เชียงราย - คณะกรรมการ กสทช.ยกคณะขึ้นเชียงราย ลุยตรวจร้านเติมเงินมือถือ 3 ค่ายในต่างจังหวัดครั้งแรก พบยังมีข้อสงสัย ทั้งค่าบริการ-อายุบัตรเติมเงิน
วันนี้ (29 ม.ค.) พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย (กสทช.) และ ดร.สุทธิพล ทวีการ กรรมการ กสทช.ได้นำคณะเข้าไปตรวจสอบการให้บริการจำหน่ายบัตรเติมเงินของเอกชนรายใหญ่ 3 ราย คือ เครือข่ายเอไอเอส เครือข่ายดีแทค และเครือข่ายทรู ซึ่งเปิดเป็นศูนย์บริการอยู่ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา สาขา จ.เชียงราย
ทั้งนี้ ติดตามการปฏิบัติตามระเบียบ กสทช.หลายเรื่องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค เช่น กำหนดให้ทุกเครือข่ายจำหน่ายบัตรเติมเงินที่มีราคานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ ให้การเติมเงินทุกราคาสามารถอยู่ได้นานอย่างน้อย 30 วัน และสามารถสะสมยอดเงินได้ถึง 1 ปี ฯลฯ
กสทช.ได้ส่งตัวแทนเข้าไปซื้อบัตรเติมเงิน หรือซิมการ์ด ที่ศูนย์ของเอไอเอส ศูนย์ดีแทค และทรู ตามลำดับ จากนั้นเข้าไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริการว่ามีความจำเป็นต้องตรวจสอบ เนื่องจากได้ทำข้อตกลงกับบริษัทแม่ทุกเครือข่ายเอาไว้แล้ว ก่อนจะให้ทางร้านได้นำโทรศัพท์มือถือมาทำการทดสอบการให้บริการหรือโปรโมชันของสินค้าแต่ละชิ้น ซึ่งแต่ละร้านก็ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข
อย่างไรก็ตาม บางแห่งเจ้าหน้าที่ของร้านให้ข้อมูลว่า กรณีเติมเงินมีการกำหนดระยะเวลาการโทรศัพท์มากน้อยตามจำนวนเงินอยู่ โดยยังไม่ระบุถึงกำหนดมาตรฐานอย่างน้อย 30 วัน และบางร้านก็ใช้เวลาในการแจ้งกลับการเติมเงินออนไลน์นานผิดปกติ จนทำให้เกิดข้อสงสัย ขณะเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่จะได้ไปตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติครบทุกโปรโมชันในเครือข่ายหรือไม่ต่อไป
ในการตระเวนตรวจสอบพบกรณีการให้บริการนาทีละไม่เกิน 99 สตางค์โดยเฉลี่ยพบว่า การบังคับใช้ยังไม่มากเท่าที่ควร ส่วนเรื่องอายุของบัตรเติมเงิน 30 วันหรือ 1 ปี มักได้รับข้ออ้างว่ามีปัญหาเรื่องเทคนิคทำให้ล่าช้าไปบ้าง ฯลฯ
“หลังการตรวจสอบวันนี้แล้ว ทาง กสทช.จะจัดประชุมสัมมนาที่โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย เพื่อสรุปผลและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาปรับดำเนินการต่อไป”
ดร.สุทธิพลกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้แจ้งไปยังเอกชนทุกเครือข่ายแล้วว่า ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขขั้นต่ำที่แจ้ง ไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีโทษปรับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2555 เป็นต้นมา วันละ 100,000 บาท และได้เชิญผู้ประกอบการทุกฝ่ายมาประชุมกันเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 56 ที่ผ่านมาแล้วเรื่องข้อกำหนดอัตราการบริการดังกล่าว จากนั้นวันที่ 18 และ 22 ม.ค. 56 ได้ทดลองไปตรวจสอบที่เซ็นทรัลเวิลด์ และสยามพารากอน กรุงเทพฯ ก่อนที่จะมาตรวจที่เชียงรายเป็นครั้งแรกในส่วนภูมิภาค เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศได้รับการให้บริการมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
ดร.สุทธิพลกล่าวว่า กรณีของทรูนั้นพบว่ามีการทำตามเงื่อนไขก่อนรายอื่นๆ มาตั้งแต่วันที่ประชุมกันช่วงต้นเดือน รองลงมาคือเอไอเอส และดีแทคตามลำดับ ทำให้อัตราค่าปรับของแต่ละรายไม่เท่ากัน
รวมทั้งพบว่าบางรายยังต้องตรวจสอบอีกว่าใช้ในทุกโปรโมชันหรือไม่ ส่วนบางรายก็ยังไม่ปรับเรื่องอายุ 30 วัน บางรายก็ใช้เวลาออนไลน์กลับในช่วงที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบนานมาก ฯลฯ แต่จากการคำนวณจากระยะเวลาจนถึงวันยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข
เบื้องต้นพบว่าแต่ละค่ายต้องจ่ายค่าปรับเรื่องบัตรเติมเงิน ดังนี้ ดีแทค 25 ล้านบาท เอไอเอส 24 ล้านบาท และทรู 23.3 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง