xs
xsm
sm
md
lg

มากจำนวน ด้อยคุณภาพ : เหตุให้ประชาธิปไตยเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประชาชนไม่ดีประเทศก็ฉิบหาย” นี่คือวาทกรรมของท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกข์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ล่วงลับไปแล้วแต่คำสอนของท่านยังดังก้องในหมู่พุทธศาสนิกชน

จากนัยแห่งวาทะดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าได้เน้นคุณภาพมากกว่าจำนวนทั้งในส่วนของนักการเมืองผู้เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้แทนของปวงชนทำหน้าที่ในด้านนิติบัญญัติ และประชาชนผู้ไปลงคะแนนเลือกผู้แทนว่า ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี ผู้แทนที่ได้รับเลือกก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นคนไม่ดี และถ้าผู้แทนส่วนใหญ่ไม่ดี ประเทศชาติก็จะได้รับความหายนะจากการเข้าไปทำหน้าที่ของผู้แทนที่ว่านี้

ดังนั้น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มด้วยการให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าประชาชนในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่สามารถแยกแยะคนดี คนไม่ดีออกจากกันโดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง แต่ยึดประโยชน์ที่แต่ละคนจะพึงมีพึงได้จากนักการเมืองผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเป็นตัวเงิน สิ่งของ หรือแม้กระทั่งนโยบายขายฝันที่บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองแข่งกันนำเสนอเพื่อแลกกับคะแนนที่จะได้รับในลักษณะของธุรกิจการเมือง คือ มีการลงทุน และเมื่อได้รับเลือกก็แสวงหาโอกาสที่จะถอนทุน รวมทั้งกำไรเป็นหลายเท่าของทุนที่ลงไปดังที่เป็นอยู่ในแวดวงการเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเสมอเหมือนกันหมดในทุกพรรคการเมือง จะแตกต่างก็เพียงมากกับน้อยเท่านั้น ส่วนที่ไม่แสวงหาเลยแทบพูดได้ว่าไม่มี

ดังนั้น ถ้ามองการเมืองไทยในฐานะเป็นองค์กรทางการเมืองในแง่พฤติกรรมองค์กรมีแต่เลวมากกับเลวน้อยเท่านั้น แต่ถ้ามองเป็นรายบุคคลหรือในฐานะปัจเจกพูดได้ว่ามีคนดี แต่เมื่อเทียบเป็นส่วนระหว่างคนดีกับคนเลวแล้ว อนุมานได้ว่าเลวมากกว่าดี และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการทุจริตในแวดวงการเมือง และที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทยังไม่รู้ ไม่เข้าใจในหลักการเลือกคนเข้าสู่ระบบการเมือง โดยยึดประโยชน์ของประเทศโดยรวมเป็นที่ตั้ง แต่ยึดบุคคลและผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ตนเองจะได้รับจากการที่นักการเมืองหยิบยื่นให้เพื่อแลกกับการลงคะแนนให้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทองข้าวของเครื่องใช้ หรือเป็นนโยบายขายฝันให้เกิดความหวังถ้าได้รับเลือก แต่ไม่ได้มองส่วนเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาโดยรวม เช่น หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น และต้องแบกรับราคาสินค้าที่แพงขึ้น เป็นต้น อันเกิดจากการเข้าไปทำหน้าที่ของผู้แทนที่ตนเองเลือกเข้าไป

2. พรรคการเมือง ในฐานะผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกบุคคลส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ไม่ได้ใช้หลักคุณธรรมและยึดผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม แต่มองที่ศักยภาพในการที่จะได้รับเลือก และความสามารถในการทำงานเพื่อสนองนโยบายพรรคภายใต้ระบบทุนทางการเมือง จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้คนที่มีอิทธิพลเงินหรืออิทธิพลทางสังคมในด้านลบมีโอกาสที่จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค และเมื่อได้รับเลือกแล้วก็แสวงหาโอกาสถอนทุนคืนโดยที่พรรคไม่ห้ามปราม หรือยิ่งกว่านี้ ในบางพรรคคนเช่นนี้พรรคได้ใช้เป็นเครื่องมือในการถอนทุนด้วยซ้ำ

จากปัจจัย 2 ประการนี้เอง นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคจึงมีคนเลวสอดแทรกอยู่ และเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองจนแทบแยกกันไม่ออกว่า คนไหนดี คนไหนเลว เพราะต่างอิงอาศัยกัน เข้าทำนองอสูร 4 ประเภทตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ

1. อสูรที่มีอสูรเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีบริษัท (บริวาร) เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

2. อสูรที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้ทุศีล แต่มีบริษัท (บริวาร) เป็นผู้มีกัลยาณธรรม

3. เทพที่มีอสูรเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีกัลยาณธรรม แต่มีบริษัท (บริวาร) เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

4. เทพที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีกัลยาณธรรม ทั้งมีบริษัท(บริวาร)เป็นผู้มีกัลยาณธรรมด้วย

จากนัยแห่งอสูร 4 ประเภทนี้ จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองไทยจะจัดอยู่ในประเภท 1 และ 3

ส่วนว่าพรรคใดเป็นประเภท 1 หรือ 3 นั้น ถ้าท่านผู้อ่านมองดูให้ลึกลงไปถึงพฤติกรรม ทั้งในส่วนของพรรคโดยรวมและเป็นรายบุคคล ก็พอจะอนุมานได้ไม่ยาก

ดังนั้น การที่บอกว่าพรรคการเมืองในปัจจัยเลวมากหรือเลวน้อย จึงน่าจะถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริงที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่มากที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงคาดหวังได้ยากว่าจะให้การเมืองดี 100 เปอร์เซ็นต์ คือดีทั้งผู้นำ และบริวารตามนัยอสูรประเภทที่สี่คงจะเกิดขึ้นได้ยาก ตราบเท่าที่การเมืองยังคงมีลักษณะเป็นธุรกิจการเมือง หรือมีการลงทุนและต้องการผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินเพื่อการคืนทุน

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติที่ได้เห็นผู้แทนปวงชนในสภาฯ ยกมือสนับสนุนการออกกฎหมายงบประมาณที่คนหลายคนเห็นแล้วไม่โปร่งใส และกฎหมายปรองดอง กฎหมายนิรโทษกรรม ที่คนหลายคน หรืออาจพูดได้ว่าส่วนใหญ่ที่ไม่มีส่วนได้จากกฎหมายนี้ และแถมมีส่วนเสียด้วยจะคัดค้าน แต่ไม่ว่าคัดค้านปานใด ถ้ายังปล่อยให้ใช้พวกมากลากไปได้ ทุกอย่างก็จะจบลงด้วยชัยชนะของคนพาลอยู่ดี

ถ้าไม่ต้องการเห็นสิ่งที่ว่านี้ คนไทยทุกคนที่ไม่ต้องการให้การเมืองเป็นอย่างนี้ต่อไปก็ควรที่จะลุกขึ้นยับยั้งมิให้เหตุที่ว่านี้ดำเนินต่อไป และนี่คือการปกป้องมิให้ประชาธิปไตยเสื่อมเพราะการใช้จำนวนแต่ไม่คำนึงถึงคุณภาพตัดสินชี้ขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น