xs
xsm
sm
md
lg

“อุกฤษ” เสนอรื้อศาล รธน. ดูเฉพาะร่าง กม.ที่สภาเห็นชอบ-ตุลาการ 4 ปีวาระเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน คอ.นธ.ขี้ข้าทักษิณโหนกระแส เสนอบทความปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายที่สภาเห็นชอบแล้ว ก่อนนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เท่านั้น อ้างให้ ส.ส.-ส.ว.แก้ไขกฎหมายเท่านั้น ให้คำวินิจฉัยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จำกัดตำแหน่งตุลาการดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี เพียงวาระเดียว ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย เปิดช่องให้ ส.ส.เลือก-มาจากการเลือกตั้ง กำหนดระยะเวลาพิจารณาคดีให้ชัดว่าให้เสร็จกี่วัน

วันนี้ (24 เม.ย.) นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้นำเสนอบทความเรื่อง “ข้อเสนอปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ” โดยความตอนหนึ่งระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญช่วงระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่าเป็นคำวินิจฉัยที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้องเป็นธรรม และหลายคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ และขัดต่อหลักการแบ่งอำนาจ โดยมีกรณีตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่น่าสนใจ และผู้เขียนมีความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้งทางสังคม และทางการเมืองที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น คดีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 โดยเห็นว่าการจัดคูหาเลือกตั้งไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ คดียุบพรรคการเมืองหลายพรรค คดีตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เพราะเหตุเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” หรือคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมามตรา 68 ไว้พิจารณา และมีคำสั่งรับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ และนายบวร ยสินทร ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 68 เพื่อขอให้ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 ของรัฐสภา เป็นต้น

จากสภาปัญหาการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญดังได้กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เฉพาะแต่ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น และวิธีการที่จะทำให้บทบัญญัติใดของกฎหมายตกไป หรือเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ เฉพาะแต่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนเท่านั้นที่จะปรับปรุง หรือทำการแก้ไขเพิ่มเติม

2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นอีก 14 คน รวมเป็น 15 คน และองค์คณะในการนั่งพิจารณา และในการทำคดีวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 10 คน และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการทั้งหมด ทั้งนี้เทียบเคียงได้จากมาตรฐานกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการตราพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด (มาตรา 185 วรรคสี่)

3. ควรกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว นอกจากนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีที่มายึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยด้วย

4. แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเภทคดีไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการกำหนดเวลาในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในราชกิจานุเบกษาภายใน 30 วันด้วย

สุดท้ายมีข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนมีการทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตน และมีการแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติหรือไม่เพียงใด นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาและการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางคดียังกระทำด้วยความรีบเร่งผิดปกติ และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ละเลยต่อกระบวนการหรือวิธีพิจารณาคดีที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีนั้น อาจจะมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเสียเอง และอาจทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับได้


กำลังโหลดความคิดเห็น