xs
xsm
sm
md
lg

“เหลี่ยม” จับมือกับ “อเมริกา” ยึดชาติไทย! (ตอนสี่)

เผยแพร่:   โดย: ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย

ชีวิตนักปฏิวัติ คือ การปฏิวัติ แพ้-ชนะเป็นเรื่องของอนาคต แต่ขอให้ได้สู้เต็มความสามารถก็แล้วกัน!

นักปฏิวัติที่รอดตายในการย่างเหยียบคิวบา ล้วนไม่มีใครสักคนที่มาจากชนชั้นกรรมกรและชาวนา

“ฟิเดล คาสโตร” และ “ดอร์ติโกส” เป็นนักกฎหมาย “ราอูล คาสโตร” น้องชายของฟิเดล เป็นนักศึกษา “เปเรส” และ “บาเยโฮ” เป็นนายแพทย์ “ปาอิส” เป็นอาจารย์ “เซียนฟูเอโกส” และ “อัลเมเฮอิราส” เป็นชนชั้นกลางที่ตกงาน “เช กูวารา”เป็นนักศึกษาแพทย์

คาสโตรกับเชและสหายเดนตายที่เหลือ ยังเดินหน้าปฏิวัติคิวบาด้วยยุทธวิธี “ชนบทล้อมเมือง” อยู่ในชนบทโดยไม่ย่อท้อ โดยเชได้เปลี่ยนสถานะตัวเองจาก “แพทย์” จับเข็มฉีดยา มาเป็น “นักรบ” ที่จับปืนต่อสู้กับศัตรูอย่างกล้าหาญ จนปลายปี 1956 (พ.ศ. 2499) เชก็ขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการ กองกำลังทหารปฏิวัติคิวบาช่วงที่สองอีกด้วย

ที่ใดมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ บวกการโกงชาติของรัฐบาลชั่ว ที่นั่นมีการต่อสู้ของประชาชนเสมอ!

ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) มีผู้เข้าร่วมในกองกำลังปฏิวัติเพียง 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกรรมกรโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงานในไร่นา และชาวนายากจน

แต่บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เลื่อมใส หรือเข้าใจอุดมการณ์สังคมนิยมแต่ประการใด เพียงแต่คนเหล่านี้ต้องการจะต่อสู้กับพวกนายทุน ที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบและยึดที่ดินทำกินของพวกเขาเท่านั้น

ฝ่ายปฏิวัติจึงสร้างพันธมิตรกับชาวนา ในเขตที่ทำสงครามจรยุทธ์โดยสัญญาว่า จะให้ผลตอบแทนทางด้านวัตถุ เช่น ช่วยซื้อผลิตผลทางการเกษตร และจัดหาเครื่องอุปโภคที่ขาดแคลนมาให้ เป็นต้น

ความไม่พอใจระบอบเผด็จการบาติสตา และสภาพสังคมที่ยากจนของชาวคิวบา ทำให้กลุ่มต่างๆ ออกมาต่อต้านรัฐบาลบาติสตาหลายครั้ง

เดือนมีนาคม ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) นักศึกษาคิวบาบุกเข้าโจมตี ทำเนียบประธานาธิบดีบาติสตา ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน กรรมกรคิวบาได้นัดหยุดงานทั่วไปครั้งใหญ่ และต้นเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ทหารเรือที่เมืองเซียนฟูเอโกส ได้ก่อการแข็งข้อต่อรัฐบาลเผด็จการบาติสตา

ช่วงปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ผู้ใช้แรงงานในคิวบาได้ประกาศหยุดงานครั้งใหญ่อีกครา และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ขบวนการปฏิวัติของฟิเดล คาสโตร ก็สามารถเปิดแนวรบที่ 2 ที่เทือกเขากริสตาล

1 มกราคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) กองกำลังปฏิวัติประชาชนคิวบาของคาสโตรกับเช ใช้ทฤษฎีปล่อยให้ “กล้วยหอม” สุกจนงอมเอง ด้วยการปิดล้อมกรุงฮาวานาเอาไว้ จนบาติสตาต้องทิ้งที่มั่นหนีไปสาธารณรัฐโดมินิกัน คาสโตรและเชจึงเข้ายึดกรุงฮาวานาได้สำเร็จ ด้วยกองกำลังทหารปฏิวัติไม่ถึง 2,000 คน

นั่นถือเป็นความสำเร็จของสองสหายนักปฏิวัติ ผู้กล้าหาญที่ร่วมเป็นร่วมตายนาม “คาสโตร” และ “เช กูวารา”

หลังการปฏิวัติคิวบา เช สหายของ คาสโตร ได้รับการสดุดีจากชาวคิวบาเยี่ยงวีรบุรุษ เชถูกประกาศให้เป็นชาวคิวบาโดยกำเนิด แถมคาสโตรและสหายร่วมรบชาวคิวบา ยังขอให้เชรับตำแหน่งสำคัญในคิวบาอีกด้วย เชเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ เป็นผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติคิวบา ในต้นปี 1960 (พ.ศ. 2503) รวมทั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 1961 (พ.ศ. 2504)
การปฏิวัติของคิวบาก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่อนายทุนอเมริกันที่ครั้งหนึ่ง เคยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในคิวบา ทำให้ความสัมพันธ์ของคิวบากับอเมริกันเสื่อมทรามอย่างหนัก

รัฐบาลอเมริกาจึงพยายามจะล้มรัฐบาลปฏิวัติคิวบาลงให้ได้ อเมริกาได้จำกัดจำนวนการนำเข้าน้ำตาลจากคิวบา ปิดล้อมเมืองท่าคิวบาเพื่อขัดขวางการขนถ่ายสินค้า ตลอดจนส่งกองกำลังอาวุธเข้ารุกรานคิวบา จนนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตของ 2 ประเทศ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504)

ในเดือนมกราคมปีต่อมา องค์การนานารัฐอเมริกัน (Organizacion de los Estados Americanos) ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกา ก็โดดเดี่ยวรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่อยู่ใกล้อเมริกาแค่เอื้อมนี้ด้วยการขับไล่คิวบาออกจากการเป็นสมาชิก

เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลคิวบาจึงต้องรีบปฏิวัติไปสู่ระบอบสังคมนิยมให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ คิวบาได้เสริมสร้างกำลังทหารและกระชับความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตมากขึ้น เพื่อขอความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับกองทัพ

ในช่วงนี้เองที่คิวบาได้รับรูปแบบการจัดระบบ การเมืองการปกครองจากสหภาพโซเวียตมาเรื่อยๆ มีการจัดองค์การทางการเมืองและองค์การทางเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียต เดือนตุลาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ.2508) ฟิเดล คาสโตร กับสหายนักปฏิวัติคิวบา ได้เปลี่ยนชื่อพรรคการเมืองของเขาเป็นชื่อ “พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา” (Partido Communista de Cuba)

คิวบา..อยู่ห่างจากประเทศอเมริกาแค่เอื้อม อะไร..ทำให้รัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เล็กๆ ภายใต้การนำของ “ฟิเดล คาสโตร” และ “เช กูวารา” ไยจึงอยู่รอดจาก “ปากพญาอินทรี” มาได้จนทุกวันนี้..?
กำลังโหลดความคิดเห็น