xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กสวทช.ปัด"รมว.แมว"ไล่บี้ ปูด 4 ปีนั่ง 4 กระทรวงปลดหนี้ 26 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(20 พ.ค.56) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ส่งอีเมล์ภายใน ถึงเจ้าหน้าที่และพนักงาน ชี้แจงกรณี กระแสข่าว นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ สั่งให้มีการตรวจสอบคอมพิวเตอร์และอีเมล์ภายในทั้งสำนักงาน สวทช. หลังเกิดใบปลิวลึกลับ โจมตีการบริหารงานแบบไร้จริยธรรม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมอยู่ในขณะนี้
ดร.ณรงค์ เขียนอีเมล์ถึงเจ้าหน้าที่และพนักงานเป็นการภายใน เนื้อหาดังนี้ หัวข้อ: การตรวจสอบคอมพิวเตอร์และอีเมล์ วันที่ประกาศ: 20/05/2556รายละเอียด:
เรียน เพื่อนชาว สวทช. ทุกท่าน
พวกเราคงติดตามข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ในขณะนี้ และเหมือนที่มักพูดกันเสมอว่ารู้เรื่องภายในจากข่าวมากกว่า ผมอยากจะแจ้งพวกเราว่า ในช่วงเวลานี้ ขอให้พวกเราบริโภคข่าวอย่างมีสติ ไตร่ตรองให้มาก เพราะในสถานะการณ์เช่นนี้มักจะมีบุคคลที่สาม ที่สี่ เข้ามาร่วมด้วยโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ทั้งที่อยากช่วยเหลือ และอาจอาศัยโอกาสนี้ทำเรื่องที่ไม่พึงประสงค์
ส่วนหนึ่งของข่าวในขณะนี้ที่อาจเกี่ยวข้องกับพวกเรา และทำให้มีการซักถามกันทั่วไปในวงกว้าง คือ รมว. วท. ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบคอมพิวเตอร์และอีเมล์ภายในทั้งสำนักงานนั้น ขอแจ้งพวกเราว่าไม่มีการสั่งการใดๆ ตามที่เป็นข่าว
ในหลายสถานะการณ์วิกฤติที่ สวทช. ผ่านมา พวกเราผ่านพ้นมาได้ด้วยดี เพราะพวกเราให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ ผมหวังว่า ครั้งนี้ก็เช่นกัน หากพวกเราทุกคนให้ความร่วมมือในการงดออกข่าว และอยู่ในความสงบ สถานะการณ์ต่าง ๆ จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นครับ
วันเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง แกะรอย"วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล"ปลดหนี้ 26 ล้านใน 4 ปี โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
แกะรอยหนุ่มโสด ?“วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล”ทายาทกลุ่มบ้านปู จากเก้าอี้รัฐมนตรีวัฒนธรรม - ศึกษาฯ - ประจำสำนักนายกฯ - วิทยาศาสตร์ฯ 4 ปีหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ - เงินกู้พ่อ หายเกลี้ยงบัญชีฯ 26 ล้าน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (แจ้งว่าโสด) ระบุว่ามีหนี้สินกว่า 26 ล้านในช่วงปี 2551 ทว่าหนี้ก้อนดังกล่าวหายไปในช่วงเวลา 4 ปี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า 25 ก.ย.2551 กรณีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวรวัจน์แจ้งว่ามีหนี้สิน 26,191,242.99 บาท แบ่งเป็น หนี้เบิกเกินบัญชี 754,366.72 บาท และหนี้เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 25,436,876.27 บาท
หนี้เงินกู้จากธนาคารฯประกอบด้วย หนี้ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีย่าน จำนวน 854,208.27 บาท โดยใช้บุคคลค้ำประกัน หนี้ บริษัท สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 183,668 บาท และ หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 24,399,000 บาท โดยใช้หุ้นค้ำกัน
22 ธ.ค. 2551 กรณีพ้นตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่ามีหนี้สิน 26,761,047.38 บาท แบ่งเป็นหนี้ เบิกเกินบัญชี 1,011,664.30 บาท หนี้เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงิน 22,749,383.08 บาท (ในจำนวนนี้เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 21,899,000 บาท หุ้นค้ำประกัน) หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 3,000,000 บาท (นายเมธา เอื้ออภิญญกุล บิดาเจ้าของ บมจ.บ้านปู)
22 ธ.ค. 2552 กรณีพ้นตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ครบ 1 ปี ระบุว่ามีหนี้สิน 25,650,164.14 บาท แบ่งเป็น เงินเบิกเกินบัญชี 536,470.14 บาท หนี้เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 22,113,694 บาท (หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 21, 899,000 บาท หุ้นค้ำประกัน) และหนี้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 3,000,000 บาท (เมื่อกรอกรายละเอียดที่ต้องอธิบายเพิ่มในแบบบัญชีทรัพย์สิน กลับระบุว่าไม่มีหนี้ก้อนนี้)
10 ส.ค.2554 กรณีรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่ามีหนี้สิน 2,379,162.39 บาท ประกอบด้วย หนี้สินเลิกเกินบัญชี 669,162.39 บาท เงินกู้ธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 1,710,000 บาท
23 ม.ค.2555 กรณีรับตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีทรัพย์สิน 26,298,064.19 บาท มีหนี้สิน 1,730,602 บาท แบ่งเป็นหนี้เบิกเกินบัญชี 210,602 บาท หนี้ เงินกู้สถาบันการเงิน 1,520,000 บาท (เกียรตินาคิน)
1 พ.ย.2555 กรณีรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระบุว่ามีหนี้สิน 173,821 บาท( เบิกเกินบัญชี)
17 ม.ค. 2556 กรณีพ้นตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครบ 1 ปี ระบุว่ามีทรัพย์สิน 21,398,677.07 บาท หนี้สิน 111,295.77 บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 21,287,381.30 บาท
เปรียบเทียบการยื่นบัญชีฯ 2 ครั้ง ได้แก่ กรณีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมปี 2551 กับกรณีล่าสุด 17 ม.ค.2556 พบว่านายวรวัจน์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเพิ่มขึ้น 14,159,252.12 บาท
น่าสังเกตว่า หนี้กองทุนฟื้นฟูและสถาบันการเงินกว่า 24 ล้านบาท และหนี้เงินกู้นายเมธา เอื้ออภิญญกุล บิดา จำนวน 3 ล้านบาท ในช่วงปี 2551 ทั้งสองรายการหายไปเมื่อแจ้งบัญชีทรัพย์สินในปี 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น