xs
xsm
sm
md
lg

กรมน้ำของบ 3,800ล้าน แก้น้ำแล้งอีสานนำร่อง 19 พื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(29 เม.ย.) ที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงเปิดโครงการ"ระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่" ว่า กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ 8 บริษัทที่ปรึกษา ได้จัดทำโครงการ "ระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่"
ว่าจ้างให้คณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาความเหมาะสมของระบบเครือข่ายและระบบกระจายน้ำในพื้นที่วิกฤติ 19 พื้นที่ของภาคอีสาน ครอบคลุมพื้นที่104 ล้านไร่ใน 13 จังหวัด คือ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม วงเงิน 865 ล้านบาท
ใช้เวลาในการศึกษาเก็บข้อมูลทั้งหมด 2 ปี
เพื่อศึกษาความเหมาะสมของระบบเครือข่ายและระบบกระจายน้ำให้ทั่วถึงไร่นาและแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งการกระจายน้ำไปยังหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามโครงการฯ พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (อีไอเอ) รวมถึงประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในระดับลุ่มน้ำโขง-อีสาน ชี มูล
ข้อสรุปของแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ได้จากการจัดทำโครงการฯ คือ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานพัฒนาตามแผนประมาณ 20 ปี งบประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท โดยในระยะแรกจะงบประมาณจากรัฐบาล 3,815 ล้านบาท ในการสร้างอาคารเพื่อบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำโขงในช่วงปลายฤดูฝน เพื่อทำการกักเก็บในแหล่งน้ำที่มีอยู่หรือสร้างขึ้นใหม่มาใช้ในฤดูแล้ง โดยใช้ระบบคลองส่งน้ำและกระจายน้ำโดยระบบท่อร่วมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ และการขุดสระเก็บน้ำเพื่อใช้ในไร่นา โดยโครงการทั้งหมดนี้จะมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนและชุมชน ก่อนการลงมือทำเสมอ
" ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำ เตรียมสรุปข้อมูลการบริหารจัดการพื้นที่วิกฤติน้ำ ให้กับนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีทส. เสนอขอวงเงินเบื้องต้นจำนวน 3,814 ล้านบาท ผ่านทางคณะกรรมการบริหาจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยพื้นที่นำร่องทั้ง 19 พื้นที่จะ ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ ห้วยน้ำโสม, ห้วยหลวง, ลุ่มน้ำสงครามตอนบน, น้ำสงครามตอนบน จ.อุดรธานี ห้วยน้ำโมง ลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู พื้นทเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ จ.เลย ลำน้ำเชิญ-น้ำพรม ,ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ฝั่งซ้ายและขวา,ห้วยสายบาตร จ.ขอนแก่น น้ำสงครามตอนล่่าง จ.นครพนม น้ำสงครามตอนกลาง,ริมน้ำโขง จ.บึงกาฬ น้ำยาม และน้ำอูน จ.สกลนคร, ลำปาวฝั่งซ้ายและขวา จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการขุดสระน้ำขนาด 3,000-9,000 ลบ.ม. และการใช้ระบบท่อเพื่อเชื่อมเครือข่ายการกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรราว 72,045 ไร่ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้" นายชัยพร กล่าว
นายสงวน ปัทมธรรมกุล ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า จากการศึกษาทำให้ได้แผนหลักการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในลุ่มน้ำโขง ชี มูล ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การบิริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วยการพัฒนาตามแผนของหน่วยงานตามการพัฒนาโครงการระบบเครือข่ายน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 2.ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และก่อสร้างฝายต้นน้ำสำหรับกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทาน โดยเสนอให้มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานของประเทศ โดยการสนับสนุนให้ปลูกพืชเพื่อส่งเข้าโรงงานเอทานอล 5.ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล 6. ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ7.ยุทธศาสตร์การจัดผังการใช้ที่ดิน การปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจหลักเพื่อไม่ให้น้ำท่วม และการแก้ปัญหาดินเค็ม.
นอกจากนี้ผลการศึกษา ยังพบว่าพื้นที่สูงที่ไม่สามารถใช้ระบบการผันน้ำ แต่ต้องใช้การขุดสระเพื่อรองรับน้ำฝน ครอบคลุม 5 กลุ่มจังหวัดรวมพื้นที่ศักยภาพการเกษตร2.87 ล้านไร่ ดังนี้ นครราชสีมา ชัยภูมิ พื้นที่ศักยภาพการเกษตร 0.02 ล้านไร่ ความจุสระ 5,900 ลบ.ม. จ.เลย พื้นที่ศักยภาพการเกษตร2.13 ล้านไร่ ความจุสระน้ำ 6,900 ลบ.ม. จ.มุกดาหาร พืนที่ศักยภาพการเกษตร 0.32 ล้านไร่ ความจุสระน้ำ 9,400 ลบ.ม. หนองคาย สกลนคร พื้นที่ศักยภาพการเกษตร0.30 ล้านไร่ ความจุสระน้ำ 9,400 ลบ.ม. และนครพนม พื้นที่ศักยภาพการเกษตร 0.10 ล้านไร่ความจุสระน้ำ 9,200 ลบ.ม.
กำลังโหลดความคิดเห็น