xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วย “โฆษกรัฐบาล” คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

โดย...ไพศาล อินทสิงห์
มหาวิทยาลัยนเรศวร

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรับเปลี่ยนโฆษกรัฐบาลไปแล้วหลายท่าน ตั้งแต่ท่านฐิติมา ฉายแสง ท่านศันสนีย์ นาคพงศ์ ท่านทศพร เสรีรักษ์ ด้วยเหตุผล เพื่อความเหมาะสม

เมื่อแรกตั้ง ก็เพราะเห็นว่า มีความเหมาะสม แปลว่า เข้ามา และพ้นไปด้วยเหตุผลเดียวกัน ที่สำคัญ แต่ละท่านอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย

การเปลี่ยนโฆษกบ่อย ถ้าไม่เพราะ 1) ผลงาน ก็ 2) ผลทางการเมืองถ้าผลงานไม่เข้าตารัฐบาล อยู่ที่โฆษกเองต้องยอมรับ อาจมือไม่ถึง ไม่พลิ้วพอ เป็นที่พึ่งพาให้นายกฯ ไม่ได้ ใครเข้ามาสนามนี้จึงต้องแข่งสร้างผลงานเต็มที่ ไม่มัวรีรอ รอรับลูก เพราะกาลเวลาผ่านไปเร็ว รัฐบาลทำงานแข่งเวลา มีผลงานออกทุกวัน ขณะที่โฆษกจะชงลูกเร่งสปีดพีอาร์อย่างไรก็รีบลุยขนานไปกับนายกฯ ขณะนี้เป็นโอกาสของท่านธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกรัฐบาลคนใหม่ จะอยู่ยาวแค่ไหน ต้องติดตามถ้าผลทางการเมือง อยู่ที่นายกฯ ต้องรับผิดชอบ สังคมอาจวิพากษ์หรือคิดแง่ลบว่า เป็นตำแหน่งไว้รองรับหรือตอบแทนกันหรือไม่ ประการใด เช่น ท่านศันสนีย์ ที่ขึ้นชั้นรัฐมนตรี เป็นต้น ห้ามสังคมคิดไม่ได้ แต่ถ้าชอบธรรม ก็ทำได้ ประชาชนเข้าใจ

ซึ่งในที่นี้ขอโฟกัสการทำงานโฆษก ทำอย่างไรให้ผลงานเข้าตารัฐบาล ซึ่งผู้เขียนมองว่า ถ้าจะว่าไปแล้ว โฆษกถือเป็นมือขวาของรัฐบาล ไม่ว่าจะบริหารงานใด ด้วยนโยบายอะไร งานโครงการใหม่ๆ อย่างไร เป็นต้องอธิบาย ต้องบอกต้องกล่าว ชี้แจงก่อนทั้งสิ้น

หากสังคมชุมชนไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วย ก็ลำบาก ดังนั้น โฆษกจะมีกุศโลบาย วิธีพีอาร์ประชาสัมพันธ์อย่างไร ให้บังเกิดซึ่งความเข้าใจ ไว้วางใจ สนับสนุน เป็นโอกาสและความท้าทายไม่น้อย นโยบายเด่น + พีอาร์ดี ประชาชนก็พร้อมหนุนนำ

บทบาทโฆษก จึงสำคัญ

ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์ได้ที่ไหน ขึ้นกับโฆษกคนนั้นๆ จะทำให้รัฐบาลผิดหวังหรือสมหวัง มาก น้อย ปานกลางอย่างไร เมื่อโอกาสเป็นของท่านธีรัตถ์ จะแสดงศักยภาพพีอาร์อย่างไร

ผู้เขียนมีบางมุมเกี่ยวกับการทำงานโฆษกที่อยากนำเสนอ ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ผู้อ่านอาจเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ช่วยกันเสนอความคิด เพื่อประเทศของเรานะครับ

ประการที่ 1 โฆษกต้องมีความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งต้องมาก่อนเรื่องใดๆ ถือเป็นหัวใจ ขึ้นชื่อว่าโฆษก ต้องเก่งสื่อสาร เก่งการประชาสัมพันธ์ รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องเล่นเป็นด้วย ต้องสามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่มีออกมาปฏิบัติใช้จริงให้สำเร็จ ส่วนจะเล่นอย่างไร ด้วยกลยุทธ์ใด จังหวะไหนรุกและโอกาสไหนรับ อยู่ที่ศิลปะ ความเป็นมืออาชีพของโฆษก

ความสามารถสะท้อนความเหมาะสม

ประการที่ 2 โฆษกต้องรอบรู้นโยบายรัฐบาล เนื้อหางาน 20 กระทรวง ไม่มียกเว้น ไม่รู้ไม่ได้ เพราะเนื้อหาที่จะใช้พีอาร์ คือ งาน 20 กระทรวง ซึ่งเป็นงานทั้งหมดของรัฐบาล นั่นเอง ยิ่งลึกซึ้ง ยิ่งได้เปรียบ นาทีนี้ต้องมองว่า จะสร้างความได้เปรียบในงานพีอาร์ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบให้รัฐบาลอย่างไร

(นักข่าว) ถามได้ (โฆษก) ตอบได้

ชัดเจนจะแจ้งเท่าใด ถูกใจนายกฯ เท่านั้น

ประการที่ 3 โฆษกต้องรู้สถานการณ์ในประเทศและของโลก โดยเฉพาะที่มีผลถึงรัฐบาล ไม่รู้ไม่ได้ วันนี้เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นที่ไหน ประเทศใด มีแนวโน้มเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันหมดแล้ว โลกแคบลง สังเกตเดี๋ยวนี้ข่าวต่างประเทศเหมือนข่าวในประเทศไปแล้ว คนไม่รู้สึกแปลกแยก เผลอๆ ขึ้นเป็นข่าวแรกของการนำเสนอทางทีวี วิทยุ หน้าแรกของหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องธรรมดา ใครที่เรียนนิเทศศาสตร์ท่องๆกันมาในอดีตต้องเสนอข่าวในประเทศก่อน แล้วต่อด้วยกีฬา ตามด้วยข่าวต่างประเทศ วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว โลกเปลี่ยนแปลง ข่าวสารเปลี่ยนไป อยู่ที่ข่าวสารใดตอบโจทย์ประชาชน

ยิ่งสื่อสมัยใหม่ไร้พรมแดน ไร้ลิมิต อะไรเกิดขึ้นที่ไหนในและต่างประเทศ มิเพียงกระตุ้นคนสนใจ รับรู้ รวดเร็ว อยากคลิ๊กเข้าไปดู เป็นวัฒนธรรม พฤติกรรมบริโภคข่าวสารปกติไปแล้ว ยังสนุกกับเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และอื่นๆ อีกเพียบ ส่งต่อ ตอบกลับเพียงปลายนิ้วสัมผัส ข่าวสารมีชีวิต ใหม่สดทุกวินาที ใครช้ากลายเป็นตกข่าวไป เร็วๆ นี้จะรุกก้าวเป็นประชาคมอาเซียนอีก โลกเปิดกว้าง โฆษกต้องรู้ก่อน ยิ่งรู้เร็วเท่าใด ยิ่งได้(ใช้)ประโยชน์จากข่าวสารเท่านั้น

ทำอย่างไรให้ข่าวสารประชาสัมพันธ์รัฐบาลมีชีวิต

ประการที่ 4 โฆษกต้องทำงานเป็นทีมพีอาร์ให้กับรัฐบาล ผสานสื่อทุกภาคส่วน ร่วมมือนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล จับมือ 20 โฆษกกระทรวง 77 ประชาสัมพันธ์จังหวัด มุ่งประโยชน์สูงสุดในการประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนประเทศ ทำอย่างไรให้เข้าถึงสื่อและประชาชน วันนี้ต้องบูรณาการทำงาน ประสานให้ดี ทำคนเดียวยาก ใช้วิธีพีอาร์ปูพรมให้ข่าวสารไหลรื่นลงสู่พื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศไปถึงประชาชนให้ได้

1 โฆษกรัฐบาล 20 โฆษกกระทรวง 77 ประชาสัมพันธ์จังหวัด “เอาอยู่”

ประการที่ 5 โฆษกต้องเป็นที่ปรึกษาแนะนำรัฐบาลในด้านการประชาสัมพันธ์ ทั้งเชิงรุกและตั้งรับ นาทีนี้ไม่มีใครรู้พีอาร์ดีกว่าโฆษก จะให้นายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศแสดงบทบาทพีอาร์อย่างไร อยู่ที่โฆษกเป็นผู้กำกับ และเขียนสคริปต์

เป็นผู้นำ มิเพียงบริหารเด่น ต้องพีอาร์เป็นด้วย

ประการที่ 6 โฆษกต้องมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว มีลีลา ท่วงทำนอง ความพลิ้ว เนียน มองเหนือชั้น ข้ามช็อต แยบยลในเชิงชั้นพีอาร์ เพื่อสร้างความศรัทธานิยมในรัฐบาล เหนืออื่นใดสร้างคะแนนนิยมในรัฐบาลเพื่อการเลือกตั้งสมัยหน้าอีกด้วย

ดูเหมือนว่า รัฐบาลกำลังจะได้เปรียบจากความเหมาะสมของโฆษกธีรัตถ์ไม่น้อย เพราะจบนิเทศศาสตร์โดยตรง เข้าสเป็กเก่งสื่อสารพีอาร์ แถมมีดีกรีการศึกษาจากต่างประเทศ อย่าลืมว่างานโฆษกรัฐบาลนั้น เป็นงานต้องติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ทั้งกับคนไทย และชาวต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะนักข่าวต่างประเทศ

อีกทั้งมีความรู้ ประสบการณ์ เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยต่างๆ บรรณาธิการบริหารสื่อ เป็นผู้สื่อข่าว พิธีกรรายการ พิธีกรโทรทัศน์ ผู้ประกาศ ดำเนินรายการสดที่ใช้ 2 ภาษาได้อย่างเชี่ยวชาญ สร้างสรรค์รายการข่าว รายการด้านเศรษฐกิจ ทั้งสายตรงเศรษฐกิจ เปิดโลกธุรกิจ เส้นทางนักลงทุน พิชิตธุรกิจ ฯลฯ ล้วนเกื้อกูล หนุนส่งงานประชาสัมพันธ์รัฐบาลรื่นไหล ไหลรื่น

ท่านธีรัตถ์อาจเหมาะสมได้นั่งโฆษกยาว.!!
กำลังโหลดความคิดเห็น