xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.การเงินไล่ขย้ำธปท. บี้ลดดอกเบี้ยอุ้มSME

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.การเงินการคลังฯ รุมอัดแบงก์ชาติ บี้ให้ลดดอกเบี้ยช่วยเหลือผู้ประกอบการ-เอสเอ็มอี ด้านตัวแทนแบงก์ชาติยืนยันดูภาพรวมเศรษฐกิจ โยนคลังต้องเร่งใช้ต่างประเทศลดแรงกดดันค่าบาทแข็ง บิ๊กคลังสวนใช้หนี้ล่วงหน้าได้แค่จิ๊บจ๊อย

ที่รัฐสภา วานนี้ (1 พ.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแข็งตัวของค่าเงินบาท โดย นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงอัตราดอกเบี้ย นโยบายภายในประเทศ ที่สูงกว่าต่างประเทศจนทำให้ เกิดช่องว่าง และเป็นปัจจัยให้เกิดเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น จึงอยากทราบว่า มียอดเงินไหลเข้ามาเท่าไหร่ และทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่เดือดร้อนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีหรือไม่ หรือ มีมาตรการอื่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนหรือไม่

นางจันทรวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. ชี้แจงว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มาจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอก ปัจจัยภายใน คือ ข่าวดีทั้งการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจ สอดรับกับข่าว ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น การออกมาตรการผ่อนคลายของญี่ปุ่นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สำหรับเงินที่ไหลเข้าประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของประเทศในภูมิภาคไม่ว่า จะเป็นปัญหาคาบสมุทรเกาหลี หลายประเทศขาดดุลแฝด โดยตั้งแต่ปีที่แล้วค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 4%

"มีเงินไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามา 1.5 แสนล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วเข้ามา 7.5 แสนล้านบาท การที่นักลงทุนต่างชาติ จะเข้ามาลงทุนในไทยก็ต้องมองว่า ประเทศไทยมีความเชื่อมั่น แต่อาจเป็นการตอบรับข่าวดีที่เร็วเกินไป จนทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วง เรื่องค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นเรื่อย" นางจันทวรรณกล่าวและว่า ประเด็นดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นหนึ่งในมาตรการทางเลือกที่ ธปท. จะได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาความเหมาะสมโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินจะพิจารณาประเด็นเศรษฐกิจประกอบด้วย ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ส่วนมาตรการอื่นหากเปิดเผยออกไปก่อน อาจทำให้ตลาดปรับตัว รอรับไปก่อนได้ จึงขอให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้พิจารณานำออกมาใช้

ทั้งนี้ ต่างชาติที่เข้ามาซื้อพันธบัตรมีทั้งระยะสั้น และระยะยาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็น ระยะยาวเฉลี่ย 4-5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงการเน้นลงทุนระยะยาวมากกว่าจะลงทุนแบบเข้าเร็วออกเร็ว

ส่วนนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รอง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจงว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นใน 2 ช่วงสำคัญคือ 1.ช่วงแรก 2 ม.ค.2556 ที่ลดลงจาก 30.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ลงไปเหลือ 29.7 บาทต่อเหรียญฯ เนื่องจากเรื่องหน้าผาการคลังของสหรัฐฯ ที่คลี่คลายจนทำให้เงินไหลไปยังตลาดเกิดใหม่ และ 2.ช่วงวันที่ 4 เม.ย.2556 ญี่ปุ่นเปลี่ยนตัวผู้ว่าธนาคารกลาง และเปลี่ยนนโยบายตั้งเป้าเงินเฟ้อ จากติดลบมาเป็นบวก 2% ในสองปี ทำให้ไทยกลายเป็นที่น่าสนใจของการลงทุน และมีความเสี่ยงน้อย

อย่างไรก็ตาม เงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย เข้ามาใน 4 ทางคือ 1.ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่เกินดุล 3.6 หมื่นล้านบาท 2.เงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) 2.1 หมื่นล้านบาท 3.พอร์ตฟอลิโอ ซึ่งในส่วนของหุ้น ต่างชาติ ยังขายสุทธิ แต่พันธบัตรเข้ามาสูง 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่า เข้ามาเยอะมาก และ 4.เงินกู้อื่น ทั้งการซื้อพันธบัตรอ้างอิงเงินเฟ้อ 2 หมื่นล้านบาท หรือธนาคารพาณิชย์ กู้เงินต่างประเทศ 6 หมื่นล้านบาท

"การช่วยแก้ปัญหาเงินไหลเข้า นอกจาก ธปท.แล้ว กระทรวงการคลังยังได้หาทางเร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนครบกำหนด ซึ่งรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมีหนี้อยู่ 3.8 แสนล้านบาท แต่บางส่วนเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ที่มีสัญญาไม่สามารถกู้เงินก่อนครบกำหนด ได้แต่หนี้ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ได้ชำระหนี้ ไจก้าไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท และเตรียมชำระเพิ่ม 2.2 หมื่นล้านบาท ในส่วนที่รัฐบาลกู้" นายเอกนิติกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น