป็นบุคคลหรือเป็นทีมไปลอบยิง หรือ การลอบวางระเบิด ขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายของการลอบสังหารเป็นใคร มีความระมัดระวังตัวมากน้อยเพียงใด หรือ ได้รับการคุ้มกันมากน้อยเพียงใด

หากฝ่ายต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐมีหลักฐานที่จะสั่นคลอนตำแหน่งผู้ครองอำนาจเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รับการคุ้มกันมากนัก ก็มักจะใช้มือสังหารที่เป็นบุคคลเพียงหนึ่งหรือสองคนไปลงมือ เช่น กรณี นายกรเทพ วิริยะ หรือชิบปิ้งหมู ที่ถูกยิงจนเสียชีวิตเนื่องจากเป็นผู้ที่มีหลักฐานและเป็นพยานสำคัญเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษีศุลกากรของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ของตระกูลชินวัตร

แต่หากผู้วิพากษ์วิจารณ์ผู้ครองอำนาจรัฐเป็นบุคคลที่ได้รับการคุ้มกันหรือมีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา การลอบสังหารก็จะใช้กลุ่มบุคคล เช่น กรณีการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น

ตามปกติรัฐบาลที่อ้างว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยมักจะหลีกเลี่ยงการฆาตกรรมฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผยเพราะพวกเขาทราบดีว่าอาจทำให้ตนเองสูญสิ้นความชอบธรรมทางการเมืองได้ พวกเขาจึงนิยมใช้การฆาตกรรมอำพลางเพื่อสังหารฝ่ายต่อต้านแทน

วิธีการเชิงฆาตกรรมอำพรางที่ฝ่ายอำนาจรัฐใช้เพื่อสังหารฝ่ายต่อต้านมีอย่างน้อย 5 ประการคือ การทำให้สาบสูญ การทำให้เสมือนเป็นคดีอาชญากรรมทั่วไป การทำให้เสมือนกลุ่มอื่นเป็นผู้ลงมือ การทำให้เสมือนเป็นอุบัติเหตุ และการทำให้เสมือนฆ่าตัวตาย

การทำให้สาบสูญหรือเรียกกันทั่วไปว่าการอุ้มฆ่า เป็นวิธีการที่ฝ่ายอำนาจรัฐไทยนิยมใช้มาตั้งแต่ในอดีต ดังกรณี หะยีสุหลง ผู้นำศาสนาอิสลาม ที่ถูกอำนาจรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามทำให้เป็นบุคคลที่หายสาบสูญ ต่อมาภายหลังทราบว่ากลุ่มผู้ลงมืออุ้มและสังหารเป็นตำรวจ ซึ่งได้รับคำสั่งโดยตรงจากรัฐบาลในยุคนั้น การสังหารกระทำโดยการใช้เชือกรัดคอและคว้านท้องศพ และอำพลางศพด้วยการนำศพไปผูกไว้กับแท่นซีเมนต์แล้วนำไปทิ้งในทะเลสาบสงขลา

สำหรับในยุคที่สังคมไทยถูกครอบงำโดยระบอบทักษิณ การทำให้สาบสูญเกิดขึ้นอย่างชัดเจนสองกรณีคือ กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กับกรณีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจผู้ประกาศตนว่าเป็นปรปักษ์กับระบอบทักษิณอย่างถึงที่สุด กรณีทนายสมชาย ได้ถูกตำรวจกลุ่มหนึ่งอุ้มและทำให้สาบสูญ จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมที่ชัดเจน แต่มีการสันนิฐานว่าได้ถูกสังหารเสียชีวิตและทำลายศพไปจนหมดสิ้นแล้ว

ด้านนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณและเปิดโปงพฤติกรรมที่น่าอับอายบางประการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์ในโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ จนถึงเกาะมัลดีฟส์ หลังจากนั้นไม่นานนายเอกยุทธ ก็ถูกอุ้มและกำลังถูกทำให้หายสาบสูบไปดังเช่นกรณีทนายสมชาย โดยนายสันติภาพ เพ็งด้วงคนร้ายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนขับรถของนายเอกยุทธ ได้โกหกต่อสาธารณะว่านายเอกยุทธต้องการหลบหายไปเอง โดยจะไปอยู่ในประเทศพม่า

แต่แผนการทำให้สาบสูบต้องพังพินาศลงไปเพราะว่านายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของนายเอกยุทธได้มีโอกาสร่วมในการสอบสวนคนร้าย ด้วยความสามารถของนายสุวัตร จึงทำคนร้ายต้องสารภาพความจริงออกมา และนำไปสู่การค้นหาศพของนายเอกยุทธ จนพบ สภาพศพของนายเอกยุทธนั้นบ่งบอกถึงความพยายามของกลุ่มคนร้ายในการอำพลางปกปิดอัตลักษณ์ของผู้ตายอย่างชัดเจน

เมื่อแผนแรกล้มเหลวฝ่ายอำนาจรัฐจึงต้องปรับแผนใหม่ โดยใช้การทำให้เสมือนเป็นคดีฆาตกรรมทั่วไปแทน ดังจะเห็นได้จากการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีพยายามสัมภาษณ์ชี้นำสังคมและการสืบสวนของตำรวจว่าคดีนี้เป็นคดีชิงทรัพย์ธรรมดา การชี้นำเช่นนี้กระทำไปเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นและตัดตอนการสืบสวนเพื่อมิให้เชื่อมโยงถึงผู้บงการตัวจริง ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลที่อยู่ต่างประเทศซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ก็ได้

วิธีการที่ฝ่ายอำนาจรัฐนิยมใช้ฆาตกรรมฝ่ายตรงข้ามอีกประการหนึ่งคือ การทำให้เสมือนกลุ่มอื่นเป็นผู้ลงมือ กรณีที่โด่งดังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ การลงมือสังหารอดีตสี่รัฐมนตรีในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันประกอบด้วยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ บุคคลทั้งสี่ถูกสังหารโดยตำรวจที่ถูกสั่งโดยรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับป้ายสีว่าเป็นการกระทำของกลุ่มโจรมลายู

ในยุคปัจจุบัน การทำให้เสมือนกลุ่มอื่นเป็นผู้ลงมือเป็นวิธีการที่ระบอบทักษิณนิยมใช้จัดการกับผู้ต่อต้าน เช่น การยิงเอ็ม 79 ใส่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลสมัคร จนมีผู้เสียชีวิตนับสิบคน หรือ การใช้มือสังหารชุดดำยิงอาวุธสงครามใส่ทหารซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง

การทำให้เสมือนเป็นอุบัติเหตุก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีการใช้กันอยู่บ้าง กรณีที่โด่งดังมากคือ กรณีการตายของพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ในช่วงปี 2519 ซึ่งเสียชีวิตอย่างกะทันหัน และยังเป็นปริศนาอยู่จนถึงปัจจุบันสาเหตุในการเสียชีวิตถูกทำให้ดูเสมือนว่าเกิดอุบัติเหตุจากการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วง สำหรับการทำให้เสมือนเป็นอุบัติเหตุยังมีวิธีการอีกหลายประการ แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เพราะสามารถกลบเกลื่อนร่องรอยได้ง่ายที่สุด

ส่วนวิธีการทำให้เสมือนฆ่าตัวตายอันเกิดจากอำนาจรัฐในประเทศไทยนั้นยังไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่ในกรณีความขัดแย้งทั่วไประหว่างบุคคลในครอบครัว วิธีการนี้ก็มีการใช้กันอยู่บ้าง กรณีที่โด่งดังเห็นจะได้แก่ กรณีการฆ่าตัวตายของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชากรไทย ในปี 2542

กล่าวโดยสรุปการใช้อำนาจฆาตกรรมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในยุคที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบอบทักษิณ ยิ่งปรากฏการณ์ของอำนาจฆาตกรรมมีมากขึ้นเท่าไร ก็ย่อมเป็นดัชนีชี้วัดว่าความรุนแรงทางการเมืองขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น และยังเป็นการบ่งชี้ว่ารัฐบาลและกลุ่มผู้ครองอำนาจในสังคมไทยปัจจุบันมิได้ยึดเอาวิถีของประชาธิปไตยเป็นหลักในการบริหารประเทศอีกต่อไป

ตรงกันข้ามผู้กุมอำนาจรัฐยุคปัจจุบันกลับใช้วิถีแห่งเผด็จการ ใช้ความป่าเถื่อนและไร้อารยะเป็นแนวทางหลักเพื่อสร้างความหวาดกลัวขึ้นในสังคม ด้วยคิดเอาเองว่าวิธีการแบบนี้จะทำให้อำนาจทางการเมืองของตนเองมีความมั่นคง แต่ผมเห็นว่าพวกเขาคิดผิด และหากยังใช้วิธีการแบบนี้ต่อไป ในไม่ช้าพวกเขาจะไม่มีแผ่นดินอยู่อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น