xs
xsm
sm
md
lg

พูดถึงผลไม่โยงถึงเหตุ : การบิดเบือนความจริง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่งคือการพูดปดทั้งๆ รู้ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้างที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้” นี่คือพุทธพจน์ที่ปรากฏที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 หน้า 243

โดยนัยแห่งพุทธพจน์บทนี้หมายความว่า คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเรื่องที่กำลังพูดถึงนั้นเป็นเท็จ ไม่มีกรรมชั่ว กรรมเลวอันใดที่คนเช่นนี้จะทำไม่ได้ หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คนโกหกทำความชั่ว ความเลวได้ทุกอย่างนั่นเอง

ดังนั้น ใครก็ตามที่พูดเรื่องอันเป็นเท็จด้วยเจตนาให้ผู้ฟังเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งๆ ที่ตนเองรู้อยู่เต็มอกว่าเรื่องที่ตนกำลังพูดอยู่นั้นเป็นเรื่องเท็จ ในทางพุทธศาสนาเรียกการพูดในลักษณะนี้ว่า มุสาวาท หรือการพูดเท็จนั่นเอง และการพูดเท็จในลักษณะนี้เองที่ผิดศีลข้อ 4 ในศีลห้า หรือนิจศีลที่สาธุชนพึงยึดถือปฏิบัติเป็นนิจกาล

ความจริง กับ ความเท็จต่างกันอย่างไร และพูดอย่างไรจึงเรียกว่าพูดเท็จ

การพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง ทั้งสามารถให้ผู้ฟังเข้าใจได้ด้วยเหตุและผล โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล ตามทฤษฎีแห่งตรรกศาสตร์ เรียกว่าการพูดความจริง

ส่วนการพูดถึงสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นและมีอยู่จริง แต่บอกว่าเกิดขึ้นและมีอยู่เรียกว่า การพูดเท็จ แต่ถ้ามีการพูดถึงผล แต่ไม่เท้าความโยงไปหาเหตุ จะด้วยหวังประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้องตนเอง เรียกได้ว่าเป็นการพูดความจริงครึ่งเดียวคือส่วนของผล แต่ในขณะเดียวกันปกปิดส่วนที่เป็นเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนเป็นเหตุที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง เรียกได้ว่าเป็นการบิดเบือนความจริง เข้าข่ายหลอกลวงผู้ฟังให้หลงเชื่อ และเข้าใจเรื่องที่ได้ฟังนั้นผิดไป อนุโลมเข้าในข่ายแห่งความผิดศีลข้อมุสาวาทเช่นกัน

ทั้งนี้ เป็นไปตามองค์ประกอบแห่งความผิดในศีลข้อ 4 ดังนี้

1. เรื่องนั้นเป็นความเท็จ

2. ผู้พูดรู้อยู่ว่าเป็นเรื่องเท็จ

3. มีเจตนาให้ผู้ฟังเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

4. ผู้ฟังเชื่อตามนั้น และเกิดความเสียหายจากการเชื่อเช่นนั้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้คนในสังคมไทยเกิดความกังขา และเกิดความสับสนกับคำพูดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากการพูดในที่ประชุมที่ประเทศมองโกเลียในหัวข้อประชาธิปไตยจนถึงขั้นทำให้ผู้นำประเทศไทยตกเป็นจำเลยทางสังคมในข้อหาบิดเบือนความจริง และในบางรายถึงกับเรียกว่า พูดโกหกหลอกลวง ใส่ร้ายประเทศไทย

ประเด็นไหนของการพูดที่ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้นำประเทศถูกกล่าวหาค่อนข้างรุนแรงเช่นนี้

เท่าที่ได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้พอจะสรุปประเด็นจากการพูด และทำให้ผู้พูดตกเป็นจำเลยทางสังคมได้ดังนี้

1. ประชาธิปไตยในประเทศไทยไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางเพราะมีผู้คอยขัดขวางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นพี่ชาย และมุ่งประเด็นการต่อต้านไปที่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์และดำเนินคดีอาญาอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หลายคดี และในจำนวนนี้ได้มีคำพิพากษาให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดมีโทษจำคุก 2 ปี แต่ได้หนีออกนอกประเทศ และยังมีบทบาทในการบงการทางการเมืองอยู่ข้างหลังจนถึงปัจจุบัน

2. นอกจากการโจมตี การโค่นล้มรัฐบาลในปี พ.ศ. 2549 แล้ว ยังโจมตีการเมืองนอกสภาฯ และองค์กรอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.สรรหาว่าเป็นพวกขัดขวาง และต่อต้านประชาธิปไตย

3. นอกจากโยนความผิดให้ศัตรูทางการเมืองว่าเป็นผู้ขัดขวางประชาธิปไตยแล้ว ยังเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึงคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยอ้างว่ารัฐบาลชุดที่ว่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง และมีขั้นตอนการจัดตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยเช่นเดียวกับรัฐบาลปัจจุบัน โดยเหตุอ้างเพียงว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีกองทัพหนุนหลังและจัดตั้งให้ โดยลืมไปว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเองก็มีการจัดตั้งโดยการบงการของอดีตนายกฯ ทักษิณที่อยู่นอกประเทศ และบริหารประเทศภายใต้การชี้นำให้ทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา จึงอาจเรียกได้ว่ารัฐบาลเผด็จการจากคนคนเดียวในคราบของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญได้มีการยกย่องกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงในขณะนั้นความเป็นประชาธิปไตยตามนัยที่ว่ามาคือมาจากการเลือกตั้งก็มีอยู่ และที่สำคัญยิ่งกว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาก่อกวนในครั้งนั้นบางคนได้ถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อหาทำลายทรัพย์สินทางราชการไปแล้วก็หลายราย

จาก 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการพูดในครั้งนี้ของผู้นำประเทศไทยมุ่งเน้นที่ผลว่าเกิดอะไรขึ้น และใครได้รับผลกระทบ มิได้สาวไปถึงเหตุว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร และเหตุที่ว่าควรแก่การเกิดของผลนั้นหรือไม่ มากน้อยประการใด จึงอนุมานการพูดในครั้งนี้ว่าเป็นการพูดเพื่อตัวเอง และคนในสกุลของตนเอง รวมไปถึงพวกพ้องของตัวเองเป็นหลัก

การพูดในลักษณะนี้ ถึงแม้ว่าโดยสาระของการพูดถึงประชาธิปไตยจะมีความผิดความบกพร่องอยู่บ้าง และยอมรับได้ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปพูดในนามส่วนตัว และมีฐานะเป็นผู้หนึ่งในสกุลชินวัตรที่บังเอิญมีพี่ชายเป็นนายกรัฐมนตรี และถูกโค่นล้มทำให้ต้องประสบความเดือดร้อนจึงต้องพูดเพื่อระบายความในใจ แต่ว่าการไปยังประเทศมองโกเลียในครั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปในฐานะผู้นำประเทศไทย โดยประชาธิปไตยที่ควรจะพูดถึงควรจะเริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ถูกโค่นล้มจากการทำรัฐประหารกี่ครั้ง และแต่ละครั้งผู้กระทำการได้อ้างเหตุอันใด และเหตุที่ว่านี้ในปัจจุบันตัวเองในฐานะผู้นำประเทศได้แก้ไขให้หมดไปแล้วหรือยัง และด้วยวิธีใด ไม่ใช่บอกเพียงผล และจบลงด้วยการขอความร่วมมือจากต่างประเทศให้ช่วยกันปกป้องการทำรัฐประหารในประเทศไทยด้วยการแซงก์ชันในด้านต่างๆ กับรัฐบาลที่ได้มาจากการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็เท่ากับบอกให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ อันถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และค่อนข้างพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่า ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ขจัดเหตุที่จะถูกนำไปอ้างในการโค่นล้ม และอ้างแล้วประชาชนเห็นด้วยให้หมดไป สักวันหนึ่งก็คงจะถูกโค่นล้มโดยประชาชนเพื่อประชาชน และถ้าถึงวันนั้นคงจะไม่มีประเทศใดเข้ามาแทรกแซง เพราะความจริงก็คือความจริง ที่ขงจื๊อปราชญ์ชาวจีนได้กล่าวไว้ว่า

ถ้าเศรษฐกิจย่ำแย่ ข้าวของแพง คนเดือดร้อน ประชาชนไม่ศรัทธาในตัวผู้ปกครองประเทศ และกองทัพแตกแยกไม่มีเอกภาพ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น และเหตุการณ์ที่ว่านี้ในประเทศไทยในขณะนี้เกิดขึ้นครบแล้วทั้ง 3 ประการ
กำลังโหลดความคิดเห็น