“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ทุ่มงบประมาณ 4 พันล้านบาท ประมูลดิจิตอลทีวีทั้ง 3 ช่อง เผยเตรียมเจรจากับบริษัทในต่างประเทศกว่า 20 แห่งเพื่อซื้อคอนเทนต์ด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ยันบริษัทไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มเพราะยังมีกระแสเงินสดหมุนเวียน และเงินรายได้จากผลประกอบการอยู่ ส่วนขายหุ้นอื่นๆ ในมือขอรอโอกาส และการเจรจา
นายครรชิต ควะชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจทีวีดิจิตอล บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) กล่าวว่า สำหรับประกอบการในไตรมาส 2/56 เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเพลง ธุรกิจทีวีดาวเทียม ยังอยู่ในอัตราเติบโตที่ 5-10% ขณะที่ธุรกิจใหม่คือ เพย์ทีวียังอยู่ในช่วงระหว่างคืนทุน โดยคาดว่ายังต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปีนี้รายได้จะเติบโตตามเป้าหมาย 10% จากทุกประเภทธุรกิจของบริษัท แต่ในส่วนของกำไรยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง โดยในปีนี้บริษัทได้เตรียมงบลงทุน 5 พันล้านบาท เพื่อเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอล 3 ช่องคือ ช่องเด็ก 140 ล้านบาท ช่องวาไรตี 380 ล้านบาท และช่อง HD 1,510 ล้านบาท โดยจะเริ่มยื่นซองประมูลได้ในช่วงสิงหาคม หรือกันยายนนี้ ตามกำหนดการของ กสทช.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มทุนเพราะยังมีแหล่งเงินทุนจากธนาคารอยู่ และบริษัทฯ ยังมีเงินทุนจากกระแสเงินสด 1,000 ล้านบาท และจากผลประกอบการ (EBITDA) 1,000 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันที่บริษัทฯมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับ 1.9 เท่า หลังกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุน คาดว่า D/E จะสูงขึ้นเป็นไม่เกิน 2 เท่า
โดยเมื่อบริษัทฯ ประมูลช่องทีวีดิจิตอลได้จะสามารถออกอากาศได้ทันทีที่ได้รับใบอนุญาต ขณะเดียวกัน บริษัทได้เจรจากับบริษัทในต่างประเทศกว่า 20 แห่ง เพื่อซื้อคอนเทนต์ด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ด้วยการผูกสัญญา 3 ปี ซึ่งคอนเทนต์นี้จะมีออกอากาศทั้งในส่วนของเพย์ทีวี และทีวีดิจิตอลที่บริษัทได้เตรียมประมูลไว้
นายปีย์มน ปิ่นสกุล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการไตรมาส 2/56 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องแต่จะลดลงจากไตรมาส 1/56 ที่ขาดทุนถึง 225.5 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทรับรู้ายได้ครึ่งหนึ่งจากธุรกิจภาพยนตร์เรื่อง “พี่มากพระโขนง” ที่ทำรายได้ 550 ล้านบาท และรับรู้รายได้จากการขายหุ้น บมจ.มติชน (MATI) 470 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายในราคาเท่าทุนที่ 11 บาท/หุ้น
“การขายหุ้นใน MATI เป็นเพราะที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้มีอำนาจการบริหาร แต่ถือหุ้นเพื่อลงทุน ถ้าราคาดีก็ไม่แปลกถ้าขายออกเพราะมีผลตอบแทนมากกว่าจึงขายออกไป ส่วนจะขายเงินลงทุนในบริษัทอื่นอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจรจา และโอกาส”
คลิกเพื่อชมคลิป :