xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ลุยถกคำร้องแก้ ม.68 ยันชอบด้วย กม.เลื่อนพิจารณาคุณสมบัติ “มาร์ค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ
โฆษกศาล รธน.แจง ศาล รธน.ถกคำร้องแก้ ม.68 ขัด รธน.ต่อ แม้ 312 ผู้ทรงเกียรติไม่ฟัง ยันถูกหลักเกณฑ์ ยก วิแพ่ง-ข้อกำหนดศาลฯ ระบุศาลส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องถือผู้ถูกร้องก็ชอบด้วย กม.ให้เวลา ส.ว.ยื่นแจงถึง 15 พ.ค.และรับคำร้อง “สมเจตน์” แต่ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วครองยกเลิกแก้ รธน.เลื่อนถกคุณสมบัติ ส.ส.“อภิสิทธิ์” ครั้งต่อไป ปัด ถกแดงป่วนหน้าศาล ส.ส.-ส.ว.ไม่ฟังศาล ชี้ ตัดสินตามข้อเท็จจริง เผย “วสันต์” ป่วย ไม่เกี่ยวถูกกดดัน

วันนี้ (1 พ.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่ ส.ส.และ ส.ว. 312 คน ไม่ได้รับหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญที่ขอให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และคำร้องของนายบวร ยสินทร กับคณะ ไว้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเห็นว่า การที่ศาลได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 31 และ ข้อ 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 จึงถือได้ว่าได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องโดยชอบแล้ว ศาลสามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ ซึ่งในกรณีนี้ ได้มี ส.ว.46 คน ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยให้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หากไม่ส่งภายในระยะเวลาที่กำหนดถือว่าไม่ติดใจ

นอกจากนี้ยังมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 รับคำร้องที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ว่าการที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับ ส.ส.และ ส.ว.รวม 312 คน กระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากคำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 แต่ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินที่ขอให้ศาลสั่งรัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ายังไม่ปรากฏมูลอันเป็นเหตุฉุกเฉิน โดยศาลรัฐธรรมนูญจะได้ส่งสำเนาคำร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและส่งกลับมาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือหากไม่ยื่นภายกำหนดเวลาถือว่าไม่ติดใจ กำหนดให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ

ส่วนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.134 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เป็นนายทหารกองหนุน โดยที่ประชุมคณะตุลาการฯได้พิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและการพิจารณายังไม่ได้ข้อยุติ จึงขอให้เลื่อนการพิจารณาคำร้องดังกล่าวออกไปในการประชุมครั้งต่อไป โดยคำร้องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่

ทั้งนี้ นายพิมล ยังกล่าวด้วยว่า การประชุมในวันนี้ คณะตุลาการไม่ได้มีการพูดคุยถึงการชุมนุมกดดันให้ตุลาการยุติการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่ได้พูดคุยถึงกรณีที่ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง มีมติไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลผูกพันทุกองค์กรต้องปฏิบัติ ซึ่งการที่ ส.ส.และ ส.ว.จะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตุลาการก็สามารถพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ส่วนประโยชน์จะไปตกกับใครนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งขอลาประชุมเนื่องจากป่วยก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถูกกดดันจากการชุมนุม หรือเป็นเพราะนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.ได้ไปยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญของนายวสันต์ และตุลาการทั้งคณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ประชุมได้เลือกนายจรูญ อินทจาร เป็นประธานในที่การประชุมแทน ส่วนที่เดิมคณะตุลาการตั้งใจจะไปประชุมที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหลังเก่า ตรงข้ามการไฟฟ้าวัดเลียบ แต่กลับเปลี่ยนมาประชุมที่สำนักงานปัจจุบันนั้น ก็เนื่องจากเห็นว่า ที่นี่ก็สะดวกในการประชุม

เมื่อถามว่า กรณีที่มีการระบุว่า มติที่รับคำร้องของนายสมชายไว้พิจารณาวินิจฉัย เป็นแค่ 3 ต่อ 2 ถือว่าไม่เหมาะสม นายพิมล กล่าวว่าการพิจารณาเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า ตุลาการ 5 คน ก็ถือเป็นองค์คณะในการพิจารณาได้








กำลังโหลดความคิดเห็น