xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมกับการบริหารงานภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสาวลักษณ์ ณ พัทลุง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่


ประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบจากต่างประเทศ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติการเมือง การปกครอง ตลอดจนมิติการจัดการความรู้ สารสนเทศและเทคโนโลยีการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและเข้มแข็งในสภาวการณ์ดังกล่าวนับเป็นทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบราชการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จุดเน้นที่ทุกๆ ภาคส่วนของสังคมโลกต่างให้ความสำคัญ และเตรียมพร้อมรับมือทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา (Innovation for Development) จึงเป็นนโยบายหลักที่หลายๆ ประเทศได้นำมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความมั่งคั่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนอย่างยั่งยืน

นวัตกรรมการบริหารงานภาครัฐ หมายถึง แนวคิด วิธี และรูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการองค์กร การดำเนินงาน และการให้บริการ อันเป็นผลมาจากการสร้าง พัฒนา เพิ่มพูน ต่อยอด หรือประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และแนวปฏิบัติต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพของการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ

นวัตกรรมการบริหารงานภาครัฐมีขอบเขตอยู่ภายใต้กรอบบทบาทและหน้าที่ของรัฐบาล (Role and functioning of government) ได้แก่

1) นวัตกรรมเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ (Strategy/ Business Concepts Innovation) เป็นการคิดค้น ออกแบบ หรือกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ภารกิจ เป้าประสงค์ใหม่ขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์หรือวางทิศทางใหม่ในการนำพาองค์กรในอนาคต

2) นวัตกรรมด้านสินค้าและการบริการ (Service and product Innovation) เป็นการปรับปรุงปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และการออกแบบของสินค้าและบริการ เช่น บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card หน่วยบริการเคลื่อนที่ (mobile unit)

3) นวัตกรรมการให้บริการ/การส่งมอบงาน (Delivery Innovation) ได้แก่ การสร้างหรือปรับเปลี่ยนแนวทาง/รูปแบบในการบริการหรือการติดต่อกับประชาชน เช่น การให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต

4) นวัตกรรมด้านกระบวนการ และการบริหารองค์การ (Process and Organization Administration Innovation) ได้แก่ การออกแบบโครงสร้างองค์กร และกระบวนการภายในใหม่ เช่น การจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การพัฒนาแนวทางการบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล เป็นต้น

5)นวัตกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์เชิงกระบวนการ (Process Interaction Innovation) ได้แก่ แนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาระบบความสัมพันธ์หรือการปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ หน้าที่กับภาคส่วนอื่นๆ ขึ้นใหม่ เช่น การพัฒนากระบวนการให้บริการในงานที่สัมพันธ์ กันอย่างครบวงจร

ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องมีการปรับปรุงตนเองอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง มีขีดสมรรถนะสูง มีวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบต่อสังคมให้ความสำคัญกับประชาชนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพื่อส่งมอบบริการที่ดีให้กับประชาชนส่งเสริมให้ข้าราชการพัฒนาตนเอง มีความคิดริเริ่มและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องวางแผนและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยอาศัยข้อมูลสารสนเทศ และทำงานโดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาและวงจรคุณภาพการบริการภาครัฐ

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 15 มีนาคม 2556 แหล่งที่มา www.opdc.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น