xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รับคดี"แม้ว"สไกป์สั่งการ ศาลฯระบุแค่แสดงความเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ ( 23 พ.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่าในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วานนี้ ( 22 พ.ค.) ที่ประชุมมีคำสั่งให้รวม 4 คำร้อง ที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายบวร ยสินทร นายวรินทร์ เทียมจรัส และพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่จะมีการตัดสิทธิประชาชน ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ของประธานรัฐสภากับพวก 312 คน ไว้เป็นสำนวนเดียว เพื่อที่จะได้มีการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องทั้ง 4ไปในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. และนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์เข้ามาในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย หลายครั้ง เพื่อสั่งการให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย รีบเดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายปรองดอง ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในทันทีนั้น เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยที่ประชุมเห็นว่า กรณีตามคำร้องดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองทั่วไป ยังมิได้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
รวมถึงยังมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่ นายพงศ์พิศิษฐ์ คงเสนา ประธานกล่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. และพวก ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายจรัญ ภักดี ธนากุล , นายจรูญ อินทจาร และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ที่ได้มีมติรับพิจารณาวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถือเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยที่ประชุมคณะตุลาการฯ เห็นว่ากรณีตามคำร้องไม่มีมูลกรณีที่เป็นการะทำฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง และหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ย่อมขัดต่อหลักความยุติธรรมที่ห้ามบุคคลเป็นผู้วินิจฉัยตนเอง รวมทั้งขัดต่อหลักความเป็นกลางในการพิจารณาวินิจฉัย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมในครั้งต่อไปในวันที่ 29 พ.ค. เพื่อพิจารณาว่าจะมีกำหนดกระบวนวิธีพิจารณากรณีคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 กันอย่างไร

ผู็สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 และ มาตรา 237 ได้ข้อยุติการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว โดยมีการแก้ไขใน มาตรา 3 ด้วยมติเสียงส่วนใหญ่ 22 เสียง ให้ยกเลิกความใน มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพิ่มเติมข้อความที่กำหนดให้บุคคลสามารถใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามหมวด 3 เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิได้
โดยผู้ที่ทราบการกระทำ มีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อเห็นว่ามีการกระทำดังกล่าว ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งเลิกการกระทำดังกล่าว แต่หากเห็นว่าการกระทำไม่เข้าข่าย อัยการสูงสุดสามารถมีคำสั่งยุติเรื่องได้ ซึ่งอัยการสูงสุดมีเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับเรื่อง ทั้งนี้หากอัยการสูงสุดไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิ์เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสั่งการได้โดยตรง ซึ่งต้องยื่นเรื่องภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ครบกำหนดการดำเนินการของอัยการสูงสุด
ขณะที่ มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรค ให้คงตามร่างแก้ไขเดิม ในการยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง และคืนสิทธิการเลือกตั้งให้กับ ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เคยถูกวินิจฉัยให้ถุกยุบพรรคการเมือง และถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง
ส่วนคณะกรรมาธิการแก้ไขรธน. ที่ว่าด้วยการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นเสน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ. ได้เสนอให้เพิ่มข้อความในมาตราดังกล่าว เพื่อจำกัดกรอบหน้าที่ของ ส.ว.สรรหา ที่ยังอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระได้ ให้ไม่อาจพิจารณาถอดถอน หรือแต่งตั้งบุคคลในการดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ จนกว่าจะได้ ส.ว.ชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ระบุ
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 มี.ค.57 ส.ว.เลือกตั้ง จะครบวาระ ทำให้วุฒิสภาจะมีเพียง ส.ว.สรรหา จำนวน 75 คน ที่ยังปฏิบัติหน้าที่ไปอีก 3 ปี ดังนั้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านระบบ ส.ว. ที่ไม่อยากให้ ส.ว.สรรหา ทำงานในภารกิจสำคัญ จึงต้องมีการตีกรอบอำนาจหน้าที่ไว้ โดยกมธ.เห็นด้วยกับข้อเสนอของ พล.ต.อ.วิรุฬ
อย่างไรก็ตาม กมธ. เสียงข้างน้อยได้ขอสงวนคำแปรญัตติกันอยู่หลายคน อาทิ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้สงวนความเห็นในมาตรา 13 ว่าด้วยสมาชิกภาพของส.ว.เลือกตั้ง และสรรหา ที่มาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้ โดยขอเพิ่มเติมถ้อยคำในวรรคสาม ดังนี้
"เพื่อประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสีย ห้ามมิให้ ส.ส. และ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว. ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันพ้นจากตำแหน่ง"
ทั้งนี้ การประชุมครั้งต่อไป จะมีขึ้น ในวันที่ 28 พ.ค. เพื่อทบทวน และให้กมธ. ที่ได้สงวนคำแปรญัตติ ชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น