xs
xsm
sm
md
lg

จี้เกณฑ์ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ร้อง กทค. บังคับค่ายมือถือลดค่าบริการ 3G

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13 พ.ค.56) องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ใจความว่า จากการที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กำลังพิจารณาการให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในประเภทต่างๆ อีกทั้งกำลังอยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ประกาศการคัดเลือกผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นทีวีในระบบดิจิตอลประเภทธุรกิจ แต่กลับไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับประเภท บริการสาธารณะ โดยในจำนวน 12 ช่อง มติเสียงข้างมาก กสท. 3 ต่อ 2 เห็นชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดิมคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทดลองออกอากาศในระบบดิจิตอลไปก่อน ทั้งที่ยังไม่มีรายละเอียดขั้นตอนกระบวนการพิจารณาใดๆเพื่อขอรับใบอนุญาต โดยจะพิจารณาจัดสรรช่องที่เหลืออีก 8 ช่อง ด้วยอำนาจของ กสท. เององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ยังยืนยันความจำเป็นและขอเรียกร้องให้กสท.ต้องออกหลักเกณฑ์และกติกาในการคัดเลือกผู้เหมาะสมที่จะรับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล เนื่องจากกิจการสื่อสารมวลชนเป็นสมบัติของสาธารณะอีกทั้งมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างกว้างขวาง การพิจารณาให้ใครเป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มบริการสาธารณะและชุมชน จึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อข้างต้น ขอเรียกร้องให้ กสท. ได้เร่งรัดการออกหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้รับใบอนุญาตฯ โดยต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหญ่ 11 คน เพราะเป็นเรื่องสำคัญจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบแทนที่จะพิจารณาจากคณะกรรมการ กสท.เพียง 5 คน
นอกจากนี้ ในการประกาศหลักเกณฑ์ให้ใบอนุญาตบริการสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการโครงข่ายฯ ซึ่งต้องประกาศก่อนการพิจารณาให้ใบอนุญาตฯ ควรต้องกำหนดกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส และเปิดให้ภาคส่วนต่างๆได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางด้วยเช่นเดียวกันหาก กสท. ไม่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนประกาศต่อสาธารณะ จะถือว่าขัดต่อแผนแม่บท (Road Map)ของ กสทช.เองที่กำหนดให้ต้องมีประกาศ หลักเกณฑ์ และวิธีการรวมทั้งเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม อันอาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีทางศาล จากผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย อันเนื่องจากการที่ กสท. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด”
ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อ ยังเห็นว่า กสทช. ไม่จำเป็นต้องให้ใบอนุญาตฯ ไปพร้อมกันทั้ง 12 ช่องในคราวเดียว แต่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง
องค์กรวิชาชีพสื่อ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันติดตาม ตรวจสอบการทำงานของกสทช. ในประเด็นต่างๆ อย่างใกล้ชิด และเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณา จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังกล่าว เพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนโดยตรง
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลาผู้ประสานงานยกลุ่มกรีน (Green Politics)กล่าวว่าในขณะนี้ประชาชนกำลังวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยเฉพาะในฝั่งของบอร์ด กทค.หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการให้บริการ 3G
ประชาชนกำลังสับสนกับเงื่อนไขแนบท้ายในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G ที่ กทค.กำหนดว่าเอกชนผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ต้องลดค่าบริการที่เป็นตัวเงินทุกแพกเกจลง 15% แต่เท่าที่ติดตามเพกเกจต่างๆ ของผู้ประกอบการที่เริ่มทำการตลาดกันบ้างแล้วนั้น กำลังตั้งแง่เลี่ยงบาลีหรือพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามประกาศของ กสทช.ซึ่งเป็นการเอาเปรียบประชาชนในฐานะผู้บริโภค
เพราะแพกเกจทั้ง 3 ค่ายยังคงจำกัดความเร็วในการรับส่งข้อมูลหลังจากใช้งาน 3G ความเร็ว สูงสุดหมดลง (FUP) ที่ 64kbps 128kbps และ 256kbps ตามลำดับในความแพงของแพ็จเก็จนั้นๆ ซึ่งความเร็วขนาดนี้มันเป็นแค่ความเร็วสุงสุดของ 2G เท่านั้น ทั้งที่ควรจะเป็น 345 kbps ตามเจตนารมย์ของ ประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรฐานการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
นอกจากนี้กรณีของ AIS ยังเป็นการเลี่ยงบาลีหนีประกาศ กสทช.แทนที่จะ ลดราคาลง 15%แต่ดันไปเพิ่มปริมาณแต่ราคายังเป็นราคาเดิมซึ่งถึงว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมย์ของเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่ กสทช. ประกาศไว้
ในกรณีนี้ กสทช.โดยเฉพาะบอร์ดฝั่ง กทค.จะต้องดำเนินการกับผู้ประกอบการอย่างตรงไปตรงมา ตาม พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี 2544 หาก กทค.ไม่สามารถสั่งเอกชนให้ปรับราคาบริหารลง 15% ก็จะถูกร้องกล่าวโทษต่อ ปปช.ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่นอน
กฎหมายให้อำนาจ กทค.ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขนาดนี้ แต่ที่ผ่านมา กทค.กลับอะลุ่มอล่วยและไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เฉกเช่น กรณีการห้ามกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์บัตรเติมเงิน ที่เอกชนไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง กทค.และก็กำลังปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป
ซึ่งกลุ่มกรีนกำลังรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อยื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้ศาลปกครอง เพราะก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้รับฟ้องที่กลุ่มกรีนและเครือข่ายยื่นฟ้องว่าการประมูล 3G ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขาดความโปร่งใส
และในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น ตัวแทนกลุ่มกรีนจะเข้ายื่นเรื่อง ต่อ กสทช.ให้ดำเนินการกับเอแกชนทั้งกรณี 3G และกรณีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินที่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น