xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผังเมืองกทม.ใหม่ ทุกข์ของใครหลายคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปลายสัปดาห์ที่แล้วมีข่าว อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมตัวค้านประกาศผังเมือง กทม. เตรียมยื่นหนังสือค้าน ส่งศาลปกครองระงับใช้

ชื่อเต็มๆ คือ “ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3)”

เกิดขึ้นภายหลัง ครม.มีมติอนุมัติ “ผังเมืองกรุงเทพมหานครใหม่”โดยเป็นผังเมืองรวมแก้ไขครั้งที่ 3 ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้แทนฉบับเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2549 และจะหมดอายุในวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 นี้

หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในราชกิจจานุเบกษา

โดยเนื้อหาสาระสำคัญของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) มีเนื้อหาและข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงไปจากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 กล่าวคือ ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ได้ปรับเปลี่ยนแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการพัฒนาพื้นที่ในปัจจุบัน และศักยภาพการพัฒนาในอนาคตของบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณใกล้ระบบขนส่งมวลชนทางราง

รวมถึงแผนผังอื่นๆ เช่น 1.แผนผังโครงการคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักและถนนสายรอง และส่งเสริมให้มีการเข้าถึงสถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางที่สะดวก 2.แผนผังแสดงที่โล่ง ซึ่งกำหนดให้มีที่โล่งเพื่อการพักผ่อน ส่งเสริมสภาพแวดล้อม และ 3.ผังเมืองรวมฉบับนี้ได้กำหนดให้มีแผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภคที่มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย การบำบัดน้ำเสียและการจัดการขยะมูลฝอย จึงเป็นแผนโครงการกิจการสาธารณูปโภคฉบับแรกของประวัติศาสตร์การผังเมืองของประเทศไทย

กทม.ยังคาดหวังว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน

กลับมาดูกลุ่มที่คัดค้าน ดูรายชื่อแล้ว อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เหล่านี้ประกอบด้วย นายโสภณ พรโชคชัย นายโฆสิต สุวินิจจิต นายจำรัส อินทุมาร นายสุขุม วงประสิทธิ์ นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล นายประทีป วัชรโชคเกษม และนางนันท์นภัส โกไศยกานนท์

ทั้งหมดร่วมกันแถลงคัดค้านการประกาศใช้ผังเมือง กทม.ฉบับใหม่

เป็นประเด็น ที่จะยื่นหนังสือคัดค้านและให้ทบทวน โดยใช้รายชื่อประชาชน 1 หมื่นราย ก่อนยื่นศาลปกครองขอให้ระงับการใช้ผัง เพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นผังเมืองเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะที่คนที่ออกมาคัดค้านคนแรก ๆ อย่าง นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และอดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

บอกว่า คณะคัดค้าน ได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. พิจารณาทบทวน

สำหรับจดหมายฉบับดังกล่าวมีใจความดังนี้

เนื่องด้วยขณะนี้กรุงเทพมหานครพยายามเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อผลักดันร่างผังเมืองฉบับใหม่ออกมาประกาศใช้ แต่ร่างดังกล่าวมีข้อบกพร่องมากมาย หากนำมาใช้จะสร้างปัญหามากกว่าจะช่วยสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พวกข้าพเจ้าจึงขอคัดค้านร่างดังกล่าวดังนี้:

1. ในพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองถูกจำกัดการก่อสร้างทั้งที่ควรให้พัฒนาในแนวสูง เพื่อใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเก็บภาษีได้มาก กรุงเทพมหานครมักอ้างว่ามีไฟไหม้อาคารขนาดใหญ่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่จริง ในช่วง พ.ศ.2550-5 อาคารเหล่านี้ เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 9% เหลือ 1% อาคารเหล่านี้มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่ดี กรุงเทพมหานครควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการดับเพลิง แทนที่จะนำมาอ้างเพื่อกีดขวางการพัฒนา

2. ร่างผังเมืองนี้ทำให้เมืองขยายออกไปในแนวราบ รุกทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เกษตรกรรม สิ้นเปลืองงบประมาณขยายสาธารณูปโภคไม่สิ้นสุด ยังทำให้ประชาชนเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นการผลักภาระและปัญหาไปสู่จังหวัดอื่น เช่น ในพื้นที่ ย.3 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหลายร้อยตารางกิโลเมตรและมีอะพาร์ตเมนต์ให้บริการผู้มีรายได้น้อยมากมาย กรุงเทพมหานครกลับห้ามสร้างอะพาร์ตเมนต์ขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตรหากถนนผ่านหน้าที่ดินมีความกว้างไม่ถึง 30 เมตร ทั้งที่รู้ว่าในความเป็นจริงไม่มีซอยใดที่จะมีความกว้างเช่นนี้

ในพื้นที่ ย.2 ห้ามสร้างทาวน์เฮาส์ ทั้งที่บริเวณเหล่านี้มีทาวน์เฮาส์สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยอยู่มากมาย ดังนั้นต่อไปประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางต้องระเห็จออกไปอยู่นอกเมือง โดยตามรอยตะเข็บเขตสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี กลับมีโครงการใหญ่ๆ ประเภทอาคารชุดและทาวน์เฮาส์มากมาย เพราะไม่สามารถสร้างในเขตกรุงเทพมหานครได้

3. ตามร่างผังเมืองใหม่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีแผนการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมเพราะไม่ได้ทำถนนและเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบเปิดปิดน้ำกันน้ำทะเลหนุน และระบบคลองระบายน้ำใหม่ๆ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครควรดำเนินการอย่างมีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น

4. ผังเมืองที่ออกมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในหลายประการ เช่น ถนนบางเส้นไม่จำเป็นต้องสร้าง เช่น ถนน ง.2 หนองจอก เพราะสภาพเป็นทุ่งนา แต่บางเส้นเล็กและคดเคี้ยวกลับไม่ตัดถนน เช่นทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตบางขุนเทียน

กำหนดการใช้พื้นที่ไม่เป็นจริง เช่น พื้นที่พาณิชยกรรม พ.1-12 ถนนนวมินทร์กลับมีสภาพจริงเป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือพื้นที่ อ.1-4 ถนนเทียนทะเลที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเฉพาะ 200 เมตรแรกที่ติดถนน (ฝั่งซ้าย) และ ตลอดแนวคลองที่ขนานกับถนน (ฝั่งขวา) แต่ในความเป็นจริง พื้นที่โดยรอบก็มีโรงงานมากมาย ผังเมืองจึงวางอย่างละเอียดรอบคอบกว่านี้

5. แผนก่อสร้างและปรับปรุงถนน 140 สายตามร่างผังเมืองรวมนั้น หลายสายก็วาดไว้ตั้งแต่ผังเมืองฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2549 แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง บางสายก็วาดต่างไปจากเดิม ที่สำคัญก็คือ งบประมาณก่อสร้างถนนตามที่วาดไว้ยังไม่มีการจัดหาไว้ ซึ่งแสดงถึงความไม่แน่นอน

6. ผังเมืองกรุงเทพมหานครขาดการพัฒนาสวนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่เพียง 4.65 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมหานครทั่วโลก ที่สำคัญพื้นที่สวนสวนสาธารณะ 26 ตารางกิโลเมตรยังรวมสวนในหมู่บ้านเอกชน เกาะกลางถนน บึงน้ำ พื้นที่ว่างของกองทัพ ฯลฯ เข้าไปด้วย นอกจากนี้สวนสาธารณะส่วนมากจะสร้างในเขตรอบนอกซึ่งมีความจำเป็นน้อย ไม่มีการวางแผนสร้างสวนสาธารณะใจกลางเมือง ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าผังเมืองจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว (Green City) จึงไม่จริง

7. ร่างผังเมืองนี้พยายามเสนอข้อดีบางประการ ซึ่งไม่เป็นจริง เช่น จะเพิ่มการควบคุมกิจกรรมที่ขัดต่อสุขลักษณะ 5 กิจกรรม เช่น สนามแข่งม้า สนามแข่งรถ และสนามยิงปืนนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะแทบไม่มีการขออนุญาต

การแจก "แจกโบนัส 5-20%" คือให้สร้างเพิ่มเติมกว่ากฎหมายปกติกำหนด ในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้านั้น ก็ใช้ได้เฉพาะสถานีที่สร้างเสร็จแล้ว ไม่ใช่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีผลอะไร

การพัฒนาศูนย์เมืองย่อย เช่น ในย่านมีนบุรีที่แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีส้มมาบรรจบกัน ย่านพระรามที่ 2 ใกล้กับถนนกาญจนาภิเษก และย่านรามอินทราใกล้จุดตัดถนนรัชดา-รามอินทรา เป็นต้น หากร่างผังเมืองนี้ได้ประกาศใช้ในปีนี้และหมดอายุในปี 2560 ก็ยังไม่แน่ว่ารถไฟฟ้าทั้งสองสายจะได้สร้างเสร็จ

โดยสรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่าร่างผังเมืองนี้ เป็นการแก้ปัญหาเมืองแบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพราะแทนที่จะจัดระเบียบการใช้ที่ดินที่ดี กลับปัดปัญหาออกไปนอกเมือง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรของกรุงเทพมหานครลดลงในระยะหลายปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนไม่สามารถอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้ เพราะความพยายามทำเมืองให้หลวม กรุงเทพมหานครควรคิดใหม่ ทำเมืองให้หนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowded) แต่ปัจจุบันกลับทำในทางตรงกันข้าม

ประเด็นหนึ่งที่กรุงเทพมหานครเองไม่สามารถจะแก้ปัญหาของเมืองและวางแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะขณะนี้ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครได้ขยายออกนอกเขตบริหารของกรุงเทพมหานครแล้ว ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครยังขาดการประสานแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ผังเมืองกับการขยายตัวของสถานศึกษา พื้นที่ปกครอง กิจการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ราคาประเมินของทางราชการ ก็ไม่ได้ยึดโยงกับผังเมือง

ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการวางผังเมืองจึงควรดำเนินการวางแผนภาคมหานคร ซึ่งรวมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันวางผังนี้ให้เป็นแผนแม่บทในด้านการปกครอง สาธารณูปโภคและอื่นๆ ในระหว่างนี้ให้ประกาศใช้ผังเมืองฉบับเดิมไปก่อน และให้มีกรอบเวลาการทำผังภาคมหานครให้แล้วเสร็จใน 2 ปี สำหรับสาระสำคัญดังนี้:

1. ในพื้นที่เขตธุรกิจชั้นในของกรุงเทพมหานคร ควรอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และสูงพิเศษ แต่ให้เว้นพื้นที่ว่างให้มากเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษ เพราะกรุงเทพมหานครควรจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการก่อสร้างอาคารได้สูงหรือใหญ่พิเศษ เพื่อนำเงินไปเข้ากองทุนพัฒนาระบบคมนาคม เช่น รถไฟฟ้ามวลเบา ผ่านเข้าสู่ถนนสายต่างๆ เพื่อการระบายการจราจร

2. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กับกิจการไฟฟ้า ประปา ทางหลวง รถไฟฟ้า ช่วยกันน่างผังเมืองนี้เป็นแผนแม่บทของหน่วยงานของตน ส่วนในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทจะห้ามก่อสร้างถนนหรือขยายไฟฟ้า ประปาไปบริเวณดังกล่าว

กับการเคหะแห่งชาติและหน่วยงานอื่นโดยควรใช้วิธีจัดรูปหรือเวนคืนที่ดินชานเมือง เช่น เขตหนองจอก ราว 10,000 - 20,000 ไร่ สร้างเมืองใหม่แบบปิดล้อมแต่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยตรง แล้วจัดสรรที่ดินที่มีสาธารณูปโภคครบ (serviced land) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์ธุรกิจ เป็นต้น

กับกรมธนารักษ์เพื่อนำที่ดินใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการรวมศูนย์ สาธารณูปโภคไม่ต้องขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยกันเองในพื้นที่

กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสร้างนิคมให้โรงงานได้ใช้ในราคาถูกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพื่อห้ามการก่อสร้างโรงงานตามท้องนาหรือย่านชานเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ กทม. จะรับฟังหรือจะเก็บไว้ในลิ้นชักต้องติดตามดู


กำลังโหลดความคิดเห็น