ศูนย์ข่าวศรีราชา-ผู้ว่าฯ ชลบุรีรุดเยี่ยมนักเที่ยวเกาหลี หลังประสบเหตุเรือชนกันจนเสียขา พร้อมมอบเงินเยียวยา ญาติคนเจ็บโวยมาตรการความช่วยเหลือล่าช้า
จากกรณีที่เกิดเหตุเรือสปีดโบตท่องเที่ยวชื่อ ข.เข็มทอง ชนกับเรือ ก.น้องใหม่ 7 บริเวณอ่าวหน้าชุมชนเกาะล้าน ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จนเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวชาวเกาหลี จำนวน 19 คน และไกด์ชาวไทย 1 คน ได้รับบาดเจ็บ โดยในจำนวนนี้มี Mr.Gih Wa Hong อายุ 63 ปี ต้องถูกตัดขาซ้ายออกเพื่อรักษาชีวิตนั้น
ล่าสุด วันนี้ (22 เม.ย.) นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมตัวแทนจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาพัทยา คณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาเมืองพัทยา เดินทางเข้าเยี่ยมอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ราย ที่ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อเป็นการติดตามอาการ แสดงความเสียใจ พร้อมกับส่งมอบเงินจากกองทุนช่วยเหลือนักท่องเที่ยว จำนวน 4 หมื่นบาท ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้ง 2 เพื่อใช้จ่าย
ทั้งนี้ พบว่า Mr.Gih Wa Hong ซึ่งถูกตัดขาข้างซ้ายออก ส่วนขาข้างขวาถูกดามเหล็กเนื่องจากกระดูกแตกนั้น มีสภาวะจิตใจดี และอาการอยู่ในขั้นปลอดภัย
ขณะที่ญาติของผู้บาดเจ็บยังคงรับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ พร้อมตัดพ้อถึงมาตรฐานในการกู้ภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ถือว่าล่าช้า และยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
ส่วนอีกรายคือ Mr.Myung Bae Kim อายุ 51 ปี นั้นพบว่า ขาหักทั้ง 2 ข้าง แต่แพทย์ได้ผ่าตัด และดามเหล็กไว้ โดยอาการพ้นขีดอันตรายแล้วเช่นกัน
ทางด้าน นพ.ปรีดา พุฒศิรยากร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เปิดเผยว่า ขณะนำส่งนั้นพบว่า มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย แต่มี 2 รายคือ Mr.Hong ที่มีอาการสาหัส เนื่องจากขาข้างซ้ายขาด รวมทั้งเส้นเลือดใหญ่จึงทำให้เสียเลือดมาก แพทย์จึงต้องตัดสินใจตัดขาออกและให้เลือดถึง 6 ขวดเพื่อรักษาชีวิตไว้ ขณะที่ Mr.Kim นั้นพบว่า ขาหักทั้ง 2 ข้าง แต่ยังคงสามารถประสาน และต่อเชื่อมกระดูกได้ จึงได้เร่งดำเนินการจนทั้ง 2 พ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังคงต้องให้ทำการพักรักษาไปอีกระยะหนึ่ง
ขณะที่นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงได้สอบถามข้อมูล และติดตามเหตุการณ์โดยตลอด ก่อนนำคณะเข้าเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจคนเจ็บ และครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงแต่ก็คงต้องดำเนินการในเรื่องมาตรการการป้องกันการเดินเรือทางทะเล โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานทุกอย่าง ทั้งเรื่องของการประชุมร่วมผู้ประกอบการ มาตรฐานของเรือ เสื้อชูชีพ นายท้าย รวมทั้งเส้นทางการเดินเรือ และแนวทางการระวังภัยทางทะเลที่ต้องรัดกุม และรวดเร็วเพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่เรื่องความเป็นห่วงด้านการท่องเที่ยว ล่าสุด ได้ประสานแจ้งเรื่องไปยังสถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทยแล้ว ซึ่งก็เข้าใจตรงกันว่าเป็นอุบัติเหตุ และทางการไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ดำเนินการในการประสานงาน และให้ความช่วยเหลือทุกอย่างเต็มที่
ทางด้าน ร.ต.ท.สุพรรณ โสภี ร้อยเวรเจ้าของคดี เปิดเผยว่า ภายหลังเกิดเหตุก็ได้มีนายอำนวย กลัดเข็มทอง เจ้าของเรือ ข.เข็มทอง คู่กรณีเดินทางมาแสดงตัวแล้ว ซึ่งก็ได้ลงบันทึกไว้ก่อนปล่อยตัวไป เนื่องจากยังไม่ได้มีการสอบสวน และยังไม่ได้ตั้งข้อหา แต่ทางนายอำนวย ก็พร้อมให้ความร่วมมือทุกอย่าง
ส่วนเรือ ก.น้องใหม่ 7 นั้น ก็มีนายทองหล่อ ซื่อตรง เดินทางเข้าพบแล้วเช่นกัน พร้อมแจ้งความจำนงว่าเรือมีประกันภัย และยินดีรับผิดชอบต่อค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่ารักษาพยาบาลของคนเจ็บ แต่ตัวนายท้ายเรือคือ นายรุ่งอรุณ หอมลำดวน นั้น หลังเกิดเหตุได้หลบหนีไป และยังติดต่อไม่ได้ ซึ่งตำรวจจะได้เร่งทำการสอบสวนเพื่อออกหมายเรียก และหมายจับมาดำเนินคดีอีกครั้งในเร็ววันนี้
นายเรวัต โพธิ์เรียง ผอ.การสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา เปิดเผยว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างเรือ ก.น้องใหม่ 7 กับเรือ ส.เข็มทอง ซึ่งเบื้องต้น ได้ทำการอายัดเรือทั้ง 2 ลำไว้ โดยจากการตรวจสอบนายท้ายเรือทั้ง 2 ลำ พบว่ามีใบอนุญาตถูกต้อง และยังไม่หมดอายุ จึงได้ออกคำสั่งงดใช้ใบอนุญาตนายท้ายเรือไปแล้ว หลังจากนี้จะมีการติดตามตัวนายท้ายเรือเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ต่อไป
ส่วนมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนี้จะมีการจัดประชุมกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการจัดโซนนิ่งเขตเล่นน้ำ เขตจอดเรือ และเขตสันทนาการต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจจะมีการจัดทำช่องเรือเข้า-ออกให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนเรือที่มีการจอดตามชายหาดเพื่อรับนักท่องเที่ยว อาจจะมีการกำหนดจุดขึ้นลงจุดเดียวบริเวณท่าเรือพัทยาใต้ และจะมีการแบ่งช่องเรือเข้าออกให้ชัดเจน ทั้งชายหาดพัทยา และเกาะล้าน ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
สำหรับเรือของการจำกัดความเร็ว ทางเมืองพัทยาได้มีโครงการวิทยุติดตามเรือ โดยจะมีติดตั้งวิทยุดังกล่าวไปกับเรือโดยสาร ซึ่งทางศูนย์ควบคุมของเมืองพัทยาจะเป็นผู้ควบคุมและติดตามตำแหน่งเรือ ส่วนเรือที่เกิดอุบัติเหตุทั้ง 2 ลำนั้น ยังไม่มีการติดตั้ง GPS แต่อย่างใด จึงไม่สามรถตรวจสอบในเรื่องของการใช้ความเร็วได้