xs
xsm
sm
md
lg

ความคิดเห็นของผู้เห็นต่าง

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ถ้าเชื่อมั่นหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ว่าเป็นไป โดยประชาชน เพื่อประชาชนและของประชาชน ตามอมตะวาจา (Motto) แห่งความเป็นประชาธิปไตยสากล พฤติการณ์หนึ่งซึ่งสะท้อนลักษณะแห่งประชาธิปไตย คือการยอมรับและยอมฟังความเห็นต่างจากผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่โดยตรงก็โดยอ้อมหรือว่าจากฐานะพลเมืองของประเทศ ที่แสดงความคิดเห็น อันอาจนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศชาติไปในทางที่ดี โดยเฉพาะความเห็นต่างที่มีนัยสำคัญ

ปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยหนึ่งซึ่งเด่นชัดในปัจจุบัน คือการจัดตั้งกลุ่มทางการเมือง แม้จะยังไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการรวมตัวกันโดยจุดมุ่งหมายใดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งพบเห็นได้หลากหลายและมีพลวัตอยู่ เช่น กลุ่มหน้ากากขาว กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติรักแผ่นดิน กลุ่มธรรมาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มคนรักทักษิณ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการและตำนานการต่อสู้อย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น เหล่านี้เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่ามีผู้เห็นต่าง หรือคิดเห็นต่างกันมีทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และกลุ่มผู้เห็นต่างจากผู้เห็นต่างจากรัฐ เมื่อคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานแห่งประชาธิปไตย ในมิติการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบการชุมนุมหรือการจัดตั้งกลุ่มทางการเมือง ผู้เขียนคิดเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐควรเคารพและคำนึงถึงประโยชน์จากความเห็นต่าง คือการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างจากรัฐ (รัฐบาลทุกยุคสมัย) อย่างจริงใจและไม่มีนัยแอบแฝงด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการกระทำใดๆ ที่เคลือบแคลงต่อผู้เห็นต่าง

กรณีศึกษาผู้เห็นต่างกรณีหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการและผู้คนในพื้นที่หลากหลายเวทีเสวนา หนึ่งในนั้นคือเวที ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ของจังหวัดชายแดนใต้ ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข้อสะท้อนคิดสำคัญจากเวทีใน เช่น ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีข้อจำกัดให้กับผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ การบริหารการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จากผู้กำกับนโยบายรัฐและผู้ปฏิบัติ ขาดความเป็นเอกภาพและความไม่เอาจริงเอาจังรวมถึงไม่จริงใจของรัฐ รวมทั้งรัฐมีความอดทนต่อความพยายามเข้าใจปัญหา เพื่อให้เข้าถึงสาเหตุปัญหาแท้จริง ซึ่งอาจนำมาสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ โดยไม่มองข้ามมิติอื่นที่มีผลกระทบต่อปัญหาละเอียดอ่อนควบคู่กันไปด้วย

หากจะย้ำประเด็นของพฤติการณ์หนึ่ง ซึ่งสะท้อนลักษณะแห่งประชาธิปไตยนั้น ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่รัฐ (รัฐบาลทุกยุคสมัย) ควรทำให้มากขึ้น คือการยอมรับและยอมฟัง กล่าวคือยอมรับฟังความเห็นต่างของผู้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งมีนัยสำคัญอันอาจนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศชาติไปในทางที่ดีได้ เพราะผู้เขียนคิดหวังเช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศว่า วันพรุ่งนี้ อาจจะได้เห็นภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหรือมีการก่อตั้งกลุ่มการเมืองสีขาว คือ กลุ่มผู้ที่คิดเสียสละความสุข เวลาและความรู้หรือความสามารถที่มีคุณค่า นำมาสู่การพัฒนาประเทศมากกว่าจะเสียเวลาคิดแย่งชิงอำนาจหรือผลประโยชน์กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น