ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ผลประกอบการของบริษัทมติชน และบริษัทในเครือ ในไตรมาสแรกปี 2556 ปรากฏว่า มีกำไรขั้นต้น 136.06 ล้านบาท แต่บริษัทมีต้นทุนการใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหารมาก ทำให้บริษัทขาดทุนก่อนหักภาษีถึง 47.8 ล้านบาท
นั่นแสดงว่า เงินเดือนผู้บริหาร และค่าโสหุ้ยต่างๆ อยู่ในเกณฑ์สูงมาก
แสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของบริษัทที่ด้อยเอามากๆ ทั้งๆ ที่บริษัทมีรายได้จากโฆษณา และการขายสูงมากถึง 507 ล้านบาท ในเวลาเพียง 3 เดือน ด้วยความอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐทุกประเภท
แต่เงินดังกล่าวกลับไม่ตกถึงมือผู้ถือหุ้น
มิหนำซ้ำ บริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจอบรมวิชาชีพ ที่มีทุกสัปดาห์ถึง 12.6 ล้านบาทในไตรมาสแรก
แต่มติชนก็ยังขาดทุน
ไม่แปลกหาก“อากู๋”ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งแกรมมี่ จะขายหุ้นทิ้งทั้งหมด
ทั้งนี้ ในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีรายการซื้อขายหุ้นล็อตใหญ่ของ บมจ.มติชน (MATI) จำนวน 42,388,000 หุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 11.09 บาท รวมแล้วมูลค่า 469.94 ล้านบาท
บมจ.มติชน (MATI)ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ว่าการขายหุ้นจำนวนดังกล่าวออกไปนั้น ไม่ได้เกิดจากตัว นายขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างในการบริหารงานของบริษัท โดยทาง บมจ.จีเอ็มเอ็ม มีเดีย เป็นผู้ขายหุ้น 22.12 %
โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ออโต พาร์ท อินดัสตรี (ไทยซัมมิท)ได้เข้าซื้อหุ้นดังกล่าว
หลังจากที่เคยซื้อ และขายหุ้นเนชั่น มาแล้ว
ตอกย้ำ ข่าวลือว่า มติชนเป็นบริษัทในมือของ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวกเป็นจริง
ทั้งนี้ ในส่วนของนายขรรค์ชัย ยังคงถือหุ้นเท่าเดิมที่ 34.93% ขณะที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) จากเดิมถือหุ้น 41 ล้านหุ้น หรือ 22.12% หลังรายการบิ๊กล็อต ไม่มีหุ้นคงเหลือ ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น ก็ยังคงถือหุ้นเท่าเดิม
คงจำกันได้ดีว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นข่าวใหญ่ เพราะมีการต่อต้านจากกองบรรณาธิการ นสพ.มติชน และเครือข่ายศิษย์เก่ามติชน คัดค้านการเข้าซื้อหุ้นของแกรมมี่
จนขยายเป็น “Friends of Matichon”
แต่ท้ายที่สุด ผู้บริหารมติชน ก็เปิดประตูต้อนรับ “อากู๋”ด้วยหุ้นถึง 22.12%
โดยเมื่อ 8 ปีก่อน (ก.ย.2548) "อากู๋" ได้เขย่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยการเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร บมจ.มติชน หลังกวาดหุ้นได้ 32.23% และเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) อีกไม่เกิน 42.78% ที่ราคา 11.10 บาทต่อหุ้น แต่สุดท้ายก็ยอมลดสัดส่วนการถือลง เหลือประมาณ 20 % นอกจากนี้ยังได้ซื้อหุ้น บมจ.โพสต์พับลิชชิ่ง 23.60%
หลังจากนั้น มติชน ก็แปลงสภาพไปเป็น“มติชิน”
มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางข่าว และผู้รับผิดชอบบริหารข่าว
ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของบริษัทฯ ที่สำคัญคือ ให้ นางสาวจุฬาลักษณ์ ภู่เกิด พ้นจากตำแหน่ง บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์มติชน โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน 2552 และ แต่งตั้ง นายนฤตย์ เสกธีระ เป็น บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์มติชน แทน โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน 2552
นอกจากนั้น ในปี 2554 "มติชน" ยังเลิกจ้าง “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์”บรรณาธิการเฉพาะกิจสำนักพิมพ์มติชน โดยยินยอมจ่ายค่าชดเชยทุกประการ เพราะไม่ได้กระทำความผิดกฎหมายและระเบียบของบริษัท ยุติความเป็นนักข่าว-บรรณาธิการ และคอลัมน์นิสต์ ในสังกัดมติชน ที่ได้ทำงานและมีผลงานมาร่วม 26 ปี
จนทำให้ประสงค์ เดินเข้าสร้าง “ข่าวสืบสวนสอบสวน” บนหน้าเว็บไซต์ ในชื่อของ “prasong.com” และ “isranews.org”
ประสงค์ จัดเป็นนักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนคนสำคัญของมติชน จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้มติชน โดยทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ของรัฐบาลต่างๆ ตลอดเวลา ตอนเขาเป็นหัวหน้าข่าวในกองบรรณาธิการในมติชน เขามีบทบาทในการเปิดโปงข่าว เรื่องการทุจริต ส.ป.ก.4-01 ในปลายสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี 2537 หลังจากนั้น เปิดโปงการทุจริตธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ (บีบีซี) ของนักการเมืองกลุ่ม 16 ซึ่งมี นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นแกนนำคนสำคัญ หลังจากนั้น เขาเปิดโปงเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ จำนวนเงิน 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จนศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินเพิกถอนสิทธิ์ พล.ต.สนั่น เป็นเวลา 5 ปี
ในช่วงที่ นายประสงค์ เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เปิดโปงการซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนกันยายน 2543 จนทำให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ต้องถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองนาน 5 ปี
ประสงค์ จึงไม่เป็นที่ต้องการของ “ทักษิณ ชินวัตร”และเครือข่าย
แต่แล้ว หุ้นของมติชนในปัจจุบันก็ไม่เป็นที่ต้องการของแกรมมี่ เพราะมีผลประกอบการขาดทุน แม้มี “กำไรจากผลทางการเมือง”
หุ้นจำนวนดังกล่าวจึงถูกส่งผ่านต่อไปยัง “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ”
จึงไม่แปลกที่มติชนได้กลายเป็น “มติชิน”ไปทุกบรรทัด
ที่ผ่านมา นางสมพร แห่งไทยซัมมิท เคยเข้าถือหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2546 ก่อนที่จะขายออกไปเมื่อปี 2553
สมพร ยอมรับว่า “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บุตรชาย ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จากกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เพราะเห็นว่ามติชน มีผลประกอบการเติบโตดี มีความแข็งแกร่ง และมีนโยบายลงทุนระยะยาว
นอกจากนี้ นางสมพร ยังเป็นเจ้าของนิตยสาร WHO ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และคนสนิทของ ทักษิณ ชินวัตร
สมพร ยังบอกว่า “ไม่เคยคิดว่าเมื่อลงทุนปุ๊ปแล้วต้องไปไล่ทีมเก่าออก แล้วเข้าไปเป็นใหญ่ เพราะการทำธุรกิจต้องเป็นพันธมิตรกัน หากเอาคนเก่าออก ก็ต้องหาคนเข้าไปใหม่ และต้องมีเครือข่ายเข้าไปดำเนินกิจการ”
“ยังไม่คิด และไม่ได้ตกลงอะไรกับอากู๋ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานบริษัทแกรมมี่ เพราะพอใจกัน รับราคาได้ก็จบ และมติชนถือเป็นสินค้าที่ดี กำไรทุกปี ทั้งนี้ ดิฉันยังไม่เคยเจอนายขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ถือหุ้นใหญ่มติชน แต่คิดว่าหลังจากนี้ คงจะพบปะคุยกันบ่อยขึ้น เพราะระดับนักธุรกิจมาตรฐานต้องมีอยู่แล้ว การคุยกันเพื่อให้ธุรกิจแข็งแรง”
เธอบอกว่า“โดยส่วนตัว อยู่ในอุตสาหกรรมมา 30 ปี ลูกๆ ก็โตแล้ว นอกจากอุตสาหกรรมเรียลเอสเตท เห็นว่าสื่อก็น่าสนใจ ส่วนจะส่งใครเข้าไปในบอร์ดมติชนนั้น ยังไม่ได้คิด”
แต่สาเหตุที่ขายหุ้นเนชั่นออกไปนั้น สมพร อธิบายว่า “ไม่ใช่เพราะนายสุทธิชัย หยุ่น ไม่ฟัง แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ดิวกับนายสุทธิชัย หยุ่น แต่ดิวกับนายธนะชัย สันติชัยกูล ซึ่งลาออกไปแล้ว ซึ่งเราได้ทุ่มลงทุนเนชั่นไปหลายร้อยล้าน ขาดทุน 200 ล้าน ต่อมาก็ได้ขายหุ้นเนชั่นไป เพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ และถ้านำเงินไปลงในทุนธุรกิจด้านอื่นๆ ก็จะได้กลับคืนมาเยอะกว่า ซึ่งตอนที่ขายหุ้นเนชั่นนั้น ผู้ซื้อไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นใคร เพราะการซื้อขาย เคาะกันบนกระดาน โดยส่งนายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ มาเป็นผู้ดิวซื้อให้ และทราบภายหลังว่า คนที่ซื้อเป็นกลุ่มนายเสริมสิน สมะลาภา แต่ลึกๆไม่ทราบว่าเป็นใคร”
แต่การซื้อหุ้นมติชนครั้งนี้ ได้ติดต่อพูดคุยกับนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานบริษัทแกรมมี่ โดยตรง
นั่นจึงทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกของ บมจ.มติชน เปลี่ยนไปเป็น นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ ถือหุ้น 34.93% บมจ. สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ 22.12% และ บมจ.ไซเบอร์ เวนเจอร์ 5.50%
นอกจากผลประกอบการของมติชนเป็นที่น่ากังขา
แกรมมี่ ยังต้องการเงินทุนจำนวนมาก 4,000 ล้านบาท เพื่อประมูลทีวีดิจิตอล 3 ช่อง เคเบิลทีวี ซึ่งจะมีอิทธิพลทางการเมือง และสังคมมากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์
มติชน จึงไม่มีอนาคตในสายตาแกรมมี่
แตกต่างกับก่อนหน้านี้ อากู๋ แถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2548 กรณีเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ในสัดส่วน 32% และการทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า
“จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ได้เข้าไปซื้อหุ้นของมติชน และบางกอกโพสต์เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของมติชนนั้น เมื่อคืนได้คุยกับพี่ช้าง (นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน) ผมกับพี่ช้าง รู้จักกันมานาน เมื่อวาน (12 กันยายน) พอผมประชุมเสร็จก็โทรศัพท์หาพี่ช้าง พี่ช้างไม่อยู่ที่โรงพิมพ์ แล้วพี่เขาก็โทร.กลับมา เลยนัดคุยกัน สรุปสั้นๆว่า วันนี้ต้องแถลงข่าวร่วมกับพี่ช้างที่มติชน พอดีพี่ช้างเป็นหวัด ไม่สบาย วันนี้เลยโทร.มาบอกว่า สงสัยผมคงต้องพูดไปเองคนเดียว”
“สรุปสั้นๆ ว่า พี่ช้างยอมรับในสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง และในเมื่อที่รู้จักกันกันมา ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ผมก็เรียนพี่ช้างว่า ผมคงไม่เข้าไปทำให้ใครอึดอัดใจ หรือไม่สบายใจ มีอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ ก็ขอให้ตามผมเข้าไปทำ คงไม่เข้าไปเกะกะ ไม่ทำให้ใครกังวล ไม่ต้องระแวงสงสัย ไม่ต้องกังวลทั้งสิ้น”
“ผลประโยชน์ที่จะเป็นเรื่อง Content (เนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์) คือแกรมมี่เป็นเจ้าของ Content Provider (ผู้นำเสนอสินค้า หรือผลิตภัณฑ์) ที่มากที่สุดในไทย ในโลกนี้มี 5 Content ที่คนต้องการสูงสุดคือ ข่าว เพลง ภาพยนตร์ เกม และกีฬา ขณะนี้เรากำลังเติมเรื่องกีฬา สื่อสิ่งพิมพ์ และถ้าเราเข้าไปถือหุ้นใน 2 โรงพิมพ์นี้ เราจะเป็นผู้ที่มีข่าวสารเยอะสุด” อากู๋ อธิบายเหตุในปี 2548
แต่ปี 2556 อากู๋ ทำอีกอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นวิธีคิดแบบเดียวกัน
ตอกย้ำข้อสงสัยว่า อากู๋ เป็นตัวแทนทักษิณ ในการครอบครองมติชน เพราะ contents ของมติชน ไม่สำคัญเสียแล้ว
แม้กระทั่ง “ก้องเกียรติ โอภาสวงการ”นายกสมาคมนักวิเคราะห์ ยังอธิบายพฤติกรรมการลงทุนของอากู๋ ว่า “ถ้าดูจากวิธีการทำธุรกิจของแก ก็ต้องบอกว่าแกชอบซื้อของสำเร็จรูป มากกว่าสร้างใหม่ ยกตัวอย่างแม็กกาซีนต่างประเทศ ก็ซื้อหัวนอกมา ในแง่คนทำธุรกิจทั่วไป ทำอย่างไรจะต่อยอดคอนเทนต์กิจการที่มีอยู่ มองไปมองมา ก็เห็น 2 บริษัทนี้ ”
ที่สำคัญเขายังเตือนว่า “การเปลี่ยนจุดยืนของหนังสือพิมพ์ ถ้าซื้อไปแล้วเกิดไปทำอะไร ขัดกับความต้องการผู้บริโภค คนไม่อ่าน โฆษณาก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นแง่คนทำธุรกิจ การที่ไปเปลี่ยนโดยที่มีแรงต่อต้านทางสังคมมากมาย คงไม่ใช่วิธีการที่ฉลาด”
แต่มติชน ก็กลายเป็น “มติชินวัตร”ไปเสียฉิบ !!!