ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตตั้งเป้าอีก 3 ปีจากนี้ ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนให้เหลือแค่ 50 รายต่อปี จากเดิมที่ตายสูงถึง 200 คน ทั้งการรณรงค์สวมหมวกกันน็อก อัดงบประมาณ 80 กว่าล้าน แก้ปัญหาจุดเสี่ยงทั้ง 40 จุดให้ปลอดภัยทั้งหมด
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นพ.วีรพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนกลาง (สอจร.กลาง) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ระดับภาคใต้ “รวมพลังภาคีเครือข่าย มุ่งเป้าหมายลดการตายทางถนน 30% ภายในปี 2556” ซึ่งทาง สอจร.ภาคใต้ จัดขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุจราจรจำนวน 350 คน ประกอบด้วย ภาคีเครือข่าย 14 จังหวัดภาคใต้, ตำรวจ, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ขนส่ง, สาธารณสุข, ประชาสัมพันธ์, ภาคการศึกษา, กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี, ผู้ทำงานด้านอุบัติเหตุจากส่วนกลาง และผู้เกี่ยวข้อง
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ในฐานประธาน สอจร.ภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาด้านอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นปัญหาสำคัญของโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี 2550 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 1.2 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคนเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนปีละนับล้านคน และเสียชีวิตกว่า 16,000 คน พฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนยังไม่ดีขึ้น เช่น อัตราการสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัยยังอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น คนเจ็บที่เป็นคนขับมีอัตราการดื่มสูงถึงกว่า 30%
ทั้งนี้ ยังมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล โดยกรมทางหลวงประมาณมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทั้งหมดในปี 2551 สูงถึง 232,200 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินการตามประกาศองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ปี พ.ศ.2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) โดยมีเป้าหมายลดอัตราผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2563
นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำหนดให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นตัวชี้วัดร่วมของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น สอจร.ภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับภาคในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทุกภาคส่วนจึงได้จัดสัมมนาระดับภาค เรื่อง รวมพลังภาคีเครือข่ายมุ่งเป้าหมายลดการตายทางถนน 30% ภายในปี 2556 ขึ้น เพื่อให้ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ปฎิบัติงานจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับทราบนโยบายของรัฐบาล และของภาคใต้ในการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ รวมทั้งแนวทางการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน รวมถึงจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้นำความรู้ แนวทาง และรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อไปเผยแพร่และปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการทำงานที่จริงจัง และมีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหากี่ยวกับอุบัติเหตุจราจรให้สอดคล้องกับทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้เห็นถึงปัญหาที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งล้วนทำให้เกิดผลดีต่อสังคม
สำหรับยุทธศาสตร์แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฯ มีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ การปรับนโยบายให้เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับชาติ, การสร้างเสถียรภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน, การทำแผนนิติบัญญัติ, การป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนในส่วนกลาง, การป้องกัน และแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น รวมทั้งการวิจัย การพัฒนา และติดตามประเมินผลด้านความปลอดภัยทางถนน
นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งจากข้อมูลที่มีพบว่าในภาคใต้ปัญหาการเสียชีวิตของประชากรต่อแสนประชากรอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ และอัตราการสวมหมวกนิรภัยของภาคใต้ในภาคเฉลี่ยต่ำกว่าภาคอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ก็มีจุดเด่นในหลายจังหวัด ที่ดำเนินการเรื่องอุบัติเหตุได้ดี ยกตัวอย่าง จังหวัดภูเก็ต สามารถเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของประเทศ เรื่องการสวมหมวกนิรภัยสูงที่สุดในประเทศ ร่วมกับกับการดำเนินการเพื่อการแก้ไขจุดเสี่ยง พบว่า อัตราการเสียชีวิตของคนในจังหวัดภูเก็ต ลดลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 คนต่อปี ถึงปีสุดท้ายเหลืออยู่ 116 คน และคาดว่าใน 3 ปี ข้างหน้าเราสามารถที่จะผลักให้การเสียชีวิตเหลือต่ำกว่า 50 รายต่อปี อันนี้เนื่องจากว่าการทำงานของเครือข่ายในพื้นที่ค่อนข้างมีความเข้มแข็ง
ในการตั้งเป้าการสัมมนาระดับภาคดังกล่าว ซึ่งมุ่งสู่การลดอุบัติเหตุลงร้อยละ 30 ก็จะเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริง เพราะจะเป็นวิถีหนึ่งในเรื่องการดำเนินการ การที่เครือข่ายได้ระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ได้เห็นว่าพื้นที่อื่นมีกระบวนการจัดการความรู้อย่างไร ก็จะเป็นการดำเนินการที่ทำให้การมุ่งสู่เป้าทำได้ไม่ยาก โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ต เป้าหมายในการดำเนินการที่จะให้ได้ผลให้ต่ำกว่า 50 รายต่อปี ก็ได้ความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งท้องถิ่นทุกแห่ง และแขวงการทางภูเก็ตได้ออกมาเป็นนโยบายว่าใน 3 ปี นับตั้งแต่ปีนี้ การแก้ไขจุดเสี่ยงทั้งจังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 40 จุด งบประมาณ 84 ล้านบาท ได้มีการทำแผนบรรจุลงในแผนจังหวัดแล้ว ซึ่งขณะนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ได้ดำเนินไปแล้วประมาณ 20 จุด เช่น ที่โค้งคอเอนที่ขณะนี้อุบัติเหตุแทบจะไม่มีเลย
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติการจราจรของจังหวัดภูเก็ต ที่ยังมีปัญหา จะเป็นเรื่องของการบาดเจ็บจากมอเตอร์ไซค์ ในอัตราการสวมหมวกนิรภัยถึงแม้จะสูงเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ก็ยังพบว่ามีประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ยังไม่สวมหมวกนิรภัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยที่เพิ่งทำงาน อีกปัญหาคือเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ ตัวเลขคร่าวๆ ดูเฉพาะผู้เสียชีวิตของจังหวัดภูเก็ต ประมาณครึ่งหนึ่ง พบว่ามีแอลกอฮอล์อยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิต เพราะฉะนั้น หากสามารถดำเนินการเรื่องของมาตรการดื่มแล้วไม่ขับได้ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรจะสามารถลดลงไปได้ทันที