xs
xsm
sm
md
lg

“นครศรีธรรมราช” ต้นแบบชุมชนช่วยตัวเอง ก่อนภัยพิบัติมาเยือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ณัฐวีย์ นารถ

หากยังจำได้เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย ก็คือ เหตุการณ์สึนามิถล่มพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลายฝ่ายได้แต่รอการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งกว่าจะเข้าถึงพื้นที่ก็ล่าช้าจนเกินไป จนเกิดคำถามขึ้นมาว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นเราจะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร

สำหรับ จ่าโท โกเมศร์ ทองบุญชู หรือผู้ใหญ่โกเมศร์ แกนนำเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึงพาตนเองภาคใต้ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์สึนามิถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้สร้างความเสียหายให้กับครอบครัว จึงเกิดเป็นแรงกระตุ้นให้เครือข่ายฯส่งทีมงานไปช่วยเหลือ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไป จึงได้ระดมทีมงานที่มีจิตอาสาไปดูงานจิตอาสาที่มูลนิธิจื้อฉี้ ไต้หวัน พร้อมกับตน เมื่อกลับมาจึงได้จัดตั้งเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2548 ใน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ

ล่าสุด เราได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้มีการขับเคลื่อนงานรวมตัวกันภายใต้โครงการพัฒนาระบบและโครงข่ายการจัดการภัยพิบัติด้วยพลังสังคมพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเน้นการสานพลังเครือข่าย สั่งสมประสบการณ์ เตรียมการเผชิญหน้า และการฟื้นฟูสภาพโดยอาศัยผู้ที่มีจิตอาสาและมีใจอยากถ่ายถอดประสบการณ์มาร่วมในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยไม่แบ่งว่าใครเป็นใคร มาจากหน่วยไหน ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นส่วนร่วมได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและให้ความรู้

สำหรับแนวคิดและหลักการจัดการของโครงข่ายฯ ผู้ใหญ่โกเมศร์ อธิบายว่า จะเน้นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การสร้างการเรียนรู้แบบเชื่อมโยง และบูรณาการภารกิจหรือการจำลองสถานการณ์เสมือนจริงซึ่งจะทำให้เรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการสร้างพลังเครือข่ายการจัดการฯในการจัดการความรู้ร่วมกัน จะใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของทุนเครือข่ายนำความรู้ท้องถิ่นที่มีอยู่มาผสมผสานกันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้เพื่อนำไปสู่การจัดการตนเอง ครอบครัว ชุมชน และการขยายผลช่วยเหลือเครือข่ายการจัดการต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายในการทำงาน 5 ภูมินิเวศ คือ 1.ภูมินิเวศเทือกเขาพะโต๊ะ-ลุ่มน้ำหลังสวน จ.ชุมพร 2.เทือกเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี 3.เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง 4.ลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา และ 5.ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งสิ้น 32 ตำบล ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดปัญหาภัยพิบัติบ่อย เช่น น้ำท่วม พายุ ไฟไหม้ ภัยแล้ง ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น

ผู้ใหญ่โกเมศร์ เล่าด้วยว่า จากการดำเนินงานพบว่า เมื่อประชาชนได้เรียนรู้แล้วจะทำให้เกิดการเตรียมตัวในตนเอง ครอบครัว หรือชุมชน เช่น รู้ว่าน้ำจะท่วม ก็มีการจัดเตรียมวางแผน เตรียมอาหารเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น เตรียมสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับตนเอง ฯลฯ ซึ่งเป็นการเตรียมตนเองขั้นต้น ไม่ใช่การที่จะรอแต่ความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว การทำงานของเครือข่ายฯก็เพื่อเป็นการจุดประกาย การสานต่อ การพัฒนาระดับการจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้สังคมเราได้เคลื่อนไปบนเส้นทางสู่ความพร้อมพอต่อการรับมือกับภัยพิบัติ ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวตลอดเวลาในการรับมือกับภัยพิบัติที่ไม่อาจจะทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ปัจจุบันนี้ เชื่อว่า มีความจำเป็นที่พื้นที่อื่นๆต้องเริ่มพัฒนาเพื่อช่วยเหลือตนเอง เพราะภัยพิบัติเกิดได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา อย่างน้ำท่วม อดีตเราก็ไม่คิดว่าจะมี แผ่นดินไหว หรือ สึนามิเองก็ไม่คิดว่าจะเกิดได้ ทุกอย่างอยู่ในภาวะความเสี่ยง แล้วใครจะช่วยตัวท่านได้ พอมาคิดๆดูแล้ว คนที่จะช่วยได้ดีที่สุดก็คือ ตัวผู้ประสบภัยเอง ต่อมาเป็นหน่วยที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือ ชุมชนที่ใกล้ที่สุด และค่อยกระจายเป็น ท้องที่ จังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งการเรียนรู้ที่จะตั้งรับไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมีหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ช่วยกันปลูกฝัง ไม่ใช่รอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆเพียงอย่างเดียวแล้ว"

ผู้ใหญ่โกเมศร์ ทิ้งท้ายด้วยว่า ในช่วงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ ในการดูแลจัดการตนเองก็คือ การที่ประชาชนทุกคนมีความระมัดระวังในตนเอง มีสติในการกระทำกิจกรรมต่างๆอยู่บนทางที่ไม่ประมาท เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นใกล้ตัวเราเมื่อไหร่ หากแต่เราเตรียมการป้องกันไว้ก็จะเป็นการลด และหลีกเลี่ยงต่อภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองได้









กำลังโหลดความคิดเห็น