xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสภา 29 พ.ค.ไม่ถกแก้ รธน. สรุป ม.68-237 แก้ผิดเฉพาะบุคคล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(20 พ.ค.56) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีขึ้นอีกครั้งในวันพุธ ที่ 22 พฤษภาคมนี้ แต่ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่าจะมีวาระอะไรเข้าสู่ที่ประชุมบ้าง โดยคาดว่าจะมีวาระที่น่าจับตามอง คือ พิจารณาคำชี้แจงของ ส.ว. จำนวน 15 คน ที่ได้ยื่นเรื่องเข้ามา หลังจากที่ศาลมีมติรับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา กับพวกรวม 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิ์ของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลจะพิจารณาว่า เรื่องที่ ส.ว.ทั้ง 15 คน ยื่นเข้ามาชี้แจงนั้น เป็นลักษณะเดียวกันหรือไม่
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ ม.68 และ ม.237 กล่าวว่า ในวันพุธ ที่ 22 พฤษภาคมนี้ ทางคณะกรรมาธิการ ม.68 และ 237 จะทบทวนเนื้อหาเป็นครั้งสุดท้าย และคิดว่าเรื่องน่าจะจบลงในวันดังกล่าวด้วย ซึ่งสาระส่วนใหญ่ใน ม.68 ยังคงเป็นการยื่นผ่านอัยการสูงสุด ที่ทางกรรมาธิการในส่วนของพรรคได้เสนอ 3 ความเห็น คือ ให้ประชาชนยื่นผ่านอัยการสูงสุด หากอัยการสูงสุดพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วัน สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รวมถึง หากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถยื่นต่ออัยการสูงสุด ก็สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเช่นเดียวกัน
ส่วน ม.237 ก็พิจารณาให้เป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค และกรรมการบริหารพรรค ตลอดจน หากมีการประกาศใช้ บุคคลที่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองก่อนหน้านี้ ก็จะถูกนิรโทษไปโดยปริยาย ส่วนคณะกรรมการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดอนเมือง นั้น ส่วนตัวยังไม่ทราบ เพราะยังติดภารกิจที่ต่างจังหวัด
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวว่า การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 อาจไม่มีการหยิบยกร่างแก้รัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณา เพราะจะนำไปพิจารณาในสมัยสามัญทั่วไป ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ ยังมองว่า กลุ่มกดดันนอกสภา ยังไม่พบว่ามีประเด็นใดที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ส่วน ม.68 และ ม.237 ก็คาดว่าน่าจะเข้าสภาช้าสุด พร้อมทั้งจะนำคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา มาชี้แจงเพียงคำร้องเดียว เนื่องจากคำร้องอื่นๆ มีความคล้ายกัน
นายนิคม ยังกล่าวว่า ไม่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า การแก้ ม.68 เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะกระบวนการถูกต้อง และไม่ตัดสิทธิ์ประชาชน เพราะ ส.ส. และ ส.ว. ที่ยื่นแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจาการเลือกตั้งของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น